จำคุก 'สุเทพ' และแกนนำ กปปส. รวม 26 คน ฐานยุยงปลุกปั่นเป็นหลัก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.02.24
กรุงเทพฯ
จำคุก 'สุเทพ' และแกนนำ กปปส. รวม 26 คน ฐานยุยงปลุกปั่นเป็นหลัก นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำประท้วงต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ในขณะนั้น) ก่อนกล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ภาพเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ ศาลอาญาพิพากษา ให้จำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และจำเลยคนอื่น ๆ รวม 26 คน รวมถึงรัฐมนตรี 3 คน คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 11 ปี ในข้อหาหลัก คือ ยุยงปลุกปั่น จากการชุมนุมทางการเมือง เพื่อขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2556-2557

ล่าสุด ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายสุเทพและพวก รวม 8 คน โดยขอให้รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์พิจารณา

ในคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และจำเลยคนอื่น ๆ รวม 39 คน ซึ่งในวันนี้จำเลยมาศาล 37 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน อยู่ระหว่างการคุมขัง 1 คน ในหลายข้อหา เช่น ความผิดฐานกบฏ, ร่วมกันก่อการร้าย, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้น แต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง เพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก, ขัดขวางการเลือกตั้งฯ ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 ซึ่งศาลใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานกว่า 6 ชั่วโมง

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และจำเลยอื่นรวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุกในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น  และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

โดยพิพากษาจำคุกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเวลา 5 ปี จำคุกนายชุมพล จุลใส เป็นเวลา 9 ปี 24 เดือน จำคุกนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นเวลา 7 ปี จำคุกนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน จำคุกนายอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน จำคุกนายถาวร เสนเนียม 5 ปี จำคุกนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 4 ปี 8 เดือน และจำคุก เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 4 ปี 16 เดือน รวมทั้งสิ้น 8 คน

จำเลยที่เหลือ ศาลเห็นว่า เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือบางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฏพฤติการณ์รุนแรง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี” ศาลระบุ

นอกจากนี้ ศาลยังมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิทางการเมือง นายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรรคประชาธิปัตย์, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.พรรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์, นายสำราญ รอดเพชร และ นางทยา ทีปสุวรรณ คนละ 5 ปี 

คำพิพากษาดังกล่าว เป็นผลให้คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลง

ต่อมาช่วงค่ำ ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกรวม 8 คน โดยให้ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องการยื่นขอปล่อยตัวขั่วคราว มีผลทำให้คุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเช่นกัน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษา ระบุว่า

ทุกคนทำใจได้ในส่วนของผลของคำพิพากษาในวันนี้ เพราะก่อนที่ทุกคนจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนิรโทษกรรม และต่อต้านระบอบทักษิณก็ได้ทำใจไว้แล้ว ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ยืนยันว่าตลอดเวลาในการต่อสู้ ทั้งแกนนำและผู้ร่วมอุดมการณ์ เคารพกฎหมาย” นายสุเทพ กล่าวต่อสื่อมวลชน

ในวันนี้ มีผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจ มอบดอกกุหลาบสีแดง ให้กับนายสุเทพ และ แกนนำคนอื่น ๆ พร้อมเข้านับฟังคำพิพากษาด้วยเกือบ 100 คน

สำหรับแกนนำ กปปส. ทั้ง 39 คน ซึ่งศาลอ่านคำพิพากษาวันนี้ ประกอบด้วย 1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3. นายชุมพล จุลใส 4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5. นายอิสสระ สมชัย 6. นายวิทยา แก้วภราดัย 7. นายถาวร เสนเนียม 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก 11. พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13. นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14. นายถนอม อ่อนเกตุพล 15. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 16. นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 17. นายสาธิต เซกัล 18. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี 19. พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี 20. พล.ร.อ.เอกชัย สุวรรณภาพ 21. นายแก้วสรร อติโพธิ 22. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 23. นายถวิล เปลี่ยนศรี 24. ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 25. นายมั่นแม้น กะการดี 26. นายคมสัน ทองศิริ 27. พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28. นายพิภพ ธงไชย 29. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 30. นายสุริยะใส กตะศิลา 31. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด 32. นายสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ 33. นายสำราญ รอดเพชร 34. นายอมร อมรรัตนานนท์ 35. นายพิเชฐ พัฒนโชติ 36. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 37. นายกิตติชัย ใสสะอาด 38. นางทยา ทีปสุวรรณ และ 39. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ประวัติการต่อสู้ของ กปปส.

การชุมนุมของประชาชนในนาม กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการยกโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองทุกคน ซึ่งอาจหมายรวมถึง นายทักษิณ ชิณวัตร และนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งประชาชนบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ จึงเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่ สถานีรถไฟสามเสน และใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการปราศรัย ต่อมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ออกจากการพิจารณาแล้ว แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”

จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. ยังคงประท้วงขับไล่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขัดขวางการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. ผู้ร่วมชุมนุมได้เข้ายึดสถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม และระเบิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน ตลอดระยะเวลาการชุมนุมราว 7 เดือน

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนมีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 คน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้นำ ทหารจึงประกาศกฎอัยการศึก และประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง