รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของกัมพูชาและไทย

บทวิเคราะห์โดย เดวิด ฮัทท์ สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2023.11.27
รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของกัมพูชาและไทย นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสก เจนดา โซเฟีย ในขณะเข้าร่วมการประชุมการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย วันที่ 5 กันยายน 2566
แมสท์ เออร์แฮม/รอยเตอร์

หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของไทยเมื่อเดือนกันยายน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร กล่าวว่า “อยากให้คนไทยรู้สึกว่ากระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น"

นายสก เจนดา โซเฟีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของกัมพูชา หลังได้รับการแต่งตั้งก่อนปานปรีย์เพียงไม่กี่วัน กล่าวกับเอกอัครราชทูตคนใหม่ของกัมพูชาว่า “ทุกคนควรทำงานเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศชาติและช่วยเสริมสร้างเกียรติศักดิ์ศรีของราชอาณาจักร โดยเฉพาะในด้านการทูต เศรษฐกิจ อาหาร กีฬา และศิลปะ ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งสองคนไม่มีพื้นฐานในการเป็นนักการทูตอาชีพมาก่อน นายปานปรีย์มีพ่อและปู่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ตัวเขากลับเติบโตโดยได้รับตำแหน่งสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 231127-th-cambodia-thailand-ministries-2.jpeg

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ เพื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง วันที่ 5 กันยายน 2566  (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

สก เจนดา เริ่มสั่งสมประสบการณ์ที่กระทรวงการท่องเที่ยว เมื่อช่วงทศวรรษ 2530 ขณะที่ ปานปรีย์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย ต่อมา สก เจนดาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา หรือคณะกรรมการการลงทุนของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปีนี้ และปานปรีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอินเดีย สก เจนดา ได้รับมอบหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา ต่อมา ปานปรีย์ได้ศึกษาต่อด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ สก เจนดา ศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซองโพรวองซ์

นอกจากนี้ ทั้งสองยังแตกต่างจากรัฐมนตรีคนก่อนหน้าคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งเป็นนักการทูตอาชีพและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา หากถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง เขาถูกกล่าวหาว่าให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับปักกิ่ง แทนที่จะใช้แนวทางที่มีความสมดุลและมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่านี้ อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดำเนิน "การทูตแบบคาวบอย" ช่วงวิกฤตทางการเมืองในเมียนมา ที่ส่งผลเสียต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียนอย่างมาก 

คำวิพากษ์วิจารณ์อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องที่ดอนได้รับแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารที่เพิ่งเข้ายึดอำนาจโดยการรัฐประหาร เขา “ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอธิบายว่าประเทศไทยจะกลับหรือได้กลับสู่ประชาธิปไตยเมื่อใด อย่างไร และมากน้อยเพียงใด” ตามที่ เบนจามิน ซาวัคกี้ กล่าว “การทำงานของเขามีลักษณะค่อนข้างอนุรักษ์นิยมและคอยตั้งรับ มากกว่าที่จะกล้าได้กล้าเสียหรือมักใหญ่ใฝ่สูง”

การวิพากษ์วิจารณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา นายปรัก สุคน ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่เขามองว่า ตะวันตกเข้ามาแทรกแซงเรื่องภายในของกัมพูชาและการที่เขาดูจะสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งมากกว่าที่เจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจต้องการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้วย อันที่จริงหลายคนเชื่อกันว่า ฮุน เซน เพิกเฉยต่อคำแนะนำของปรัก และกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยการประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างเปิดเผย

เศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง

ปานปรีย์ และ สก เจนดา เปรียบเสมือนผู้นำหน้าใหม่ที่มีภารกิจในการปรับรูปแบบกระทรวงการต่างประเทศใหม่ ด้วยการหลีกเลี่ยงจากการทูตแบบตั้งรับในความสัมพันธ์กับจีนและการมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากเกินไป และมุ่งสู่การดำเนินนโยบายที่ยั่งยืนและก้าวหน้าที่เน้นเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางแทน ดังที่สื่อไทยกล่าวไว้ ปานปรีย์ “จะนำเอาทิศทางใหม่มาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเน้นการสำรวจมิติทางเศรษฐกิจของความสัมพันธ์ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี”

นักวิเคราะห์ชาวกัมพูชากล่าวว่า "เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป กัมพูชาต้องหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ หรือตะวันตก ดูเหมือนว่าภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต การพัฒนาเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การแต่งตั้ง สก เจนดา โซเฟีย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนแนวคิดนี้”

แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้สุดโต่ง ในอดีต นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2548 มีเป้าหมายที่จะสร้าง "ทูตซีอีโอ" นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนก่อนหน้า ก็ได้นำเสนอแนวทาง "ทีมประเทศไทย" ที่คาดหวังให้นักการทูตทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศโดยรวม ไม่ใช่แค่กระทรวงการต่างประเทศ การกลับไปสู่นโยบายต่างประเทศที่มั่นคงและเรียบง่ายยิ่งขึ้นนั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากประเทศไทยและกัมพูชาต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 231127-th-cambodia-thailand-ministries-3.jpeg

นายฮุน เซนพูดในงานแถลงข่าวที่รัฐสภา หลังการลงคะแนนเสียงให้ นายฮุน มาเนต ลูกชายของเขา ในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 (ซินดี้ หลิว/รอยเตอร์)

ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี ส่วนในกัมพูชา มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งสำคัญ โดยผู้นำคนก่อนเกือบทั้งหมดกำลังก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของบรรดาผู้นำเก่าได้เข้ามารับช่วงต่อ

ปานปรีย์ และ สก เจนดา ไม่ใช่บุคคลที่โดดเด่นเป็นพิเศษ พวกเขาเป็นเหมือนข้าราชการมากกว่า อีกทั้งยังถือว่ามีอายุมากกว่าคนอื่นในรัฐบาลของตัวเองด้วย ปานปรีย์ อายุ 66 ปี ถือเป็นรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของไทย และ สก เจนดา อายุ 67 ปี ก็เป็นรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในบรรดารัฐมนตรีคนสำคัญของกัมพูชา (อายุมากกว่านายกรัฐมนตรี 20 ปี) ทั้งสองคนถือได้ว่ามีความเหมาะสมต่อบทบาทการเสริมหนุนนายกรัฐมนตรีของตนได้เป็นอย่างดี โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย มีพื้นฐานจากการเป็นนักธุรกิจมาก่อน

แม้ว่า ฮุน มาเน็ต จะไต่เต้าจากตำแหน่งทางการทหาร แต่เขาสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และมีบทบาทสำคัญในการบริหารบริษัทที่ภรรยาของเขาเป็นเจ้าของ ปานปรีย์ และ สก เจนดา ดูเหมือนจะเต็มใจที่จะให้นายกรัฐมนตรีของตนเองเป็นผู้ออกหน้าออกตาในงานด้านนโยบายต่างประเทศมากมาย อย่างเช่น การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับนานาชาติ เป็นต้น เห็นได้ชัดว่า เศรษฐา ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "เซลส์แมนของประเทศไทย” ชื่นชอบการเดินทางทั่วโลก รวมถึงการพบปะกับผู้นำต่างชาติพร้อมกับถ่ายรูปเซลฟี่ที่ดูค่อนข้างจะประจบสอพลอและน่าอับอายเสียมากกว่า

พรรครัฐบาลในกัมพูชาต้องการให้ ฮุน มาเน็ต มีบทบาทสำคัญในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับประเทศอื่น ๆ อย่างชัดเจน คล้ายกับบทบาทที่บิดาของเขาเคยได้รับมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานหนักคอยดูแลงานในแต่ละวัน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก

นักคิดนโยบายต่างประเทศที่มากประสบการณ์

การแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ทั้งสองคนยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ตอบสนองภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากกัมพูชาและไทยมีรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ผลงานและค่อนข้างไม่มั่นคง ประเทศไทยมีรัฐบาลผสมที่ไม่ปกติ และกัมพูชาก็มีการสืบทอดตำแหน่งของ นายฮุน มาเนต และคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งชุด ซึ่งแม้ว่าจะไม่เหมือนกับแนวทางนโยบายต่างประเทศที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนกำหนดไว้ว่าเป็น "นโยบายต่างประเทศที่ส่งผลดีต่อชนชั้นกลาง" แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่

ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ทั้งสองคนจะนำคำสั่งของตัวเองไปปฏิบัติอย่างไร แต่จริง ๆ แล้ว เราอาจจะไม่ได้เห็นพวกเขาปรากฏตัวในสาธารณะมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสก เจนดา ที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวต่อสาธารณะอย่างที่ใคร ๆ คาดหวัง นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม อาจเป็นเพราะ ฮุน มาเน็ต ต้องการเป็นที่สนใจขณะเดินทางไปเยือนเมืองต่าง ๆ อย่างปักกิ่งหรือนิวยอร์ก

 231127-th-cambodia-thailand-ministries-4.jpeg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำและคู่สมรส ในช่วงสัปดาห์ผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ Legion of Honor ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 (จอช เอเดลสัน/เอเอฟพี)

จากที่ได้ยินมา อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นได้ว่า สก เจนดา กำลังค่อย ๆ ไล่คนออกจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยเน้นคนที่แสร้งทำเป็นเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับโลกหรือผู้ที่มีความสามารถไม่เพียงพอ โดยเขาได้นำเอาบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความรู้ด้านนโยบายต่างประเทศมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการแทนหลายคน

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้จัดระเบียบโครงสร้างกระทรวงใหม่ เช่น การปรับเพิ่มค่าจ้างนักการทูต ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยหยุดยั้งการซื้อตำแหน่งทางการทูตได้

อาจไม่ใช่แนวทางที่น่าตื่นเต้นที่สุด แต่ดูเหมือนว่า ปานปรีย์ และสก เจนดา อาจจะกำกับดูแลให้กระทรวงและนักการทูตของตัวเองในลักษณะที่หลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งหรือกล่าวถ้อยคำที่ดึงดูดความสนใจ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเคารพอาเซียนและการทำงานแบบพหุภาคีมากขึ้น รวมถึง มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายที่เป็นมิตรซึ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

เดวิด ฮัทท์ เป็นนักวิจัยที่ Central European Institute of Asian Studies (CEIAS) ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดอะ ดิโพลแมท และเขียนบทวิเคราะห์ให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ เขารายงานข่าวการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2557 บทวิเคราะห์นี้ตีพิมพครั้งแรกโดยเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง