รัฐบาลไทยเล็งให้ตำรวจจีนลาดตระเวนเมืองท่องเที่ยวในไทย

เจ้าหน้าที่รัฐต่างฝ่ายยังคงมีความเห็นต่างกัน ในแผนที่รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนมาประจำการในไทย เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ตามแผนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก

แม้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทยได้กล่าวไม่เห็นด้วยและแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้นี้ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายอื่นมองว่า จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่นักท่องเที่ยวชาวจีนมีความกังวลในด้านความปลอดภัย ท่ามกลางข่าวว่ามีอาชญากรจีนลักพาตัวนักท่องเที่ยวเพื่อเรียกค่าไถ่ รวมทั้งการที่มีคนถูกล่อลวงไปทำงานในคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา น.ส. ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้เข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหาหนทางในการฟื้นฟูจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปมาก จากเหตุระบาดของโควิด-19

น.ส. ฐาปนีย์ เปิดเผยหลังหารือร่วมกับ นายเศรษฐา ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน

“เราจะได้มีการคุยกันกับสถานทูตจีนที่จะมีโครงการที่เรียกว่า โครงการลาดตระเวน โดยที่เราจะเอาตำรวจจากประเทศจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาที่เมืองไทยในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเมืองหลัก ก็คล้าย ๆ กับโครงการลาดตระเวนที่เคยมีทำในยุโรปแล้ว เช่น อิตาลี” น.ส. ฐาปนีย์ กล่าว

“เมื่อมีโครงการดังกล่าวนี้ออกมา เราจะได้เห็นว่าประเทศไทยเราได้มีการเตรียมความพร้อมในการยกระดับเรื่องความปลอดภัยอย่างไรบ้าง ก็จะมีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก ตำรวจท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เสริมกับตำรวจสอบสวนกลาง ก็จะทำงานในทุกมิติเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวกลับมา” น.ส. ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติม

น.ส. ฐาปนีย์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยจะได้หารือเกี่ยวกับโครงการนี้กับทางสถานทูตจีนในรายละเอียดในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน นี้ และระบุว่า คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามายังประเทศไทยตามเป้าหมายที่ 4 – 4.4 ล้านคน

ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีชาวจีนมาเที่ยวเมืองไทยกว่าหนึ่งในสี่ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน แต่ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาแล้วประมาณ 2.8 ล้านคน ตามตัวเลขของ ททท.

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เปิดเผยหลังหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยเสนอให้มีตำรวจจีนมาดูแลนักท่องเที่ยวจีนในไทย

“ไม่เห็นด้วยกับการนำตำรวจจีนเข้ามาดูแลนักท่องเที่ยวจีนในไทย เพราะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย และตำรวจไทยมีศักยภาพในการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวเพียงพอ แนวคิดดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เป็นผู้เสนอ หรือร้องขอไปยังรัฐบาล เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดในการสื่อสาร” พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าว

“ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกันในประเด็นการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกับทางการจีน เพราะเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับจีน ก็จำเป็นที่จะต้องมีการประสานข้อมูลคนร้ายและข้อมูลคดีกัน” พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

กลุ่มคนจีนสีเทาไม่กลัวตำรวจไทย

ระหว่างการเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในวันจันทร์นี้ว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ใช่การให้ตำรวจจีนมาลาดตระเวน แต่จะมาประสานงานกับตำรวจไทยเรื่องข้อมูล

“ที่บอกว่าจะเอาตำรวจจีนมาตระเวน ไม่ใช่นะครับ ตำรวจจีนไม่ได้มาตระเวนดูอะไร เขามาอยู่ข้างหลัง มาคอยป้อนข้อมูล มาชี้เบาะแส ชี้อะไรต่าง ๆ เพราะตำรวจไทยจะได้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น เป็นคนละเรื่องกับการที่มีกระแสข่าวที่บอกว่าประเทศมีเอกราชทำไมต้องเอาตำรวจคนนั้นนี้” นายชัย กล่าว

“กลุ่มคนจีนสีเทาเขาไม่ค่อยกลัวตำรวจไทย แต่เขากลัวตำรวจจีนด้วยกัน และนักท่องเที่ยวจีนเขาจะรู้สึกอุ่นใจกว่า ถ้ามีตำรวจจีนช่วยดูแล ดังนั้นตำรวจของไทยจึงคิดว่ากลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือ ขอให้ตำรวจจีนมาเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน” นายชัยระบุ

ด้าน พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ทางการไทยยินยอมให้ชาวต่างชาติเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อช่วยแปลภาษาในแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา ซึ่งเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีน รัสเซีย และชาวอินเดีย

231113-TH-CH-police-2.jpg
Italian and Chinese police agents walk by the ancient Roman Forum, in Rome, at the end of a press conference to present a joint patrols project, Tuesday, Nov. 5, 2019. The project is aimed at improving the exchange of best practices, boosting coordination among the Italian and Chinese police forces and to facilitate the dialogue with the increasing number of Chinese tourists visiting Italy.(AP Photo/Andrew Medichini) (Andrew Medichini/AP)

เจ้าหน้าที่ตำรวจอิตาลีและตำรวจจีนเดินผ่านโรมันฟอรัมโบราณ ในช่วงท้ายของการแถลงข่าวเพื่อนำเสนอโครงการลาดตระเวนร่วม ประเทศอิตาลี วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 (แอนดรู เมกชินี/เอพี)

การเสนอแนวคิดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางรายงานของกลุ่ม Safeguard Defender ในสเปน ที่กล่าวว่าประเทศจีนได้ตั้ง “สถานีตำรวจ” เพื่อปฏิบัติการโดยไม่ถูกต้องในทั้งห้าทวีป โดยรายงานในปี 2565 ระบุว่า ตำรวจจีนเหล่านั้นมีภารกิจหลักในการปิดปากบุคคลในต่างแดนที่กล้าวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนและตัดตอนคำสั่งของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ประชาชน และนักสิทธิมนุษยชน ต่างมองว่าเป็นการที่ไม่เหมาะสมที่จะให้ตำรวจจีนมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย

น.ส. พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอาวุโส องค์กร Fortify Rights ชี้ว่า ไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย และไทยไม่ควรเน้นนโยบายที่สร้างความพึงพอใจให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง

“หากเป็นความร่วมมือเพื่อประสานข้อมูลอาชญากรรมระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สำหรับการลาดตระเวน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับผิดชอบอยู่แล้ว เราเห็นการกระตือรือร้นที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมากเกินไป ทั้งที่ควรหานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้เน้นเฉพาะบางประเทศเป็นพิเศษ รัฐควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากดำเนินการโครงการนี้จริง ๆ” น.ส. พุทธณี กล่าว

“ถ้าจะให้ตำรวจจีนมาลาดตระเวนในไทยก็ไม่เห็นด้วย ความจริงยังไม่เห็นรายละเอียดว่าจะมาแบบไหน แต่ถ้ามาปฏิบัติหน้าที่เต็ม ๆ แบบตำรวจไทย ไม่ควร เราอาจจะนับได้ว่ามันเป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สุดท้าย คนที่เคยต้าน ๆ ก้าวไกล เรื่องข่าวลือที่ว่าจะให้ สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในประเทศ ก็ควรอาจมาค้านเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้าให้ตำรวจจีนมาทำหน้าที่ในไทย เรื่องนี้ก็เหมือน ๆ กับการตั้งฐานทัพ” นายกวิน ศิลปสกุล นักธุรกิจชาวกรุงเทพฯ อายุ 37 ปี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์

ในปี 2559 ประเทศอิตาลีได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนในเครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่ในเมืองท่องเที่ยวของอิตาลี อย่างโรม และมิลาน หลังจากพบว่า มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนอิตาลีปีละประมาณ 3 ล้านคน และชาวจีนอีกกว่า 2.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในอิตาลี ต่อมาในปี 2565 สื่อมวลชวนรายงาน โดยอ้างว่า มีขบวนการชาวจีนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ข่มขู่ คุกคามให้ชาวจีนในอิตาลีกลับไปยังประเทศจีน โดยพบว่า ขบวนการดังกล่าวมีการติดต่อกับรัฐบาลจีน กระทั่ง ธันวาคม 2565 รัฐบาลอิตาลี ประกาศยุติโครงการดังกล่าว

ส่วนในประเทศไทย หลังเข้ารับตำแหน่ง นายเศรษฐา ได้ประกาศนโนบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีความหวังว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ถึง 30 ล้านคน ภายในปี 2566