ศาลแพ่งยกฟ้องคดี อังคณา-อัญชนา ฟ้องสำนักนายกฯ-ทบ. ทำ IO โจมตี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.02.16
กรุงเทพฯ
ศาลแพ่งยกฟ้องคดี อังคณา-อัญชนา ฟ้องสำนักนายกฯ-ทบ. ทำ IO โจมตี นางอังคณา นีละไพจิตร (กลาง) ระหว่างการแถลงข่าวกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฟิลิปปินส์ ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลแพ่ง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เป็นโจทก์เรียกค่าเสียหายจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกองอำนวยการรัษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกองทัพบก เป็นเงินรวม 5 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าทั้งสองหน่วยงานใช้เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) โจมตีโจทก์ทั้งคู่ให้เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า แม้ว่าข้อความต่าง ๆ เป็นการหมิ่นประมาทจริง แต่ไม่มีการยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ จึงมีคำสั่งยกฟ้อง

ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษา ต่อหน้า นางอังคณา และน.ส.อัญชนา ในฐานะโจทก์ โดยมี พ.อ. เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา จากสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. เป็นตัวแทนฝ่ายจำเลย

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และการเสนอข่าวของ Pulony.blogspot.com เป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสอง ข้อความบนเว็บไซต์หาใช่ความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นเจตนาทำลายชื่อเสียง ลดความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือในการทำงานโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยจำเพาะเจาะจง” ผู้พิพากษา ระบุ

ข้อความบนเว็บไซต์ ฟังได้ว่าฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com พยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com พิพากษายกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

ในคำพิพากษาศาลยอมรับว่า นางอังคณา และน.ส. อัญชนา มีฐานะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และข้อความบนเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นการละเมิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สหประชาชาติ ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าเสียหายให้แก่นักปกป้องสิทธิ แต่ด้วยกฎหมายไทยยังไม่ได้ระบุหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว จึงไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้

“ผิดหวังที่ศาลไม่พิพากษาให้รัฐต้องรับผิดชอบความเสียหาย และคิดว่าเป็นไปได้ยากมากที่โจทก์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า กอ.รมน. มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะแม้ก่อนหน้านี้ที่เฟซบุ๊กเคยเปิดเผยว่า ได้ทำการปิดบัญชีที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับ กอ.รมน. แต่เฟซบุ๊กไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลนั้นให้เรา” นางอังคณา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ หลังฟังคำพิพากษา

ขณะเดียวกัน น.ส.อัญชนา ระบุว่า คำพิพากษาของคดีนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย

คำพิพากษาวันนี้แสดงให้เห็นว่า กลไกของประเทศนี้ไม่สามารถปกป้องนักปกป้องสิทธิ และ DES ซึ่งควรมีหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่กลับปล่อยปะละเลยให้เกิดการละเมิดแบบนี้เกิดขึ้น มันได้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบราชการ ส่วนหลักฐานการอภิปรายในสภา ศาลก็กลับมองว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง รับฟังไม่ได้” น.ส. อัญชนา กล่าว และระบุว่า จะอุทธรณ์คดีให้ถึงที่สุด

ด้าน พ.อ. เดชาวุธ ในฐานะตัวแทนฝ่ายจำเลย ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หรือพูดคุยกับผู้สังเกตการณ์คดี

การฟ้องร้องครั้งนี้ สืบเนื่องจากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำกับดูแล ทบ. โดยแสดงหลักฐานที่ระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงใช้ Pulony.blogspot.com สร้างเนื้อหาโจมตีใส่ร้าย นางอังคณา และ น.ส.อัญชนา

หลังจากนั้น พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ได้แถลงชี้แจงว่า ข้อมูลเอกสารที่นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า กอ.รมน. สนับสนุน Pulony.blogspot.com เป็นเอกสารจริง แต่ กอ.รมน. ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มิใช่การโจมตีใส่ร้าย

ต่อมา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นางอังคณา และ น.ส. อัญชนา ได้ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่หน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และ ทบ. ต่อศาลแพ่ง ในความผิดฐานละเมิดตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เรียกค่าเสียหาย 3,000,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ จากการที่ทั้งสองหน่วยงานจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายบนเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ตั้งแต่ปี 2559-2562 รวม 13 ข้อความ ในเดือนพฤษภาคม 2565 ศาลจึงได้นัดสืบพยาน กระทั่งมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้

ปัจจุบันเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ยังสามารถเข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตได้ แต่ไม่ได้มีการผลิตข้อมูลใหม่ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากที่ถูกเปิดเผยข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

230216-th-court-activists-acquit-NP.jpg

น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางอังคณา นีละไพจิตร (ซ้ายและขวา) ที่หน้าศาลแพ่ง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ยากในการพิสูจน์ความเชื่อมโยงรัฐ

หลังจากการพิพากษา นายสุรชัย ตรงงาม ในฐานะทนายฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า เป็นไปได้ยากที่โจทก์จะหาข้อมูลที่ยืนยันว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีเชื่อมโยงกับรัฐอย่างไร เพราะโดยปกติปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารก็ดำเนินการในทางลับอยู่แล้ว

“แต่กระบวนการพิจารณาก็ทำให้เห็นว่าทหารได้ทำภารกิจที่นอกเหนือจากงานหลักคือ เรื่องความมั่นคง” นายสุรชัยกล่าว

ด้าน น.ส. ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International  ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ชี้ว่า แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่คำพิพากษาได้เผยให้เห็นความก้าวหน้าเล็ก ๆ ของกระบวนการยุติธรรมไทย

คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่มีการพูดถึงปฏิญญานักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีมาแล้ว 25 ปี เป็นการยืนยันว่าศาลไทยรู้จักคำว่า นักปกป้องสิทธิแล้ว และยอมรับว่าการทำหน้าที่ของโจทก์ทั้งคู่คือการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาต่อมาคือ ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับปฏิญญานี้ ทำให้ยังไม่สามารถให้รัฐชดเชยการถูกกระทำของนักปกป้องสิทธิได้” น.ส. ปรานม ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง