นายกฯ ตั้งกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ไข รธน.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.10.03
กรุงเทพฯ
นายกฯ ตั้งกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ไข รธน. ผู้ประท้วงจุดคบเพลิง ระหว่างเดินขบวนเรียกร้องให้ถอดถอน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565
เอเอฟพี

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นรับรองรายชื่อคณะกรรมการ (กก.) ศึกษาแนวทางทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 35 คนแล้ว โดยรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้เสร็จภายใน 4 ปี

นายภูมิธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กก.ศึกษาแนวทางทำประชามติฯ จะเริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ และเชื่อใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 4 เดือน

“เราร่างรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติพี่น้องประชาชนก่อน โดยให้หลักการว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ หมวด 1-2 แล้วก็ไม่แตะพระราชอำนาจ แต่นอกนั้นเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

“ให้มันเสร็จในวาระ 4 ปีที่เราเป็นรัฐบาล เสร็จก่อนได้ แต่ 4 ปี ไม่ควรเกิน ต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จด้วย การเลือกตั้งใหม่ก็ควรจะเป็นกติกาที่ผ่านการเห็นชอบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน” นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในการแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ได้แถลงว่า จะยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งในการทำประชามติรับร่าง ยังไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มที่มีความเห็นต่างสามารถรณรงค์คัดค้าน โดยมีการดำเนินคดีกับผู้ที่รณรงค์จำนวนมาก แก้ไขได้ยาก และให้อำนาจ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส.

สำหรับรายชื่อ กก. ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความสามารถจากหลายภาคส่วน เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจากพรรคเพื่อไทย, นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง, นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สส. และ สว., นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป และตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่รณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2563 โดยขอให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยภาคประชาชน ไม่ได้มีรายชื่ออยูในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ เขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไอลอว์ไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ไม่ถูกเชิญร่วมเป็น กก. ของรัฐบาล และไม่ใช่ความประสงค์ของไอลอว์ที่จะเข้าไปเป็นกรรมการ เนื่องจากได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการไปตามระบบเรียบร้อยแล้ว

“ที่เหลือก็รอดูขั้นตอนต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าได้ทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีกลุ่มคนที่จำเป็นจะต้องเรียกร้องว่าเขียนใหม่ยังไงก็ได้แต่ไม่ให้แตะต้องอำนาจของพวกเขา ซึ่งแบบนี้ก็ไม่ได้เรียกว่าเขียนใหม่ แต่เรียกว่าแก้บางส่วนเท่าที่เขายอมให้แก้เท่านั้น” นายยิ่งชีพ ระบุ

“ดังนั้นโอกาสที่เราจะมีการทำประชามติที่ปกติจึงมีอยู่ไม่มาก แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ให้มันมา เดินหน้ามาให้ชัดเจนไม่ชักช้า แล้วเผชิญหน้าแก้ปัญหากันไปทีละขั้น ดีกว่าอยู่เฉย ๆ แล้วอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ตลอดไปครับ” ตอนหนึ่งของข้อความระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ตัวแทนไอลอว์ได้นำรายชื่อประชาชนกว่า 205,739 รายชื่อ ที่เสนอคำถามในการทำประชามติการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง โดยอ้างใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 2564 เสนอแก่พรรคเพื่อไทย โดยมี นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเป็นผู้รับหนังสือ แต่ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่ได้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณา

ด้าน ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลอาจจะไม่มีความจริงใจต่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

“กลุ่มคนหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญอย่างยาวนาน เช่น ไอลอว์ กลับไม่ได้เป็นกรรมการ และพรรคก้าวไกลก็มีเฉพาะคำว่าตัวแทน ไม่ได้มีระบุว่าใคร ดูภาพรวมแล้วยังสามารถคิดได้ว่าถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะยื้อและประวิงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉย ๆ ประชามติที่จะออกมาก็อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องว่าร่างใหม่หรือไม่ แต่คงเป็นการแก้ไขบางประเด็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีความคาดหวังกันว่า จะเป็นตัวแทนประชาชน รายชื่อส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ก็คงไม่มีทางเห็นด้วยหรอก” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว

“ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการลงประชามติที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง ๆ ที่ไม่มีวาระซ่อนเร้น อยากให้เชิญกลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้มานานและจริงจัง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ก็อยากให้ปรับตัวกรรมการก่อน ให้มีคนมีสังคมยอมรับ และอย่าทำให้คำถามการทำประชามติมันซับซ้อน เชื่อว่ามันอาจมีการวางยาเอาไว้ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 60 คือทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย ๆ” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม

จากปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราว และถาวรแล้ว 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับแรก ถูกนำมาใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และฉบับล่าสุดเริ่มใช้ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง