คณะกรรมการแม่น้ำโขง : ระดับน้ำโขงต่ำจนน่ากังวล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.12
กรุงเทพฯ
คณะกรรมการแม่น้ำโขง : ระดับน้ำโขงต่ำจนน่ากังวล ชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจังหวัดหนองคาย วันที่ 10 มกราคม 2563
รอยเตอร์

ในวันศุกร์นี้ คณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ชี้ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำจนน่ากังวล รวมถึงเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม ซึ่งอาจกระทบต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำได้ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่น้อยและการใช้งานเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน ด้านชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประสานงานรัฐบาลจีน เพื่อให้ทำการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง เพื่อคืนน้ำให้กับแม่น้ำโขง

ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวในแถลงการณ์ของเอ็มอาร์ซี ระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่ท้ายเขื่อนจิ่งหง ในประเทศจีนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามลดระดับลงจนน่ากังวล เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง การเปลี่ยนแปลงของน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และการกักน้ำเอาไว้ของเขื่อนจิ่งหง ในประเทศจีน

“ระดับน้ำในแม่น้ำโขงนับตั้งแต่ท้ายเขื่อนจิ่งหง จนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ของลาวขึ้นและลงอย่างฉับพลัน ถือเป็นความท้าทายสำหรับชาวบ้านริมฝั่งโขงและประเทศสมาชิก ที่ต้องเริ่มเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้” ดร.วินัย กล่าว

จากการสำรวจปริมาณน้ำฝนโดยเอ็มอาร์ซีแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 25 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลของเอ็มอาร์ซีพบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีตัวแปรคือ ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนจิ่งหง โดยน้ำที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อวันพฤหัสบดีมีปริมาณ 775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./ว) ซึ่งต่ำกว่าครึ่งของปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 1,400 ลบ.ม./ว

จากการเก็บสถิติพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1-7 มกราคม 2564 ระดับน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนจิ่งหงอยู่ในระดับคงที่ที่ 785 ลบ.ม./ว แต่เพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 1,400 ลบ.ม./ว ในวันที่ 15 มกราคม 2564 ทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้น 1.07 เมตร จากนั้น ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาลดลงอีกครั้งจนอยู่ในระดับ 740 ลบ.ม./ว ระหว่างวันที่ 15 - 23 มกราคม 2564 ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 990 ลบ.ม./ว ในวันที่ 29 มกราคม 2564 จากนั้นลดระดับเหลือ 800 ลบ.ม./ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้แจ้งเตือนมายังประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามว่า จีนจะลดระดับการปล่อยน้ำของเขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลยูนานเพื่อทดสอบระบบของเขื่อน โดยจากเดิมที่ระบายน้ำวันละ 1,900 ลบ.ม./ว จะลดการระบายเหลือเพียงวันละ 1,000 ลบ.ม./ว ระหว่างวันที่ 5-24 มกราคม 2564 แต่ไม่ได้เปิดเผยว่า หลังการทดสอบระบบจะปล่อยน้ำในปริมาณเท่าใด

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 จีนได้ลงนามร่วมกับประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซี ในหนังสือความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี โดยจีนจะแจ้งข้อมูลการปล่อยน้ำ และระดับน้ำในแม่น้ำโขงเขตพื้นที่ประเทศจีนมาให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบในทุก 2 วัน ตลอดทั้งปี จากแต่เดิมที่จีนจะส่งข้อมูลเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น

“ถ้าระดับน้ำโขงยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะมีผลกระทบกับการคมนาคมทางเรือ การอพยพของปลา การทำเกษตรริมโขง รวมถึงการหาสาหร่าย หรือไกในแม่น้ำโขง ดังนั้น เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีน และประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแลกเปลี่ยนข้อมูลแผนการปล่อยน้ำในแต่ละประเทศ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในแม่น้ำโขง” ดร.วินัย กล่าว

เอ็มอาร์ซี ยังเปิดเผยว่า ที่สถานีวัดระดับน้ำในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งห่างจากเขื่อนจิ่งหง 300 กิโลเมตร พบว่าแม่น้ำโขงมีระดับต่ำมาที่ 1 เมตร ระหว่างวันที่ 2-4 มกราคม 2564 จากนั้นระดับได้ปรับตัวขึ้นลงประมาณ 24-29 เซนติเมตร ขณะเดียวกัน ที่สถานีวัดระดับน้ำในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ระดับน้ำขึ้นลงประมาณ 32-50 เซนติเมตร ส่วนแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม, มุกดาหาร จนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน, แขวงสะหวันนะเขต และเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ในประเทศลาว ระดับน้ำปรับขึ้นและลง 4-8 เซนติเมตร

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส.อ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขื่อนแม่น้ำโขงสร้างผลกระทบให้กับประชาชนลุ่มแม่น้ำจริง และเป็นสิ่งที่ประชาชนกังวลมาตั้งแต่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนจำนวนมากมายเช่นนี้

“ทุกวันนี้ แม่น้ำโขงไม่มีตะกอน น้ำขึ้นลงรายวัน สิ่งที่เราเคยกังวลตอนก่อนสร้างเขื่อน ตอนนี้ เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ เรียกร้องไม่ให้มีการสร้างเขื่อนอีก เพราะเขื่อนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงให้แย่กว่าเดิม ในสถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วในปัจจุบัน” น.ส.อ้อมบุญ กล่าว

ขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ชี้ว่ารัฐบาลไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“รัฐบาลรับรู้แล้วว่าแม่น้ำโขงมันมีปัญหา มันต้องมีการแก้ไข ไม่ใช่แค่รัฐไปรับตารางการปล่อยน้ำจากจีน จีนเขาบอกแล้วว่าจะปล่อยน้ำมาเท่านั้น ๆ เท่านี้ อย่างนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้ เขาปล่อยหรือไม่ปล่อยก็กระทบเราอยู่ดี เพราะฉะนั้น ต้องยกระดับในการพูดคุย เพื่อมีการจัดการเรื่องของการปล่อยน้ำจากเขื่อนว่าจะต้องปล่อยอย่างไร เท่าไหร่ เพื่อให้มันสอดรับกับฤดูกาล” นายนิวัฒน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นอกจากปัญหาระดับน้ำโขงที่ต่ำกว่าปกติแล้ว เอ็มอาร์ซี ระบุว่า มีความกังวลต่อสภาพน้ำในแม่น้ำโขงที่นิ่งกว่าปกติ ประกอบกับการตกตะกอนในแม่น้ำโขง ที่ทำให้สีของสาหร่ายในก้นแม่น้ำโขงสะท้อนสู่ผิวน้ำเป็นสีน้ำเงินอมเขียว ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเรียกว่า “ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม” โดยปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2562

“ปัจจุบัน นี้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 อีกครั้ง โดยเกิดขึ้นกระจายในแม่น้ำโขงบริเวณที่กระแสน้ำนิ่ง”​ดร.ซอ นาม ผู้อำนวยการส่วนบริหารทรัพยากร เอ็มอาร์ซี กล่าว

ดร.ซอ เปิดเผยจากการศึกษาว่า ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีครามเกิดขึ้นจากปริมาณสารอาหารสำหรับสัตว์น้ำ และปลาขนาดเล็กที่ลดลง จนอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ รวมถึงทำให้ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงน้อยลงด้วย ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ ดร.ซอ เชื่อว่า ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม จะยังคงอยู่จนกว่าน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลแรงขึ้น หรือเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมีการปล่อยน้ำในปริมาณปกติจากเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งจะช่วยนำพาตะกอนกลับมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง และทำให้แม่น้ำโขงกลับเป็นสีน้ำตาลขุ่นตามปกติ

แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด มีประชากรที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน ปัจจุบัน มีเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน 10 แห่ง รวมกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ในลาว 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง