ลำไยไทยโกไชน่า ความสำเร็จบนความเสี่ยงที่ต้องแลก

วิทยากร บุญเรือง
2024.09.11
กรุงเทพฯ
ลำไยไทยโกไชน่า ความสำเร็จบนความเสี่ยงที่ต้องแลก บรรยากาศในโรงงานอบลำไยของนิวัฒน์ กันทะวงค์ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 17 สิงหาคม 2567
วิทยากร บุญเรือง/เบนาร์นิวส์

แม้ในปี 2566 ไทยจะครองแชมป์ในฐานะผู้ส่งลำไยไปขายยังประเทศจีนมากที่สุด 3.27 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 431.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 95 % ของลำไยที่จีนนำเข้าทั้งหมด แต่อีกด้านหนึ่งตำแหน่งแชมป์นี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเท่ากับว่าตลาดลำไยไทยถูกผูกขาดโดยจีน จีนกลายเป็นผู้ควบคุมราคา และอำนาจต่อรองทั้งหมดในมือ

ทุกปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นิวัฒน์ กันทะวงค์ ผู้ประกอบการส่งออกลำไยอบแห้ง อายุ 42 ปี ใน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จะต้องให้การต้อนรับพ่อค้าชาวจีน ที่มาเยือนโรงงานอบลำไยของเขา

“เหมือนเขามาควบคุมการผลิตเอง คอยดูเราทำโน่นทำนี่ ปักหลักอยู่เป็นเดือน ๆ เลย” นายนิวัฒน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นิวัฒน์ ระบุว่าก่อนหน้านี้เขาทำมาหลายอย่างทั้งปลูกข้าวโพด มีสวนลำไยของตนเอง เคยเก็บขายให้โรงอบลำไยอื่น ๆ แต่เมื่อพ่อค้าชาวจีนเริ่มเข้ามากว้านซื้อลำไยในพื้นที่ เขาจึงเริ่มหันมาอบลำไยเองอย่างจริงจัง ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานและเตาอบเอง โดยพ่อค้าชาวจีนจะมารับซื้อถึงที่โรงงานของเขา มาดูกระบวนการผลิตเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การรับซื้อลำไยจนถึงกระบวนการลำไยอบแห้งออกมาจากเตาอบ

“สภาพตลาดลำไยตอนนี้ พ่อค้าจีนเขาคุมไว้หมดทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้ง ช่วงที่จีนเขาต้องการนำเข้ามาก ราคาก็ดี ทุกคนก็โอเค แต่ช่วงไหนที่ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการเขา โรงงานอบลำไยหรือชาวสวนลำไยก็ลำบาก อำนาจต่อรองอยู่ในมือพ่อค้าจีนหมด” นิวัฒน์ กล่าว

th-longan-02.jpg
นิวัฒน์ กันทะวงค์ ผู้ประกอบการส่งออกลำไยอบแห้ง กำลังเตรียมเอกสารให้กับผู้รับซื้อชาวจีน ที่ออฟฟิศโรงงานอบลำไย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ วันที่ 17 สิงหาคม 2567 (วิทยากร บุญเรือง/เบนาร์นิวส์)

ข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ระบุว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) จีนมีแนวโน้มการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนที่มีมากขึ้นในจีน ข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) การนำเข้าผลไม้ของจีนมีมูลค่ากว่า 16.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแหล่งนำเข้าผลไม้ส่วนใหญ่เป็นประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ‘ลำไย’ เป็นผลไม้อีกชนิดที่คนจีนนิยมบริโภค ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ระบุว่าหลายปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าลำไยจากไทยเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด

ข้อมูลจาก ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่าในปี 2566 จีนมีการนำเข้าลำไยจาก 3 ประเทศเท่านั้น คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีปริมาณนำเข้ารวม 344,516 ตัน นำเข้าจากไทยมากที่สุด 327,296 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 95% ของการนำเข้าลำไยสดทั้งหมด

ด้านกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลในปี 2566 ว่า ไทยส่งออกลำไยไปทั่วโลกมูลค่ารวม 16,492 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 12,879 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78.09%

สำหรับปริมาณผลผลิตลำไยทั้งประเทศในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 1,438,137 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 2% แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่และลำพูน คาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่ 994,953 ตัน คิดเป็น 69% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด

พ่อค้าจีนคุมตลาดลำไย

พ่อค้าคนกลางมีบทบาทสำคัญในตลาดลำไยและผลไม้อื่น ๆ ของไทย โดยดำเนินธุรกิจผ่านโรงคัดบรรจุผลไม้หรือ 'ล้ง' สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ระบุว่าล้งบางแห่งเป็นนอมินีของพ่อค้าชาวจีน ซึ่งอาจแต่งงานกับคนไทยหรือใช้คนไทยเป็นหน้าฉาก แต่เงินทุนเป็นของพ่อค้าจีน ล้งเหล่านี้สร้างปัญหา โดยเฉพาะการกดราคาผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

ชวัลวิทย์ ใจกาศ อายุ 27 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ปลูกลำไยใน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน (Banhong District, Lamphun) ระบุว่าในตลาดการรับซื้อลำไย แม้ว่าเราจะมีล้งของคนไทยเป็นเจ้าของ ส่วนมากแล้วก็เป็นนอมินีมาจากทุนจีนทั้งนั้น หากจะเป็นในส่วนของล้งไทยแท้ ๆ สุดท้ายแล้วปลายทางของลำไยเองก็จะต้องไปอยู่ในตลาดจีน

th-longan-03.jpg
ชวัลวิทย์ ใจกาศ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปลูกลำไย เดินสำรวจสวนลำไยของตนเอง ที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน วันที่ 24 สิงหาคม 2567 (วิทยากร บุญเรือง/เบนาร์นิวส์)

"ราคามันก็ถูกกำหนดไว้เหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นล้งไทยหรือล้งจีน เราหนีเขาไม่พ้นจริง ๆ ยิ่งรัฐบาลอ้าแขนรับทุนจากจีนอีก" ชวัลวิทย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การที่ล้งจีนกำหนดราคาลำไยสร้างความไม่แน่นอนให้เกษตรกร พวกเขาไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคาจะคุ้มกับต้นทุนการผลิตหรือไม่ หากราคาตกต่ำในปีที่ลงทุนไปแล้ว อาจเกิดปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้ เนื่องจากลำไยใช้เวลาปลูกนานและเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้ง การลงทุนผิดพลาดครั้งเดียวจึงอาจส่งผลกระทบยาวนาน

"ยกตัวอย่างที่ผมเคยเจอมาก็คือ ในปีที่ลำไยผลผลิตเยอะ ล้งก็จะกดราคารับซื้อต่ำลง หรือหนักสุดก็ปิดรับซื้อไปเลย หากปีไหนที่ผลผลิตน้อย อย่างปี 2567 นี้ ราคาลำไยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากผลผลิตโดยรวมปริมาณน้อยลง ล้งจึงต้องกำหนดราคารับซื้อสูงขึ้นได้ เพื่อหาสินค้าเข้าล้ง แล้วฝ่ายการเมืองก็จะเอาไปโฆษณาอ้างว่าราคาดีขึ้นเพราะรัฐบาล" ชวัลวิทย์ กล่าว

ล้งจีนสามารถกำหนดราคารับซื้อ คุณภาพ ได้ตามต้องการ ดังนั้นแล้วล้งจีนจึงแทบไม่ต้องแบบรับความเสี่ยงใด ๆ แถมยังผูกขาดตลาดรับซื้อลำไยไว้แต่กลุ่มเดียว ชาวสวนลำไยจึงต้องยินยอมก้มหัวรับชะตากรรมที่เขาเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ ชวัลวิทย์ยังเห็นว่าสิ่งที่เป็นผลตามมาคือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเริ่มน้อยลง

"กลุ่ม Gen Y และ Gen Z แบบผมเนี่ย มักจะทำงานประจำที่ได้เป็นเงินเดือนหรือทำงานอย่างอื่นที่มีความมั่นคงกว่าการทำสวนลำไย เนื่องจากภาพจำจากคนในครอบครัวที่เป็นหนี้สินเพราะทำสวนลำไย และไม่มีรายได้ที่มั่นคง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ออกไปทำงานต่างถิ่น จะคงเหลือไว้แต่กลุ่ม Boomer, Gen X และ Gen Y บางคนที่ยังคงทำสวนลำไยอยู่ หนักสุดคือตัดสินใจขายสวนเพราะไม่มีคนทำต่อ" ชวัลวิทย์ กล่าว

จากวิทยานิพนธ์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง 'ล้งจีนกับการเปลี่ยนแปลงวิถีดำรงชีพของชาวสวนลำไยในจ.ลำพูน' โดยหลี้จุน หวัง ที่ได้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพของชาวสวนลำไยในชุมชนแห่งหนึ่งของจ.ลำพูน พบว่าการเข้ามาของล้งจีนได้ส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกลำไยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นชาวสวนลำไยหมดอำนาจต่อรองกับล้งจีนภายใต้สภาวะที่ต้องพึ่งพาล้งจีนอย่างเดียว

th-longan-04.jpg
สวนลำไยแห่งหนึ่งใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วันที่ 4 สิงหาคม 2567 (วิทยากร บุญเรือง/เบนาร์นิวส์)

"หลังจากกลุ่มล้งจีนเข้ามาค้าขายลำไยในชุมชน การขยายกิจการลำไยของกลุ่มสังจีนได้ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจลำไย แม้จะทำให้ชาวบ้านสามารถมีโอกาสส่งออกลำไยไปยังประเทศจีนได้ แต่การเข้ามาของลังจีนยังส่งผลต่อชาวสวน ทั้งการสูญเสียพันธุ์ลำไย และเกิดการผูกขาดตลาดของจีน ทำให้ชาวสวนลำไยเกิดความเสี่ยงใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต" ส่วนหนึ่งของงานศึกษา ระบุ

ต้องแปรรูปหลากหลาย-หาตลาดใหม่

ดลวรรฒ สุนสุข นักวิจัยของ The Glocal - ท้องถิ่นเคลื่อนโลก ระบุว่าสาเหตุที่ลำไยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังจีน เนื่องจากชาวจีนนิยมบริโภคลำไยอบแห้งเพราะเชื่อว่าเป็นอาหารสุขภาพคล้ายโสม ในอดีตคนจีนถือว่าลำไยอบแห้งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงนิยมใช้เป็นของฝากแก่ผู้ใหญ่หรือข้าราชการชั้นสูงโดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญ

"ในอนาคตโครงสร้างประชากรจีนที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลต่อวัฒนธรรมการบริโภคลำไยในประเทศ คนรุ่นใหม่ในจีนมีความเชื่อและรสนิยมต่างไป อาจลดการซื้อลำไยเป็นของฝาก ทำให้ความนิยมลำไยอบแห้งลดลง" ดลวรรฒ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ดลวรรฒ ยังมองว่าอุตสาหกรรมส่งออกลำไยออกจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อรักษาตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ในจีน หรือแม้แต่การแปรรูปเป็นสินค้าอื่น ๆ นอกจากลำไยอบ และต้องหาตลาดใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศจีนด้วย

ทั้งนี้เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สส.จังลำพูน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ลำไย พ.ศ. .... โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ลำไย”

นายรังสรรค์ กล่าวในการอภิปรายว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและขาดความรู้ทำให้คุณภาพลำไยต่ำ จึงทำให้ราคาลำไยถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ลำไย” เพื่อกำหนดเป้าหมายให้ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศและเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

“เราอยากเห็นการแก้ปัญหาราคาลำไยที่ไม่เป็นธรรม มีการนำงานวิจัยวิทยาศาสตร์มาพัฒนาต่อยอดลำไยเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอยากเห็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปเจรจาหาตลาดใหม่ให้ลำไย” สส.ลำพูน กล่าวไว้ขณะเสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร

th-longan-05.jpg
หญิงสาวเลือกซื้อลำไยอบแห้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตเมืองฟูหยาง มณฑลอานฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 (เอเอฟพี)

เช่นเดียวกับนิวัฒน์ ที่ชี้ว่าการแปรรูปที่หลากหลายกว่าเดิมจะเป็นทางออกของอุตสาหกรรมลำไยทั้งระบบ และต้องหาตลาดอื่นเสริม นอกเหนือจากประเทศจีน

“ตอนนี้ลำไยอบคือการแปรรูปลำไยที่ได้ราคาดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับตลาดจีนเป็นสำคัญ หากวันไหนเขาไม่รับซื้อ ลำไยไทยก็เจ๊งทั้งระบบ ควรหาวิธิการแปรรูปใหม่ ๆ หาตลาดใหม่ ๆ ผมก็อยากลองเอาไปทำเหล้า เบียร์ หรือไวน์ ตลาดจะได้มีมากกว่าส่งออกจีนประเทศเดียว” นิวัฒน์ ระบุ

ต่อการแก้ปัญหาราคาลำไยในอนาคต ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะประเมินปัญหาในอนาคต เพื่อเตรียมแผนรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็ต้องเป็นผู้ควบคุมคุณภาพผลผลิตด้วยเช่นกัน

“วิธีที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ และใช้การมองปัญหาไปข้างหน้า และแก้ปัญหาให้ทันท่วงที ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลำไย และพืชต่าง ๆ รัฐบาลไม่ได้มาปฏิวัติระบบการเกษตร แต่เรามาดูแลคนให้ทั่วถึงและก้าวให้ทันโลก ทั้งตลาด และประเทศที่เราจะค้าขาย” ภูมิธรรม กล่าวกับสื่อมวลชน 

ปัจจุบัน คู่แข่งสำคัญในการส่งออกลำไยไปยังประเทศจีนของไทยคือ กัมพูชา แม้ปี 2566 กัมพูชาจะส่งออกลำไยไปยังประเทศจีนเพียง 1.67 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 23.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นับว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะปี 2566 นับว่า สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งได้ถึง 5% จากที่ปีก่อนหน้าทำได้เพียง 0.5 % เท่านั้น 

“อยากให้เรารักษามาตรฐานลำไยไปได้เรื่อย ๆ เพราะการจะทำให้ลำไยมีราคาดี เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพของลำไยให้อยู่ในมาตรฐานที่คนพึงพอใจ มีเนื้อที่แน่น หวานพอสมควร และไม่เน่าเสียง่าย”​ ภูมิธรรม ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง