กองทัพอากาศจีน-ไทย เตรียมร่วมซ้อมรบ 10 วัน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2022.08.12
กองทัพอากาศจีน-ไทย เตรียมร่วมซ้อมรบ 10 วัน เครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35B ของสหรัฐอเมริกา แสดงที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
แคโรไลน์ เชีย/รอยเตอร์

กระทรวงกลาโหมของจีนประกาศว่า กองทัพอากาศจีนและไทย จะเริ่มการร่วมซ้อมรบ Falcon Strike 2022 ในวันจันทร์นี้ หลังจากถูกระงับมาเป็นเวลาสองปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยจะจัดการการซ้อมรบทางอากาศครั้งนี้ที่ฐานทัพอากาศในจังหวัดอุดรธานี 

แหล่งข่าวของเรดิโอฟรีเอเชียระบุว่า การฝึกซ้อมจะเริ่มในวันที่ 14 สิงหาคม และจะสิ้นสุดจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม เช่น การสนับสนุนทางอากาศ การโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน และการเคลื่อนกำลังพลระดับเล็กและใหญ่ เป็นต้น

กองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน (People's Liberation Army Air Force - PLAAF) จะจัดส่งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ (AEW) ส่วนกองทัพอากาศไทยจะส่งเครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศกระทรวงกลาโหมจีนระบุในแถลง

การซ้อมรบครั้งใหม่นี้ ถือเป็นความพยายามในการเสริมสร้างความไว้วางใจ และมิตรภาพระหว่างกองทัพอากาศทั้งสองประเทศกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้การร่วมซ้อมรบยังเป็นไปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและจีน หลังจากที่จีนพยายามสร้างอำนาจและขยายอิทธิพลในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กองทัพจีนเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบทางเรือทางอากาศเป็นเวลา 1 สัปดาห์รอบไต้หวัน เพื่อตอบโต้การเยือนเกาะไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี

"กองทัพไทยให้ความสำคัญกับกองทัพจีนที่สำแดงกำลังทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไทยจึงมิอาจปฏิเสธบทบาททางทหารของจีนในภูมิภาคได้ การฝึกร่วมจะทำให้ไทยเข้าใจและคุ้นชินกับ command and control system และ military doctrine ของ PLA (ระบบคำสั่งและการควบคุมและกฎเกณฑ์ปฏิบัติทางการทหารของกองทัพอากาศจีน) มากขึ้น" ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การเติบโตของการเชื่อมโยงทางการทหาร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แหล่งข่าวของกองทัพอากาศไทยไม่ระบุชื่ออ้างว่าไทยจะไม่ส่ง F-16 สำหรับการซ้อมรบ Falcon Strike 2022 แต่จะใช้เครื่องบินรบ Saab JAS-39 Gripen ที่ผลิตในสวีเดน และเครื่องบินโจมตีเบา Alpha Jet ที่ผลิตในเยอรมนีแทน

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงยังไม่ชัดเจนว่า เครื่องบินประเภทใดที่จีนจะใช้สำหรับการฝึกซ้อมครั้งนี้

ด้าน นายแอนเดรียส รุพเพรชต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกองทัพอากาศจีน เปิดเผยกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เครื่องบินรบจีนเหล่านี้ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมร่วมของกองทัพอากาศจีน-ไทย เมื่อไม่นานนี้ 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไทยได้มุ่งความสนใจไปทางประเทศจีนมากขึ้นนายแอนเดรียส กล่าว

220812-th-ch-us-jet-military-hardware-inside.jpeg
เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศจีนและกองทัพอากาศไทยบินในรูปแบบยุทธวิธีระหว่างการฝึกซ้อมร่วม Falcon Strike 2562 (กระทรวงกลาโหมของจีน)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกองทัพไทยมีอำนาจเพิ่มขึ้นภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 รัฐบาลไทยจึงจัดซื้อรถถัง รถหุ้มเกราะ และทำสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T มูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทจากประเทศจีน ซึ่งกลับประสบปัญหาเรื่องการจัดหาเครื่องยนต์มาจากเยอรมนีมาติดตั้งในเรื่อดำน้ำลำนี้ 

ด้านสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ในสวีเดน ระบุว่า การส่งออกอาวุธของจีนไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 เท่า ระหว่างปี 2557-2561 เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ได้ประสบกับความปั่นป่วนเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลปักกิ่ง แม้ว่าไทยจะเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียก็ตาม

ที่ผ่านมากองทัพอากาศไทยให้ความสนใจในการซื้อเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35 เพื่อทดแทนฝูงบิน F-16A/B Fighting Falcons ที่เก่าแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลวอชิงตันยังไม่แสดงท่าทีเต็มใจที่จะพิจารณาการจัดซื้อ เนื่องจากเกรงว่าเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนของเครื่องบินขับไล่อาจถูกแทรกแซงโดยจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการทหารที่ใหญ่ที่สุด

อย่างไรก็ตาม การซ้อมรบ Falcon Strike ที่จะมีขึ้น ก็จะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ มากนัก ถ้า การซ้อมรบครั้งนี้ ไม่มีเป้าหมายและโปรแกรมในการจำลองสถานการณ์การรบที่คุกคามหรือโจมตีผลประโยชน์สหรัฐฯ หรือการฝึกให้ไทยกับจีนได้คุ้นชินในยุทโธปกรณ์ ตลอดจนไม่ใช้ยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ ในการร่วมฝึก” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

“มหาอำนาจจะค่อย ๆ ถ่วงดุลอำนาจกันเอง และหมุนผลัดกันเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งจีนและสหรัฐฯ จะผลัดกันขยายบทบาทกับกองทัพไทยโดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผูกขาด มีอิทธิพลต่อนโยบายป้องกันประเทศของไทยมากไป”

การฝึกซ้อมร่วมของ Falcon Strike จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2558 แต่ถูกระงับในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก  โดยงานในปีนี้เป็นการร่วมซ้อมรบครั้งที่ 5 ระหว่างกองทัพอากาศจีนและไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง