ประเทศไทย : คดีละเมิดทางเพศต่อเด็กเพิ่มเป็นสองเท่า ช่วงระบาดโควิด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.03.24
กรุงเทพฯ
ประเทศไทย : คดีละเมิดทางเพศต่อเด็กเพิ่มเป็นสองเท่า ช่วงระบาดโควิด เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จับกุมผู้ต้องหาครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กจากการแอบถ่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในช่วงการใช้ห้องน้ำรอบห้องพักของตน ภาพไม่ระบุวันที่
ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต

การดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนเกิดโควิด เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส และเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ กล่าวโดยระบุว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโควิดและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้เข้าถึงแพลตฟอร์มผิดกฎหมายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น

พล.ต.ต. วิวัฒน์ คำชำนาญ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ระบุว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กได้ถึง 71 คดี เปรียบเทียบกับสถิติการจับกุมก่อนการระบาดโควิดในปี 2563 ที่มีอยู่ประมาณ 30 คดี

“อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กออนไลน์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดการระบาดของโควิด” พล.ต.ต. วิวัฒน์ ซึ่งร่วมในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับเบนาร์นิวส์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

TICAC เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ FBI เพื่อกำจัดการค้ามนุษย์

“อาชญากรรมทางกายภาพ กลายสภาพเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าไปใน ดาร์คเว็บส์ (Dark Webs) เพื่อหาสื่อลามกเด็กอีกต่อไป มันอยู่ทั่วไปบนโซเชียลมีเดีย” พล.ต.ต. วิวัฒน์กล่าว

อาชญากรรมเหล่านี้รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การผลิตสื่อลามกเด็ก การค้ามนุษย์ และการล่อลวงทางการเงิน

พล.ต.ต. วิวัฒน์ ระบุว่า ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นสวรรค์สำหรับพวกใคร่เด็ก ที่เข้ามาผลิตและจำหน่ายสื่อลามกเด็กออนไลน์ แต่ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้พบว่ามีกลุ่มคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจภาพลามกเด็กเพิ่มมากขึ้น

“เมื่อก่อน มีชาวต่างชาติที่หนีหมายแดงเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา และภูเก็ต และผลิตวิดีโอลามกเด็ก คนพวกนี้อัดคลิปเก็บไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ แต่ต่อมาพบว่าคนพวกนี้เก็บเป็น ซอฟท์ไฟล์เล็ก ๆ แล้วซ่อนไว้ในไอคลาวด์ (i-Cloud)” พล.ต.ต. วิวัฒน์ อ้างถึงกลุ่มคนร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวของตำรวจสากล

“คนพวกนี้จะเก็บค่าสมาชิกแรกเข้าบนเว็บไซต์ หรือ โซเชียลมีเดีย แต่ตอนนี้กลุ่มคนร้ายที่เป็นคนไทยเข้ามาทำมากขึ้น หลังจากที่ต่างชาติเข้าประเทศไทยไม่ได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด” พล.ต.ต. วิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.ต.ต. วิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การค้าประเวณีที่เคยต้องมีหน้าร้าน เช่น บาร์ หรืออาบอบนวด ได้หันมาขายบริการแบบออนไลน์ เพื่อใช้เป็นช่องทางปกปิดตัวเองจากการถูกจับกุม

“สังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการแลกเปลี่ยน เอามนุษย์กลายมาเป็นสินค้ามากขึ้น” พล.ต.ต. วิวัฒน์ ระบุ

พล.ต.ต. วิวัฒน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า เหยื่อบางรายอายุเพียงแค่ 8 ขวบ ซึ่งทราบจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการคัดแยกเหยื่อร่วมกับสหวิชาชีพ อัยการ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์

ในปีที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการเชิงรุก ที่เรียกว่า ลูกแกะน้อยออนไลน์ 1 และลูกแกะน้อยออนไลน์ 2 ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทลายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็กขนาดใหญ่ 2 แพลตฟอร์ม ทำให้แพลตฟอร์มขนาดใหญ่แตกกระจายไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ทำให้สามารถกวาดล้างได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยเหลือเหยื่อซึ่งเป็นเยาวชนชายและหญิง อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ถึง 49 คน จับกุมผู้ต้องหาได้ 73 คน ส่วนในปีนี้ จับผู้ต้องหาได้ 86 ราย และช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว 50 คน เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

เด็กในประเทศไทยราว 400,000 คน โดนล่วงละเมิดทางเพศ

ตามรายงานผลการสำรวจชื่อ Disrupt Harm ที่มีการนำเสนอเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีเด็กในประเทศไทยประมาณ 400,000 คน โดนล่วงละเมิดทางเพศ

รายงานระบุว่า มี 9 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 12-17 ปีที่ใช้อินเทอร์เน็ตตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศโดยทางออนไลน์ในระดับที่รุนแรง

“หมายรวมถึงการแบล็คเมล์เพื่อให้มีกิจกรรมทางเพศ มีผู้อื่นนำภาพทางเพศไปเผยแพร่โดยเจ้าตัวไม่อนุญาต หรือถูกบังคับขู่เข็ญให้มีกิจกรรมเรื่องเพศเพื่อแลกกับเงินหรือสิ่งตอบแทน” รายงานจาก Global Partnership to End Violence against Children ที่สนับสนุนโดยองค์กรยูนิเซฟ ระบุ   

หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องเด็ก รวมทั้งองค์กรเอกชนต่าง ๆ กล่าวว่า เด็ก ๆ และเยาวชน ตกเป็นเป้าหมายอ่อนแอของระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด

กลุ่มเด็กที่ถูกละเมิดเหล่านั้น ตกเป็นเป้าหมายทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และติ๊กต็อก ตามมาด้วยเกมส์ออนไลน์ และการติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ โดยคดีส่วนใหญ่นั้น เด็ก ๆ จะรู้จักกับอีกฝ่ายที่เป็นคนเริ่มล่วงละเมิด ซึ่งหมายถึงเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก

 220324-th-children-abuse-inside.jpg

วีราวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิฮัก ขณะพูดคุยกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก วันที่ 28 ธันวาคม 2564 (วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์)

แนวโน้มที่สูงขึ้น

องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่ต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ออกมาระบุว่า อาชญากรรมประเภทนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากจะมีการกวาดล้างอย่างจริงจัง และระบุว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิได้ช่วยเหลือเด็กเกือบ 100 คนที่ตกเป็นเหยื่อ

“คดีมีสถิติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี และเราคาดว่าในปี 2565 จะมีแนวโน้มแบบเดียวกัน ที่พูดว่ามันจะเพิ่มขึ้นเพราะว่ามีเว็บไซต์หลายแห่งที่ไม่โปร่งใส ไม่ถูกควบคุม และไม่มีใครปกป้องเด็กเลย มันง่ายมากที่จะเปิดเว็บไซต์ และไม่ต้องทำตามกฎหมาย และคนพวกนั้นก็ไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรกับเด็ก” วีราวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิฮัก กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เมื่อเราตรวจสอบกลับไปที่วันที่ผลิตคลิปเหล่านั้น เราพบว่าบางชิ้นผลิตก่อนปีที่จะเกิดโรคระบาดเสียอีก แต่บางทีช่วงโควิดเด็กรู้สึกหดหู่มากกว่าปกติ เพราะเด็ก ๆ ต้องอยู่บ้าน และเรื่องคลิปก็ย้อนกลับมาทำร้ายเขา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากใครบางคน”

ในบางครั้ง การละเมิดทางเพศต่อเด็กจบลงด้วยการเสียชีวิต

สัปดาห์ที่ผ่านมา เยาวชนชายอายุ 17 ปีคนหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายเพราะถูกชายอายุ 26 ปี ข่มขู่รีดไถเงินโดยแลกกับการไม่เปิดเผยคลิปลับ ต่อมาอีกไม่กี่วัน ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมได้และถูกตั้งข้อหารีดเอาทรัพย์, ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองและผู้อื่น

แต่ในทางกลับกัน เด็กบางคนค้นพบทางของตนเองในการหาเงินจากการทำผิดกฎหมาย

“เรามีความกังวลเรื่องการไลฟ์สด โดยปกติแล้วเด็ก ๆ ชอบท่องโลกออนไลน์ และคิดว่ามันคือวิธีที่ง่ายที่สุดในการหาเงิน ดังนั้นพวกเขาจึงได้โฆษณาตัวเองว่าเป็น นางทางโทรศัพท์ เรามีความกังวลเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน เราจะรับมือเรื่องนี้กับเด็กได้อย่างไร” วีราวรรณ กล่าว

ด้าน พล.ต.ต. วิวัฒน์ ระบุว่า จากการสอบสวนเส้นทางการเงินพบว่า เงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ต่อปี

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เด็กหลายคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พยายามโฆษณาขายตัวเองเพื่อหาเงิน หลังจากนั้นก็ไปติดต่อเด็กคนอื่นมาเป็นเหยื่อ แล้วก็ทำตัวเป็นนายหน้าเก็บค่าส่วนต่าง ด้วยการเอาเด็กคนอื่น ๆ ไปขายต่อในแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น” พล.ต.ต. วิวัฒน์ กล่าว

พล.ต.ต. วิวัฒน์ ระบุด้วยว่า ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งการทำงานประสานกับเอ็นจีโอ เช่น มูลนิธิฮัก (HUG) ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทลายรังใหญ่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการได้เบาะแสเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก

ในการทำให้สิ่งผิดกฎหมายนี้หมดไป วีราวรรณ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ซึ่งมูลนิธิฮักยังทำงานร่วมกับตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ในการให้ความรู้ด้านกฎหมาย และแนะนำวิธีการในการแจ้งรายงานเหตุการณ์ไปยังตำรวจ แพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์

นอกจากนี้ องค์กรแห่งนี้ ยังได้จัดทำสมุดภาพเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็ก ชื่อ “Exposed ทำอย่างไรเมื่อคลิปหลุด” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มวัยรุ่นวัยใส

“เราเห็นว่าเด็ก ๆ ยังมีความกลัวในการแจ้งความกับตำรวจ เพราะว่าพวกเขาไม่รู้ว่า กระบวนการยุติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร พวกเขาอาจไปที่สถานีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนคดีแบบนี้ อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และเจ้าหน้าที่อาจจะบอกเด็ก ๆ ว่าไปหาหลักฐานมาก่อน” วีราวรรณ ระบุ

“ถ้ามีการจับกุมมากขึ้น และเอาจริงเอาจังมากขึ้น แนวโน้มก็อาจจะลดลงได้” วีราวรรณ กล่าวในที่สุด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง