ไทยส่งข้าว 1 พันตัน ไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ครั้งแรก

เตรียมส่งผัก-ผลไม้ นักวิชาการชี้ไทยควรเร่งสร้างรถไฟเชื่อมเส้นทาง
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2022.01.20
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ไทยส่งข้าว 1 พันตัน ไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ครั้งแรก เกษตรกรเกี่ยวข้าว ที่บ้านแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562
เอเอฟพี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ไทยประสบความสำเร็จในการส่งข้าวสาร 1 พันตัน ผ่านรถไฟความเร็วสูงของลาวไปยังประเทศจีนเป็นครั้งแรกแล้ว โดยในอนาคตมีแผนที่จะส่งผักและผลไม้เพิ่มเติม ด้านนักวิชาการชี้ว่า ไทยควรเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูงของตัวเอง เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟลาว-จีน หากต้องการได้รับประโยชน์สูงสุด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมการสำหรับการส่งออกข้าวสารครั้งนี้ถึง 2 ปี โดยเชื่อว่า รถไฟความเร็วสูงจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำการค้าให้กับไทย เพราะการขนส่งผ่านรถไฟประหยัดกว่าการขนส่งโดยเรือผ่านแม่น้ำโขง 2-3 วัน

“ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวสาร จำนวน 20 ตู้ ปริมาณ 1,000 ตัน โดยใช้เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ไปถึงมหานครฉงชิ่ง ในภาคตะวันตกของจีน สำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการขนส่งระบบราง” นายอลงกรณ์ ระบุ

นายอลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า การขนส่งข้าวสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ยุทธศาสตร์อีสานเกตเวย์ (ESAN Gateway) เพื่อขนส่งสินค้าจากไทยไปยังฉงชิ่ง ซึ่งเชื่อว่าเส้นทางนี้จะช่วยเปิดประตูเศรษฐกิจของไทยกับจีนตะวันตก โดยไทยได้นำข้าวสารส่งผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และข้ามไปยังลาวผ่านด่านชายแดนที่ จ.หนองคาย

“การส่งออกสินค้าไทยไปจีนโดยมีเป้าหมายสู่ตลาดต่อไป คือ ตลาดเอเซียกลาง เอเซียตะวันออก ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปและเพิ่มสินค้าเกษตรที่จะขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ คือ ยางพารา ผลไม้ กล้วยไม้ไทย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สินค้าประมงและปศุสัตว์ รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอื่น ๆ”​ นายอลงกรณ์ เปิดเผย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 สปป.ลาว ได้ทำการเปิดโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันชาติลาว ปีที่ 46 โดยเส้นทางนี้เริ่มต้นที่ นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว เชื่อมไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมระยะทาง 922.5 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทาง 8 ชั่วโมง โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ได้ทำการวิ่งจริงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เบื้องต้นใช้สำหรับการขนส่งสินค้าเท่านั้น ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับไทย​​โครงการรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-หนองคาย” (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของลาว ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยไทยเป็นผู้จ่ายงบประมาณการก่อสร้างมูลค่า 179,412 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน

ตามแผนของโครงการระยะที่ 1 หากแล้วเสร็จโครงการนี้จะให้บริการ 6 สถานี คือ บางซื่อ, ดอนเมือง, อยุธยา, ลพบุรี, ปากช่อง และนครราชสีมา จะมีรถไฟให้บริการ 6 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน หรือ 5,300 คนต่อวัน วิ่งโดยใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 1 ชั่วโมง 17 นาที

สำหรับการก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา 286 กิโลเมตร มีสัญญาก่อสร้าง 14 สัญญา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 3 สัญญา และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา โดยมีแผนที่จะแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 2569 ขณะที่ ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ

ต่อการส่งสินค้าไปจีนผ่านรถไฟลาวของไทย น.ส. เจียง ยู่ ลี่ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน ชี้ว่า รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน จะช่วยเพิ่มคู่ค้าในอาเซียนให้กับจีน หากไทยไม่เร่งเชื่อมต่อเส้นทางดังกล่าว อาจเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

“รถไฟลาวได้ทำลายอุปสรรคด้านการขนส่ง เปลี่ยนภูมิทัศน์การท่องเที่ยวและการค้าไป ณ ตอนนี้ไทยมีสินค้าที่พร้อมส่งออก แต่หากวันหนึ่งรถไฟถูกเชื่อมต่อไปยังกัมพูชา และเมียนมา ไทยอาจประสบปัญหาการส่งออกได้ เคยมีข้อเสนอของนักวิชาการว่า ไทยควรเร่งทำรถไฟจากภาคเหนือเชื่อมต่อกับสิบสองปันนา ในยูนนาน และจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมกับลาว ซึ่งหากทำได้ ไทยจะยังสามารถมีผลประโยชน์ทั้งการท่องเที่ยวและการค้า ไม่ตกขบวนของการพัฒนาในทศวรรษนี้” น.ส. เจียง กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศคู่ค้าของไทยที่มูลค่าการค้าขายระหว่างกันสูงที่สุด คือ จีน โดยปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 2.98 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกจากไทย 1.06 ล้านล้านบาท และนำเข้าจากจีน 1.92 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยขาดดุลการค้า 8.54 แสนล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด คือ ผลไม้, เม็ดพลาสติก, ยาง, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, มันสำปะหลัง และอื่น ๆ สำหรับข้าวนั้น เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ไทยส่งออกไปยังจีนประมาณ 4.29 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 7,650 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง