ศาลสั่งคุกอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ 4 เดือน คดีแฟลชม็อบปี 62
2024.02.05
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาให้จำคุก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งหมด 8 คน เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 11,200 บาท ข้อหาละเมิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ เมื่อปี 2562 โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
ในคดีนี้อัยการยื่นฟ้อง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ น.ส. พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับพวกรวม 8 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ จากกรณีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” บริเวณสกายวอล์กที่สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
โดยศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 8 คน มีความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 7
“การกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ
หลังฟังคำพิพากษา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ศาลเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 8 เชิญชวนให้ไปชุมนุมเป็นผู้จัดชุมนุม มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และมีการชุมนุมอยู่ในระยะไม่เกิน 150 เมตร จากวังสระปทุม ตามที่ตำรวจกล่าวหา
“ศาลมีคำพิพากษาในประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ศาลเชื่อว่าการชุมนุมของจำเลยอยู่ในระยะ 150 เมตร จากวังสระปทุม แม้จุดที่ยืนชุมนุมอยู่จะอยู่เกิน 150 เมตรตามข้อต่อสู้ แต่เนื่องจากมีผู้ชุมนุมตามที่ตำรวจกล่าวหาอยู่ในระยะที่ไม่เกิน แต่ก็ถือว่าเราในฐานะผู้จัดการชุมนุมก็ต้องรับผิดชอบ ศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 8 โดยการจำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่พิเคราะห์ถึงความประพฤติ สถานะความเป็นอยู่แล้ว ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษารอการลงโทษ 2 ปี”
“ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งแปดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งความผิดที่กระทำสืบเนื่องมาจากต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมร้ายแรง กรณีมีเหตุอันควรปราณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 เพื่อให้โอกาสกลับตัวและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ขอบเขตตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี”
ทั้งนี้ คำพิพากษาระบุว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ปรับคนละ 1,000 บาท, พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง ปรับคนละ 200 บาท, ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ปรับเป็นพินัยคนละ 10,000 บาท และฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงคนละ 200 บาท รวมค่าปรับเป็นพินัยคนละ 11,200 บาท
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยทั้ง 8 คน ระบุว่า จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป เพราะต้องการให้ข้อเท็จจริงเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินของศาลต่าง ๆ ในข้อหาลักษณะแบบนี้ต่อไปว่า การควบคุมวาระการชุมนุมอย่างสันติ เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย และหากกระทบกับสังคมแล้วต้องได้รับโทษ ก็ควรเป็นโทษที่มีสัดส่วนสมควรแก่เหตุ
“คงต้องอุทธรณ์ต่อในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของสัดส่วนของกฎหมาย การชุมนุมสาธารณะโดยสันติอาจมีผลกระทบกับสังคมบ้าง การชุมนุมที่สนามบินก็มีโทษปรับ 20,000 บาท แต่ไม่ได้มีโทษอาญาแต่อย่างใด เลยคุยกับทีมทนายว่าให้ดูฎีกาย้อนหลังว่ามีการชุมนุม ณ สถานที่แห่งนี้แล้วกี่ครั้ง แต่ละศาลตัดสินกันอย่างไร เรื่องที่สองผมเชื่อว่าน่าจะมีความคลาดเคลื่อนกันในเรื่องข้อเท็จจริง ผมไม่แน่ใจว่าระยะทาง 150 เมตร วัดจากตรงไหน วัดจากอะไร แต่จุดที่พวกเรายืนอยู่นั้นวัดมาเกิน 150 เมตร แน่นอน” พิธา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎางค์ ระบุด้วยว่า ฝ่ายจำเลยมีความเห็นต่างจากคำพิพากษาแน่นอน เพราะเคยมีคดีที่ชุมนุมบริเวณเดียวกันแต่ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งยกฟ้อง และอัยการไม่อุทธรณ์ด้วยคดีจบไปแล้ว ส่วนคดีนี้สามารถอุทธรณ์ได้ถึงศาลฎีกา
ด้าน ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เป็นอีกครั้งที่ชนชั้นนำไทยสมประโยชน์ และได้ร่วมมือกำจัดภัยคุกคามใหม่อีกครั้ง
“ถ้ามองในเชิงนิติศาสตร์ คำพิพากษาออกมาแบบนี้ ก็เพราะมันมีพยานหลักฐาน มันมีมูล แต่ถ้าเปรียบเทียบคดีอื่น ๆ มันก็เห็นความต่าง ซึ่งในหลายคดีศาลก็ยกฟ้อง ทำให้มองได้ว่าในกรณีแบบนี้ใครก็ตามที่ต่อต้าน ก็จะถูกลงโทษเพื่อให้เกิดความกลัว"
สำหรับคดีในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 นายธนาธร และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศชุมนุม บนสกายวอล์คปทุมวัน มีประชาชนจำนวนหลายพันคนเข้าร่วมชุมนุมเต็มพื้นที่ จนล้นลงไปอยู่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่มีผู้ร้องว่าพรรคกระทำความผิดจากการกู้ยืมเงินนายธนาธร เป็นเงิน 191 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการพรรค โดย กกต. ตีความการกระทำดังกล่าวว่า เป็นการรับเงินบริจาคที่ผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 16 คน เป็นเวลา 10 ปี
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน