นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางถึงจีนเมื่อวันจันทร์เพื่อเยือนจีนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยนายเศรษฐาจะมุ่งเน้นไปที่การกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน และเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF)
นายเศรษฐาจะเข้าพบ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และร่วมหารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายจ้าว เล่อจี ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนจีน 4 วัน กระทรวงการต่างประเทศไทยระบุในแถลงการณ์
“นายเศรษฐาจะมีการหารือกับผู้บริหารธุรกิจชาวจีนเพื่อหาโอกาสร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีน” กระทรวงฯ กล่าวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม โดยคณะผู้แทนธุรกิจจากไทยจะเดินทางไปประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี
นายเศรษฐาเป็นหนึ่งในเหล่าผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566
นายฮุน มาเน็ตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และโจโก วิโดโด หรือที่รู้จักในชื่อโจโกวี ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็มีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในวันจันทร์เช่นกัน
การประชุมดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีของโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่สีจิ้นผิงเปิดตัวในปี 2556 เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกและห่วงโซ่อุปทานที่จะเชื่อมโยงจีนกับส่วนอื่นๆ ของโลกบนเส้นทางที่ทันสมัยและหลากหลายนานัปการ
การประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้นในปีที่สี่ หลังจากการประชุมสุดยอดสายแถบและเส้นทางที่มีครั้งหลังสุดในปี 2562 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการกล่าวถึงผลความสำเร็จของโครงการของจีนต่อประชาคมระหว่างประเทศหลังจากดำเนินการมานานร่วมทศวรรษ ผู้นำและตัวแทนระดับโลกจาก 90 ประเทศจะเข้าร่วมงานในปีนี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน
ส่วนการเยือนของนายโจโกวี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีจากอินโดนีเซีย โดยจะมีการเจรจาทวิภาคีกับ นายสี ประธานาธิบดี ในวันอังคาร และพบกับนายหลี่ เฉียง และ จ้าว เล่อจี ประธานรัฐสภา ระหว่างการเยือนของเขา
“ประเด็นสำคัญที่จะร่วมหารือกับจีน ได้แก่ การเพิ่มการส่งออกของอินโดนีเซีย การเพิ่มการลงทุน และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” แถลงการณ์จากทำเนียบประธานาธิบดีฯ ระบุ
เปิดโอกาสร่วมมือทางธุรกิจ
นายเศรษฐา มหาเศรษฐีอดีตยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ สัญญาว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและ "เปิดประเทศไทยเพื่อการลงทุนธุรกิจ" ท่ามกลางความกังวลว่าประเทศจะตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ในเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง นายเศรษฐาได้มีการพูดคุยกับ นายอีลอน มัสค์ จากเทสลาและได้พบกับผู้บริหารจากกูเกิล,อัลฟาเบทและโกลแมน แซกส์ เพื่อพยายามสร้างความมั่นใจในสภาพทางธุรกิจของประเทศไทยแก่บริษัทเอกชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารและกลุ่มสนับสนุนทหาร ทั้งประเทศไทยได้ผ่านเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นเวลาหลายปี
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐาได้เดินทางเยือนฮ่องกง บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อหารือทวิภาคีในการพยายามเพิ่มการลงทุนและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
แต่การเยือนจีนในครั้งนี้ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังที่ ดร. เจียง ยู่ ลี่ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์และสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน กล่าว
“เนื่องจากจีนเป็นพันธมิตรทางการค้าอันดับหนึ่งของไทยและเป็นนักลงทุนที่สำคัญ ดังนั้นการเยือนครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่พิธีการ แต่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก” ดร. เจียง ยู่ ลี่ บอกกับเบนาร์นิวส์
“คาดว่าจะมีการพูดคุยกันในเรื่องความร่วมมือด้านใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี การเติบโตอย่างยั่งยืน และการรักษาสิ่งแวดล้อม”
“จีนเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนอยู่ที่มากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังคิดเป็น 18.1% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2565 และคิดเป็น 14.4% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยในปี 2565” เจียง ยู่ กล่าว
ในกรุงปักกิ่ง “ไทยอาจพิจารณาขอการลงทุนจากจีนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น การคมนาคม โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” เจียง ยู่ กล่าวต่อ
ข้อมูลจากทางการไทยเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวจีน นับเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนที่มาเยือนประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2562
จีนเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2565 โดยมีมูลค่าการลงทุน 77.3 พันล้านบาท (2.1 พันล้านดอลลาร์) ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ และปิซาโร โกซาลี อิดรัส ในจาการ์ตา ร่วมรายงาน