จีน-ไทยร่วมเพิ่มความพยายามปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.10.19
กรุงเทพฯ
จีน-ไทยร่วมเพิ่มความพยายามปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมประชุม ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 16 ตุลาคม 2566
ติงซู หวาง /เอเอฟพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบร่วมหารือกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันพฤหัสบดีนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมป้องกันและเพิ่มความพยายามในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ ขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ ดิจิทัล และโทรคมนาคม การฟอกเงิน และการก่อการร้าย ทั้งไทยหวังเชิญชวนภาคธุรกิจจีนให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

นายเศรษฐา เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 โดยนอกจากการร่วมประชุมยังได้พบกับผู้บริหารภาคธุรกิจของจีน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียอีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีนยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมายาวนาน ตามประโยคที่ว่า จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน พร้อมเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านไทย-จีน ที่ใกล้ชิด การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสู่วาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2568” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย

“เห็นพ้องการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy, Circular economy and Green economy) ของไทย ทั้งนี้ ไทยยังเห็นความสำคัญของนักลงทุนจีน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับแรกของไทย” นายชัย กล่าว

นายชัย ระบุว่า จีนยืนยันความร่วมมือกับไทยในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลต่อการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด รวมทั้งทำงานร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) อาเซียน-จีน และสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคและโลก

ก่อนการพบกับนายสี นายกรัฐมนตรีไทยยังได้ปาฐกถา ในงานสัมมนา Thailand - China Investment Forum ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเชื่อมการขนส่งไทยกับจีนยกระดับการค้าระหว่างกัน ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย-จีนจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า(EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา ได้หารือกับตัวแทนบริษัทเอกชนของจีนหลายบริษัท เช่น Alibaba, Huawei, Tencent, Xiaomi รวมถึงนักธุรกิจจีนอีกกว่า 50 คน เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยและร่วมมือทางธุรกิจ

นายเศรษฐา ยังได้หารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันพุธ โดยไทยและจีนได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ ประกอบด้วย 1. การจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง 2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 3. การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากไทยไปยังจีน 4. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม สำหรับปี 2566 - 2570 5. ความร่วมมือด้านภาพยนตร์ และ 6. ความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ

นายเศรษฐาได้เปิดเผยว่า มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีจีนถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ไทยจะซื้อจากจีนอีกด้วย

“เรื่องเรือดำน้ำ มีการพูดคุยว่าจะมีการแก้ไขปัญหากันอย่างบูรณาการ ท่าน (นายหลี่ เฉียง) ก็รับปากว่าจะไปช่วยดูให้ ท่านรัฐมนตรีกลาโหม ท่านสุทิน (คลังแสง) เอง ก็พูดคุยอยู่กับกองทัพจีนด้วย” นายเศรษฐา กล่าวต่อสื่อมวลชน

นอกจากนี้ นายเศรษฐายังได้กล่าวถ้อยแถลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับจีน โดยไทยมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 และลงนามความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับรัฐบาล รวมถึงบริษัทเอกชนของจีน ประกอบด้วย Huawei, Ctrip, Meituan, Alipay, Spring Airline, Xinhua Net, iQIYI และ JekoTrip

ไทยคงวางตัวเป็นกลาง

ในการพบผู้นำจีนครั้งนี้ ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า การพยายามเดินหน้าพบปะ และเจรจากับผู้นำและนักธุรกิจต่างประเทศของ นายเศรษฐา เป็นความพยายามแสดงภาวะผู้นำและความสามารถด้านเศรษฐกิจ และไทยน่าจะวางตัวเป็นกลาง ไม่โน้มหาจีนเต็มที่

“เชื่อว่า คุณเศรษฐาพยายามแสดงภาวะผู้นำ เพราะถูกวิจารณ์ว่าเข้าสู่อำนาจเพราะการอุปโลกน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร จึงพยายามแสดงความสามารถในการดำเนินกิจกรรมด้านการเมืองระหว่างประเทศในฐานะผู้นำระดับโลก และด้วยเงื่อนไขสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลก อิทธิพลของจีนในการเมืองโลกที่เริ่มขยายมิติทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และมิติต่าง ๆ ทั้งไทยยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการวางเส้นทางสายไหมของจีน ไทยจึงไม่มีทางเลือกมากนักในนโยบายการต่างประเทศ”​ ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว

“แต่เชื่อว่า ไทยจะไม่โน้มเอียงหาจีน 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเห็นการพยายามวางตัวเป็นกลาง เพราะอเมริกาก็น่าจะเฝ้าสังเกตไทยเป็นพิเศษ เพราะเห็นได้ชัดว่า ไทยยกระดับการลงทุนและความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้ ลำดับแรกนักลงทุน และภาคธุรกิจไทยจะได้รับผลประโยชน์จากความพยายามสานสัมพันธ์กับต่างชาติ ส่วนประชาชนน่าจะต้องรออีกระยะหนึ่งจึงจะได้รับผลกระทบทางบวก เช่นการจ้างงาน” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 กองทัพเรือ (ทร) และบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. – CSOC) ได้ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้าแบบ S-26T หนึ่งลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และเดือนกันยายน 2561 ได้มีพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้าง

ต่อมา การต่อเรือดำน้ำเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ โดยข้อตกลงเดิม ทร. ต้องการเครื่องยนต์แบบ MTU396 ที่ผลิตในเยอรมนี แต่ทางบริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะสหภาพยุโรปสั่งห้ามประเทศสมาชิกค้าอาวุธกับจีน เพราะจีนเคยปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปักกิ่ง ปี 2532

เมื่อต้นปี 2566 บริษัท CSOC เสนอให้ ทร. เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ CHD620 ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิต แต่ยังไม่เคยใช้จริงในเรือดำน้ำ พร้อมกับข้อเสนอการชดเชยอื่น ๆ

หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่จีน ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐาจะเดินทางต่อไปกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียด้วย รวมไปถึงหารือกับภาคเอกชน

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง