กังวลคนไทยเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย หลังสถิติจีนซื้อห้องชุดไทยมากสุด
2024.09.20
กรุงเทพฯ
นักวิชาการแสดงข้อกังวลว่า คนไทยอาจได้รับผลกระทบเรื่องการหางาน และราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอาจสูงขึ้น หลังจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จีนเป็นชาติที่ซื้อห้องชุดในประเทศไทยมากที่สุด เกือบสามพันห้อง รวมมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้าน ดร. เจียง ยู่ ลี่ จากมหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน ระบุว่า การที่ชาวจีนเข้ามาซื้อคอนโดในไทยจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ยังคงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ด้วยความสามารถในการเข้าถึงทรัพย์สินในราคาที่คุ้มค่าและนโยบายที่เปิดกว้าง
“มองเผิน ๆ อาจเป็นเรื่องดี แต่นี่ก็อาจนำไปสู่ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนไทย รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติ หากเศรษฐกิจจีนมีความผันผวน คนไทยก็อาจเผชิญกับภาวะคอนโดล้นตลาดและการปรับตัวของราคาทรัพย์สินที่สูงขึ้น” ดร. เจียง อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์และสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มอล ประเทศจีน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ความกังวลดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมดของคนต่างชาติทั่วประเทศช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีการโอน 7,280 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 32,888 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนของหน่วยและมูลค่าการโอนห้องชุดของคนต่างชาติในภาพรวม คิดเป็น 11.8% จากการขายโอนห้องชุดทั้งหมดในประเทศไทยในครึ่งแรกของปี 2567
“ชาวจีนเป็นสัญชาติที่มีการโอนห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศ โดยมีการโอนไปแล้ว 2,872 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 39.5 ของหน่วยทั้งหมด เป็นมูลค่า 13,203 ล้านบาท โดยชลบุรี มีจำนวนหน่วยโอนห้องชุดให้คนต่างชาติมากกว่ากรุงเทพฯ แต่ถ้าดูย้อนกลับไปในช่วงปี 2561 จนถึงปี 2565 กรุงเทพฯ มีจำนวนหน่วยโอนห้องชุดให้คนต่างชาติมากกว่าชลบุรี” นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าว
สำหรับประเด็นการเข้ามาแย่งงานคนไทยโดยคนจีน สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเคยมีกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ตให้รัฐบาลดำเนินการกับชาวจีนที่เข้ามาทำงานบางประเภท ซึ่งอาจเป็นการแย่งงานชาวไทย
“เราคิดเห็นว่าควรมองปัญหาเฉพาะบางกรณีที่เกิดขึ้นจากชาวจีนบางคนด้วยท่าทีที่เป็นกลางอย่างมีเหตุผล และไม่ควรนำพฤติกรรมของคนบางคนมาตัดสินชาวจีนและบริษัทจีนทั้งหมดที่อยู่ในไทยสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ มีบางกลุ่มภายนอกที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงพยายามใช้กองกำลังไซเบอร์ยุยงปลุกปั่น สร้างกระแสข่าวมาโดยตลอด เพื่อใส่ร้ายป้ายสีประเทศจีน ทำลายภาพลักษณ์ของจีน” สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ เผย
สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ยืนยันว่า จีนและไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตร ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นมาก ฝ่ายจีนจะคัดค้านการดำเนินการที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างเด็ดขาด และจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของประเทศไทยเพื่อรักษาแนวโน้มการพัฒนาที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
ข้อมูลของ REIC ระบุว่า ชาติที่โอนห้องชุดมากที่สุดรองลงมา คือ เมียนมา 638 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 3.24 พันล้านบาท รัสเซีย 567 หน่วย 1.87 พันล้านบาท และไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รวมถึงเยอรมัน ตามลำดับ โดยจังหวัดที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติในการซื้อห้องชุดนอกจากชลบุรี และกรุงเทพ แล้วคือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศ ทำให้ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้ออาคาร หรือบ้านซึ่งปลูกบนดินได้ แต่กฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อห้องชุด ชาวต่างชาติที่ต้องการที่อาศัยแบบถาวรจึงนิยมซื้อคอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเมนท์มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ แต่เกิดกระแสคัดค้านไปทำให้ในเดือนตุลาคม 2565 รัฐบาลเปิดเผยว่า ได้ชะลอการแก้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แต่ไม่เคยถูกจัดการอย่างจริงจัง คือที่ผ่านมาชาวต่างชาติสามารถครอบครองที่ดินผ่านการแต่งงานกับคนไทย หรือนายหน้า ซึ่งมันส่งผลทำให้การเข้าถึงที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ถูกจำกัดแค่เฉพาะคนไทยที่มีทรัพย์สินมาก ๆ ทางออกที่รัฐควรทำคือ กำหนดอัตราภาษีที่ดินหรืออสังหาฯ สำหรับชาวต่างชาติให้สูงกว่าคนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้น” น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน