กองทัพเรือไทยพิจารณาเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนแทนของเยอรมนี

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.08.09
กรุงเทพฯ
กองทัพเรือไทยพิจารณาเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนแทนของเยอรมนี บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำโมเดลเรือดำน้ำรุ่นต่าง ๆ มาแสดงในงานดีเฟนซ์แอนด์เซเคียวริตี้ 2017 ในกรุงเทพ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเรือไทย กล่าวในวันอังคารนี้ว่า กองทัพเรือกำลังศึกษาเครื่องยนต์ดีเซลแบบ CHD620 ที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งทางบริษัทผู้ต่อเรือประเทศจีนได้เสนอให้ใช้ติดตั้งในเรือดำน้ำ S-26T ของไทย ทดแทนเครื่องยนต์แบบ MTU396 ที่ผลิตในเยอรมนี โดยระบุว่า จะทราบผลว่าเครื่องยนต์จีนมีคุณสมบัติเทียบเท่าเครื่องยนต์เยอรมันหรือไม่ ในกลางเดือนกันยายนนี้

พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า หากเครื่องยนต์แบบ CHD620 มีคุณสมบัติดีพอ ก็จะดำเนินการตามสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไป หากไม่ผ่าน ก็จะยุติสัญญาจัดซื้อที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560

“เสนาธิการทหารเรือ ได้พิจารณาร่วมกับกรมอู่ทหารเรือแล้วว่าน่าจะมีประโยชน์ ก็จะได้นำไปดูรายละเอียดอีกครั้งในเรื่องสเป็คและคุณสมบัติต่าง ๆ ว่าเทียบเท่าหรือดีกว่าเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนีหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาจะรู้ผลในวันที่ 15 กันยายน 2565” พล.ร.ท. ปกครอง กล่าว

“ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสเปคเครื่องยนต์ที่จีนส่งมาใหม่ดี กองทัพเรือก็จะให้จีนส่งเครื่องยนต์มาทดสอบ และถ้าผ่านขั้นตอนนี้ ก็ไม่ต้องแก้สัญญาเดิม เนื่องจากของเดิมเขียนไว้ว่า กรณีที่ไม่สามารถหาส่วนหนึ่งส่วนใดได้ก็สามารถหาอุปกรณ์ที่ดีกว่าหรือเทียบเท่ามาทดแทนได้” พล.ร.ท. ปกครอง กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 กองทัพเรือไทย และบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. – CSOC) ได้ตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T หนึ่งลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

และเมื่อเดือนกันยายน 2561 ได้มีการพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การต่อเรือดำน้ำกลับเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ โดยทางกองทัพเรือไทยต้องการเครื่องยนต์แบบ MTU396 ที่ผลิตในเยอรมัน แต่ทางบริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาให้ได้

ต่อมาทูตทหารเยอรมันประจำกรุงเทพฯ กล่าวกับบางกอกโพสต์ว่า ทางฝ่ายเยอรมันไม่สามารถขายเครื่องยนต์ให้ฝ่ายจีนได้ เพราะเป็นการจัดซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร

“เยอรมนี ไม่ได้ปฏิเสธการส่งออกเครื่องยนต์ เพราะว่าจะนำไปติดตั้งให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับประเทศที่สาม คือ ประเทศไทย การส่งออกอาจถูกปฏิเสธ เพราะว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมทางทหาร-การกลาโหม จีนไม่ได้บอกกล่าว หรือประสานมายังทางเยอรมนีก่อนที่จะเซ็นสัญญาไทย-จีน โดยเสนอเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์” ฟิลิปป์ ดวร์ท ทูตทหารประจำสถานทูตเยอรมัน ในกรุงเทพ กล่าวกับบางกอกโพสต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สหภาพยุโรปสั่งห้ามค้าอาวุธกับจีนในปี 2532 หลังจากการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ในจัตุรัสเทียนอันเหมินของปักกิ่ง

ทั้งนี้ หลังจากเกิดปัญหา Liu Song รองประธาน บริษัท CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน และมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ที่กรุงเทพ และ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย ได้ร่วมกันประชุมในการหาทางออกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งฝ่ายจีนได้เสนอสเป็คเครื่องยนต์แบบ CHD620 ดังกล่าว และได้ยื่นแสดงคุณสมบัติเพิ่มเติมในภายหลัง

ตามแผนการณ์เดิม ไทยต้องการจัดหาเรื้อดำน้ำแบบ S-26T ซึ่งปรับปรุงมาจากชั้นหยวน รวมสามลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท แต่อีกสองลำถูกดอง เพราะรัฐบาลขาดสภาพคล่อง เนื่องจากการระบาดของโควิด

ราชนาวีไทย เคยมีเรือดำน้ำที่ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นประจำการ 2 ลำ ตั้งแต่ปี 2480 และได้รับล็อตที่สองอีก 2 ลำ ในปี 2482 แล้วได้ปลดประจำการไป

จากนั้นได้มีการริเริ่มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2538 โดยราชนาวีได้พิจารณาเรือดำน้ำ จากบริษัทค็อกคุมส์ แห่งประเทศสวีเดน แต่ไม่ผ่านอนุมัติรัฐสภา ต่อมา ในปี 2555 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการพิจารณาโครงการซื้อเรือดำน้ำมือสองชั้น U-206 A จากเยอรมนีรวมสี่ลำ แต่ต้องพับโครงการไปเช่นกันเพราะโดนต่อต้าน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง