8 พรรคร่วมเซ็นเอ็มโอยูปฏิรูประบบ แต่ไม่ระบุกฎหมายหมิ่นสถาบัน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.05.22
กรุงเทพฯ
8 พรรคร่วมเซ็นเอ็มโอยูปฏิรูประบบ แต่ไม่ระบุกฎหมายหมิ่นสถาบัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลโบกมือระหว่างการแถลงข่าว เพื่อประกาศข้อตกลงของพรรคกับพรรคพันธมิตร ในกรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ พรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองพันธมิตรอีก 7 พรรค ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีสาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูประบบราชการ โดยไม่มีการระบุถึงการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พรรคก้าวไกลได้กล่าวไว้หลังชนะการเลือกตั้งใหม่ ๆ  

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงข่าวที่โรงแรมคอนราด ในบ่ายวันนี้ว่า การที่พรรคก้าวไกลยืนยันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา จะไม่มีผลต่อเสียงโหวตของวุฒิสมาชิกที่สนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรี

“ผมไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา ที่ผ่านมามีโอกาสได้ตอบเพื่อคลายข้อกังวลใจของ ส.ว. หลายเรื่องถึงเจตจำนงและเนื้อหาของกฎหมายที่ตั้งใจให้ ม.112 ไม่กลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีกลั่นแกล้งกันทางการเมือง” นายพิธากล่าว

“ยืนยันอีกครั้งว่า ม. 112 เป็นหนึ่งใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้เกิดบทสนทนาอย่างมีวุฒิภาวะในสภาฯ ที่ผ่านมาบางครั้งอาจมีการฟังข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จึงเป็นไปในแนวโน้มที่ดีมาก” พิธา กล่าวเพิ่มเติม

การแถลงข่าวถึงบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ ตรงกับวันครบรอบ 9 ปี ของการที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง มีคะแนนเสียง รวม 313 คะแนน แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงจากสองสภารวม 376 เสียง ในการรับรองนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดลง พรรคก้าวไกลได้ย้ำนโยบายที่จะแก้ไข ม.112 ซึ่งพรรคพันธมิตรบางพรรคแสดงความไม่เห็นด้วยในการที่จะรีบบรรจุวาระดังกล่าวลงในเอ็มโอยูของพรรคร่วมรัฐบาล

นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งร่วมการแถลงข่าวในวันนี้ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังรอดูร่างแก้ไข ม.112 ในอนาคต

“นโยบายต่าง ๆ เช่น ม.112 แต่ละพรรคมีสิทธิจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายสภา ที่เสนอนำเข้าสู่สภาได้ ส่วนพรรคอื่น ๆ เขาจะเห็นอย่างไร เขาต้องดูในรายละเอียดก่อนว่าตัวร่างเข้ามาเป็นอย่างไร จะให้มากำหนดบทบาทท่าทีตอนนี้ก็ยังไม่ได้” นายชลน่าน กล่าว

“มันต้องดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย สิ่งที่เขานำเสนอว่าเป็นประโยชน์ มีผลกระทบไหม อย่างไร หลายเรื่องที่เขาบอกว่าจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เทิดทูนสถาบัน ปกป้อง คุ้มครอง มันก็ต้องไปดูในรายละเอียดตรงนั้น” นายชลน่าน กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า “เรื่อง ม.112 เราได้พูดหลายครั้งว่า เราไม่แก้ เราไม่ยกเลิก”

ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องเจรจากับสมาชิกวุฒิสภาอย่างจริงจังเพื่อจูงใจให้ยอมโหวตให้หัวหน้าพรรค 

“ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ ส.ว. ทุกคนที่จะเข้าใจเรื่องนี้โดยง่าย จะขอเสียง ส.ว. ก็ต้องหาทางลงให้เขาด้วย มิฉะนั้นสังคมก็อาจเข้าใจไปได้ว่า ส.ว. ตั้งใจออกเสียงเพื่อสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 เช่นกัน” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว

บันทึกความเข้าใจ 23 ข้อ

ในบันทึกความเข้าใจที่มี 23 ข้อ พรรคร่วมรัฐบาลได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการผลักดันนโยบายที่สำคัญ ๆ รวมถึง การฟื้นฟูประชาธิปไตย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน, ผลักดันการปฏิรูประบบราชการตำรวจกองทัพและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน, การร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และการดำเนินการนโยบายต่างประเทศ โดยฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น

นอกจากนั้น พรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติที่รวมถึงหลักสำคัญ คือ ทุกพรรคจะต้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน, จะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใด มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที, จะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และทุกพรรคมีสิทธิ์ในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง