ศาลสั่งคุก 50 ปี นายทุนจีนแก๊งอุ้มบุญ และพวกรวมสี่คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.19
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งคุก 50 ปี นายทุนจีนแก๊งอุ้มบุญ และพวกรวมสี่คน เจ้าหน้าที่ตำรวจทลายแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ จับกุม นายเจ้า หราน (เสื้อดำ) นายทุนจีน พร้อมภรรยา และแม่อุ้มบุญชาวไทยได้จากที่พักอาศัยหลายจุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภาพเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563
กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904

ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 50 ปี นายเจ้า หราน นักธุรกิจชาวจีน และพวกรวมสี่คน ฐานสมรู้ร่วมคิดในขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ เมื่อปี 2558-2563 ส่วนผู้ร่วมขบวนการอีกเจ็ดคนให้จำคุก 4 ปี 

ศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ถนนรัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1172/2563 มีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้องนายเจ้า หราน นักธุรกิจชาวจีน อายุ 41 ปี เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 11 คน ในความผิดฐานสมคบกันและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์แห่งการค้า และร่วมกันซื้อ เสนอขาย นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งไข่หรือตัวอ่อน

“จำเลยซึ่งรวมตัวกันตั้งแต่ 3 คน เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้ร่วมกันเป็นสมาชิกสมคบกันซื้อ เสนอขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งไข่ หรือตัวอ่อนโดยร่วมกันให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ด้วยการชักชวนและหญิงไทยหลายคนให้มารับจ้างตั้งครรภ์แทนคนอื่น” ศาลบรรยายฟ้อง 

ศาลระบุว่า ในชั้นศาล นายเจ้า หราน จำเลยที่ 1, นายนิคม สิมารัตน์ จำเลยที่ 5, นายธรรมนูญ ปัญจสังคาม จำเลยที่ 6 และนายนพพร เย็นใจ จำเลยที่ 11 ให้การสารภาพ

“ศาลอาญามีคำพิพากษาในความผิด ฐานสมคบและร่วมกันมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้ารวม 55 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี เป็น 110 ปี ฐานร่วมกันซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือ ส่งออก ซึ่งไข่หรือตัวอ่อน รวม 36 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เป็น 36 ปี” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

“รวมจำคุกจำเลยที่ 1, 5, 6 และ 11 เป็นเวลา 150 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 75 ปี ตามกฎหมายกำหนดให้จำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้คนละ 50 ปี” คำพิพากษา ระบุ

ขณะที่ นางซู ยิงถิง (ภรรยาของนายเจ้า หราน) จำเลยที่ 2, นางวิลาสินี ซู จำเลยที่ 3, น.ส. หล้า ขันติโย จำเลยที่ 4, น.ส. ศิญาพร สวัสดิ์พันธ์ จำเลยที่ 7, น.ส. วิยะดา เชื้อจันทร์ จำเลยที่ 8, นางสายบัว แจ่มมี จำเลยที่ 9 และน.ส. เหอ เถิง เย่ว จำเลยที่ 10 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เมื่อพิเคราะห์จากหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งเจ็ด มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ให้จำคุกคนละ 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

จำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่ปี 2563 ถูกพาตัวจากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา โดยมีทนายความ สมาชิกครอบครัว และสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ เมื่อมีคำตัดสิน ญาติของจำเลยที่ 2, 3, 4, 7, 8, 9 และ 10 ได้เข้าสวมกอดจำเลยเนื่องจากทั้งหมดถูกจำคุกมาเกินกว่าคำพิพากษาแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัวทันที ขณะที่จำเลยที่ 1, 5, 6, และ 11 ถูกพาตัวกลับไปควบคุมที่เรือนจำ 

คดีนี้ สืบเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดล้อม ตรวจค้นสถานที่พักอาศัย 10 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมทั้งจับกุมขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ ซึ่งมีนายเจ้า หราน เป็นนายทุน หลังจากพบเบาะแสว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวดำเนินการรับจ้างอุ้มบุญตั้งแต่ปี 2558 

ตำรวจพบว่า ขบวนการดังกล่าวมีการนำผู้หญิงชาวไทยไปฝังตัวอ่อนที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำกลับมาฝากครรภ์ที่ประเทศไทย และพาไปคลอดยังประเทศปลายทาง โดยตกลงราคากันตั้งแต่ 4-6 แสนบาทต่อราย มีการอุ้มบุญไปแล้วประมาณ 30 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดของประเทศไทย โดยแม่อุ้มบุญจะได้ค่าจ้าง 3-5 แสนบาทต่อครั้ง

“พ่อ-แม่ชาวจีนที่มีความต้องการบุตรติดต่อนายหน้า นายหน้าติดต่อไปยังหญิงที่ขายไข่ เข้าสู่กระบวนการหมอเก็บไข่ มาผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย แล้วใช้หมอกับสถานพยาบาลไปฝังตัวอ่อนยังประเทศเพื่อนบ้าน รอประมาณ 7-8 เดือน บางส่วนก็จะคลอดในประเทศไทย อีกส่วนนึงเดินทางไปคลอดที่จีน คลอดเสร็จก็จะส่งลูกต่อให้ผู้ว่าจ้าง” พ.ต.อ. มานะ กลีบสัตบุศย์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (รอง ผบก.ปคม. ในขณะนั้น) เปิดเผย

หลังการจับกุมในเดือนสิงหาคม 2563 พล.ต.ต. ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในขณะนั้น เปิดเผยว่า สามารถยึดทรัพย์สินประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และที่ดิน มูลค่า 32.68 ล้านบาท จากขบวนการอุ้มบุญนายเจ้า หราน

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ. อุ้มบุญ) ระบุว่า คู่สามี-ภรรยาสัญชาติไทยที่จดทะเบียนถูกต้อง สามารถให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ในกรณีที่ภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์เอง แต่หากสามีหรือภรรยาไม่ใช่สัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อยสามปี

ผู้ตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยา แต่ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยา ในกรณีที่ไม่มีญาติให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ โดยหญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อนเท่านั้น และหากหญิงคนนั้นมีสามีอยู่แล้วต้องได้รับการยินยอมจากสามีด้วย

นับตั้งแต่บังคับใช้ พ.ร.บ. อุ้มบุญ มีสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการอุ้มบุญร่วม 100 แห่ง ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพิ่งเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. อุ้มบุญ โดยวางแผนจะเปิดโอกาสให้คู่รักต่างชาติสามารถทำอุ้มบุญในไทยได้ และผู้หญิงไทยที่อายุเกิน 55 ปี สามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง