สุทิน ชะลอซื้อเรือดำน้ำ โยกซื้อเรือฟริเกต
2023.10.20
กรุงเทพฯ

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า รัฐบาลจะชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพราะไม่สามารถใช้เครื่องยนต์เยอรมันตามสัญญาได้ โดยจะเสนอให้จีนแก้ไขสัญญา เปลี่ยนเป็นการจัดซื้อเรือฟริเกต (Frigate) เพื่อป้องกันปัญหาที่การฟ้องร้อง และข้อครหาจากสังคมในอนาคต
นายสุทิน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังการตรวจเยี่ยมกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า รัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหม ได้ตัดสินใจร่วมกับกองทัพเรือ (ทร.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาอย่างยาวนาน เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน
“เราเองก็พยายามที่จะแก้ปัญหาร่วมกันมาตลอด ปัญหาที่เราแก้ คือ อยากได้เครื่องยนต์ ตามข้อตกลง ซึ่งกองทัพเรือในยุคผู้บัญชาการท่านก่อน ท่านก็ทำสุดกำลัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้เครื่องยนต์อย่างที่เราตกลงกัน เราก็ขอเลือกแนวทาง คือ เรือฟริเกต ทำไมเอาเรือฟริเกต ก็คือหนึ่งราคาใกล้เคียงกันมากกับเรือดำน้ำ เราก็เสนอไปว่า เงินที่จ่ายไปก็เคลมให้เป็นค่าเรือฟริเกต” นายสุทิน กล่าว
“ถ้าได้เรือฟริเกตมา เราก็ปราบเรือดำน้ำได้ ก็จะทำให้สมรรถนะของกองทัพเรือไม่ได้เสียหายไปมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า จะยิ่งหย่อนไปกว่าเรือดำน้ำนิดนึง ซึ่งกองทัพเรือก็รับได้ แนวทางนี้ก็เหลือเพียงว่าเราก็ต้องไปเจรจากับจีน ก็ไปคุยกับรัฐบาลจีนเมื่อ 2-3 วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า ทางการจีนเขาก็เข้าใจเราว่า เรื่องนี้เป็นความลำบากใจของเรา แล้วเขาก็ขอความเห็นใจเหมือนกัน เขาก็ยินดีที่จะหาทางออกให้ เขาก็รับพิจารณา แนวทางที่เราเสนอไป” นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติม
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจาก ในเดือนเมษายน 2560 ทร. ได้ตกลงจ้าง บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. – CSOC) สร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T หนึ่งลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาทในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และเดือนกันยายน 2561 ได้มีการพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้างแล้ว
ต่อมา การต่อเรือดำน้ำเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ เพราะสัญญาระบุว่า เรือดำน้ำ S-26T จะใช้เครื่องยนต์แบบ MTU396 ที่ผลิตในเยอรมนี แต่บริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะสหภาพยุโรปตกลงห้ามประเทศสมาชิกค้าอาวุธกับจีน เพราะจีนเคยปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532
“การส่งออกเครื่องยนต์จากเยอรมนีอาจถูกปฏิเสธ เพราะว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมทางทหาร-การกลาโหมจีนไม่ได้บอกกล่าว หรือประสานมายังทางเยอรมนีก่อนที่จะเซ็นสัญญาไทย-จีน โดยเสนอเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์” นายฟิลิปป์ ดวร์ท ทูตทหารประจำสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวกับบางกอกโพสต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
หลังเกิดปัญหา เดือนมิถุนายน 2565 บริษัท CSOC ได้เสนอให้ ทร. ใช้เครื่องยนต์แบบ CHD620 แทนเครื่องยนต์เยอรมัน กระทั่งในเดือนกันยายน 2566 พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในขณะนั้น เปิดเผยว่า ทร. เห็นว่า เครื่องยนต์ CHD620 ของจีนมีความเหมาะสม ความปลอดภัยเพียงพอ มีประกัน 8 ปี พร้อมอะไหล่ และรัฐบาลจีนยังรับรองตามเงื่อนไข จึงเห็นควรที่จะเสนอให้ ครม. อนุมัติ
อย่างไรก็ตาม นายสุทิน เปิดเผยว่า รัฐบาลและกองทัพเรือได้พูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่เมื่อไม่สามารถได้เครื่องยนต์เยอรมันตามสัญญา ทร. จึงเสนอ 2 แนวทางให้รัฐบาลพิจารณา คือ 1. เปลี่ยนจากการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็น เรือฟริเกต ซึ่งสามารถต่อสู้ ทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำได้ และ 2. เปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือตรวจการณ์ระยะไกล (OPV) แทน ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางแรก โดยจากการศึกษาเรือฟริเกตที่ ทร. ต้องการมีมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อลำ ซึ่งใกล้เคียงกับเรือดำน้ำ
สำหรับ เรือฟริเกต (Frigate) คือ เรือรบที่มีความเร็วสูง มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500-3,500 ตัน แบ่งได้เป็นหลายประเภทตามอาวุธประจำเรือ เช่น เรือฟริเกตต่อสู้อากาศยาน เรือฟริเกตควบคุมอากาศยาน เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ เป็นต้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือฟริเกตหลายลำ โดยปกติเรือฟริเกตไทยจะตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำ เช่น เรือหลวง (ร.ล.) เจ้าพระยา, ร.ล. บางปะกง, ร.ล. กระบุรี, ร.ล. สายบุรี เป็นต้น แต่ก็มีที่ได้รับพระราชทานให้ใช้พระนามพระมหากษัตริย์ เช่น ร.ล. ภูมิพลอดุลยเดช, ร.ล. นเรศวร, ร.ล. ตากสิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายสุทินระบุว่า ทร. จะยังคงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเรือดำน้ำ ซึ่งถ้าหากมีความพร้อมเหมาะสมเมื่อไหร่ ก็สามารถดำเนินโครงการอีกครัั้งได้
“เรายึดหลักว่าการจะหาทางออก 1. กองทัพเรือก็ต้องไม่สูญเสียโอกาส โอกาสที่กองทัพเรืออยากได้โดยการมีเรือดำน้ำ ก็ไม่ต้องให้กองทัพเรือเขาอ่อนแอลง 2. ทางสังคมก็ต้องพึงพอใจกับกองทัพกับรัฐบาล เม็ดเงินก็ต้องคุ้มค่า และ 3. ผู้บริหารทั้งฝ่ายการเมืองและกองทัพ ก็ต้องอธิบายได้ และไม่เป็นที่ครหานินทาจากสังคม วันนี้ ถ้าหากว่าเรารับเดินหน้าเครื่องยนต์จีน ใครรับประกันไหมว่า เรื่องจะถึงโรงถึงศาลเรื่องจะมีอะไรกันอีกเยอะ กองทัพอาจจะโดน รัฐมนตรีก็อาจจะโดน ไม่ใช่ว่าเราเห็นแก่ตัว แต่มันจะยุ่งยากทางกฎหมาย นำมาซึ่งความแตกแยก” นายสุทิน ระบุ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน