ผู้ประกอบการไทยตั้งรับสินค้าจีนทะลัก
2024.06.07
กรุงเทพฯ
พรเทพ เดโชเศรษฐ์สิริ เป็นผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายคุณภาพดี ที่นำเสนอความสบายในการสวมใส่ในราคาที่จับต้องได้ โดยใช้ผ้าคอตตอนเกรดดีผลิตในประเทศไทยทุกขั้นตอน
แต่ปัจจุบัน พรเทพกลับพบการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันจากผู้ผลิตสินค้าชาวจีน ซึ่งผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายทั้งเสื้อเชิ้ต กางเกงชั้นในและผลิตภัณฑ์อื่นในคุณภาพที่ด้อยกว่า และยังขายในราคาที่ถูกกว่าถึงสิบเท่าทางช่องทางออนไลน์
“เขาขายตัดราคา ของเราขาย 100-200 บาท ของเขา 10-20 บาทก็มี เช่น กางเกงใน เสื้อยืด ลูกค้าเห็นราคาถูกทางออนไลน์ก็ซื้อ บางทีก็ไม่ตรงปก หรือซักไปไม่กี่ครั้งก็ใส่ไม่ได้” พรเทพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เขามีทั้งร้านค้าออนไลน์และร้านค้าของเขาเองในกรุงเทพฯ
พรเทพกล่าวว่า เขาไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนได้ จึงต้องหาทางปรับตัวด้วยการลงทุนด้านการสร้างแบรนด์ และสร้างเอกลักษณ์ด้านคุณภาพและการออกแบบให้กับสินค้าของเขา
พรเทพจ้างโรงงานขนาดย่อมที่มีพนักงานราว 12 คน เพื่อผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ของเขาโดยเฉพาะ แต่ความสามารถในการผลิตก็ยังมีจำกัด เนื่องจากสามารถผลิตได้ราว 500-1,000 ตัว ต่อหนึ่งดีไซน์ พรเทพเองก็เดินทางไปประเทศจีนบ้าง เพื่อเลือกเสื้อผ้ามาขายให้สินค้ามีความหลากหลายขึ้น
ตั้งแต่เสื้อผ้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือผักสด คลื่นสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทย ส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์ ถึงสามหมื่นหกพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยมา โดยในปี 2564 มูลค่าขาดดุลอยู่ที่สองหมื่นเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหมวดหมู่สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทยมากที่สุด ตามด้วยผักผลไม้สดและปรุงแต่ง และยังมีเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง และของใช้ในครัวและโต๊ะอาหารเป็นต้น ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเข้ามาของสินค้าจากจีนดังกล่าว
อุตสาหกรรมอื่นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกัน ในช่วงสิบเดือนแรกของปี 2566 มีรายงานว่าผู้ผลิตเหล็กของไทยปิดกิจการแล้วกว่า 75 ราย โดยไม่สามารถต้านทานการทะลักเข้ามาของเหล็กจีนได้ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนกันยายน 2566 ไทยเปิดการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กจากจีนรอบใหม่ หลังจากพบว่าผู้ผลิตจากจีนบางรายนำเหล็กแผ่นรีดไปเจือธาตุอัลลอยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในการส่งออกมายังไทย
สงครามราคา
รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีการส่งสัญญาณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าอาจจะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้านำเข้ามูลค่าตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จากเดิมที่เก็บเพียงสินค้านำเข้าที่มูลค่าเกิน 1,500 บาทเท่านั้น โดยเกิดขึ้นหลังจากการห้ามการนำเข้าสินค้ากางเกงช้างจากจีน หลังพบว่ามีการนำเข้ามาขายในราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นจำนวนมาก
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข่าวโด่งดังเนื่องจากมีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิด หรือลอกเลียนสินค้าของไทยที่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าผู้ผลิตกางเกงช้างของไทยหลายรายจะยืนยันว่าคุณภาพกางเกงช้างของจีนไม่สามารถสู้ของที่ผลิตในประเทศได้ก็ตาม
ณฐวัจน์ พุทธศิริวัฒน์ ผู้ค้าเสื้อผ้า กล่าวว่า สินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทย ยังหมายถึง การเข้ามาตั้งร้านค้าหรือธุรกิจในไทยของผู้ประกอบการชาวจีนสร้างผลกระทบให้ผู้ประกอบการชาวไทยอย่างมาก
ณฐวัจน์ นำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมาขายที่ร้านของตนเองในย่านประตูน้ำ แต่ก็มีผู้ประกอบการชาวจีนมาเปิดร้านในบริเวณเดียวกัน โดยมีความได้เปรียบทางด้านธุรกิจมากกว่า
“ผมต้องบินไปดูของที่จีน หรือติดต่อคาร์โกจีนเพื่อนำเข้าสินค้า แต่ชาวจีนที่เปิดร้าน เขาติดต่อโรงงานที่ประเทศจีนได้โดยตรงเลย เวลาเขาเห็นสินค้าตัวไหนขายดี เขาติดต่อไปทางจีนได้เลย”
ผู้ประกอบการรายอื่นเห็นว่า เทคโนโลยีในการผลิตของไทยไม่สามารถสู้ของประเทศจีนได้ สมภพ สื่อนพคุณ ผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออก กล่าวว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบสินค้าไทย
“สินค้าจีน ราคาสูงก็มี คุณภาพดีก็มี ราคาไม่ใช่ประเด็นของการถล่มสินค้าในประเทศเรา แต่สิ่งที่เป็นประเด็นคือเครื่องมือทางการขนส่งและการผลิตที่คุมต้นทุนได้ เครื่องมือทางการตลาดเข้าถึงลูกค้าได้ และทุกวันนี้ออนไลน์ซื้อง่ายค่าขนส่งถูกอีกด้วย”
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การทะลักของสินค้าจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
“เศรษฐกิจของจีนยังไม่สู้ดีนัก กำลังซื้อผู้บริโภคก็ยังไม่มาก จึงเหลือสินค้ามากที่ต้องส่งออกไปทั่วโลกเพื่อกระจายสินค้าให้หมด เริ่มส่งผลกระทบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว”
ประเทศไทยเองสามารถตั้งรับด้วยการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการจากจีน “มาลงทุน หรือมาตั้งฐานผลิตในไทยเลยดีกว่ามั้ย มาใช้ facility ในประเทศ ใช้แรงงานไทย สร้างงานทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย” วิศิษฐ์กล่าว
จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่รายหนึ่งของไทย และยังเป็นประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรายใหญ่ที่สุดของปี 2566 นำหน้าสิงคโปร์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
มูลค่าโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีที่แล้วมีมูลค่าสูงสุดในรอบห้าปีที่ 848,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 43% โดยบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และค่ายรถยนต์จากจีนเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการลงทุน ตามข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยรายงานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ภาคส่งออกไทยกำลังอ่อนแรง เนื่องมาจากไทยไม่สามารถผลิตสินค้าที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและตลาดได้
นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า
ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าฝ่าย global investment strategy บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี หรือ technology shift ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจาก “สภาพแวดล้อมเราไม่เอื้อให้มีผู้ประกอบการแบบนั้น การแข่งขันต้องเพียงพอ ภาครัฐก็ต้องสนับสนุนให้เท่ากันหรือมากกว่าประเทศคู่แข่ง และเราก็ไม่ได้จริงจังในการปรับทักษะของแรงงานในตลาดด้วย”