ศาลแพ่งยกฟ้องประยุทธ์ คดีใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ละเมิดสิทธิฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.09.26
กรุงเทพฯ
ศาลแพ่งยกฟ้องประยุทธ์ คดีใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ละเมิดสิทธิฯ ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยเดินฝ่าแรงน้ำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดใส่ ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563
แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพวก ในคดีที่กลุ่มนักศึกษาฟ้องร้องรัฐบาลว่าได้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อใช้สลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษาเมื่อสองปีก่อนโดยมิชอบ แต่ศาลเห็นแย้งว่ารัฐบาลใช้อำนาจและดำเนินการโดยชอบแล้ว

ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนหลายหมื่นคนได้รวมตัวเดินขบวนในย่านกลางเมือง และปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันน้ำสูง และแก๊สน้ำตา สลายการประท้วง ในวันที่ 16 ตุลาคม โดยฝ่ายประท้วงระบุว่ามีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 90 คน ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์นั้น

จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน นิสิต-นักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีมหานคร 7 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ให้ พล.อ. ประยุทธ์, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.ต.อ. เอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ในคดีที่เห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

“ศาลแพ่งยกฟ้องในคดีที่นักศึกษายื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ และพวก กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 15-22 ต.ค. 63 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมองว่าออกข้อกำหนดและประกาศโดยชอบแล้ว มีการประเมินสถานการณ์เร่งด่วนได้อย่างเหมาะสม และใช้เวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันสถานการณ์โควิดและเหตุที่จะกระทบต่อภัยความมั่นคงของชาติ และการออกประกาศของประยุทธ์ ไม่เป็นการกระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุผ่านทวิตเตอร์

“ศาลมองว่าเหตุที่ยกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิการชุมนุม และสิทธิในการเดินทาง (โดยประกาศปิด BTS, MRT บางสถานี ไม่ได้เป็นการปิดทั้งระบบ) รวมถึงไม่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารที่สำคัญ แม้โจทก์จะอ้างว่าถูกจับกุม-ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในช่วงมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยกลั่นแกล้ง มีการเจรจาให้ยุติการชุมนุม ดำเนินการตามขั้นตอน สอดคล้องกับคู่มือตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน และประกาศสำนักนายกฯเครื่องมือควบคุมฝูงชน”​ ศูนย์ทนายฯ เขียนผ่านทวิตเตอร์

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในโจทก์ของคดีนี้ เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษา แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ด้าน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากข้อมูลของเว็บไซต์ Mob Data Thailand ระบุว่า รัฐใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมอย่างน้อย 50 ครั้ง และ มีอย่างน้อย 1,467 คน ใน 647 คดี ที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565 นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพิ่งแถลงว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพราะสถานการณ์คลี่คลายลง โดยจะมีผลให้ ศบค. สิ้นสุดลงด้วย

กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี แล้วอย่างน้อย 1,120 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 1,853 คน ในจำนวนนั้น เป็นคดี ม. 112 จำนวน 228 คดี มีจำเลย 210 คน

ศาลจำคุกหญิงข้ามเพศฐานละเมิดสถาบัน

ในวันเดียวกันนี้ ศาลอาญา ได้พิพากษาให้จำคุก อัปสร (นามสมมติ) หญิงข้ามเพศ อายุ 23 ปี เป็นเวลา 4 ปี ในความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการที่อัปสรแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งวิพากษ์-วิจารณ์การประชาสัมพันธ์ของสมาชิกราชวงศ์ไทย

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาเนื่องจากอัปสรรับสารภาพ

“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว จำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี กับให้คุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี”​ ศูนย์ทนายฯ ระบุ

สำหรับคดีนี้ นายสุรภพ จันทร์เปล่ง เป็นผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) ในปี 2564

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง