ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน 8 แกนนำ กปปส. หลังติดคุก 2 วัน
2021.02.26
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ในวันศุกร์นี้ ศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ และอดีตแกนนำอีก 7 คน หลังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 วัน หลังศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ในปี 2556-2557 ด้าน ผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา มองว่าศาลปฏิบัติต่อสองฝ่ายอย่างไม่เท่าเทียมกัน
นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของกลุ่มแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ศาลอาญาเมื่อเวลา 09.15 น. ว่า ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวแกนนำโดยเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันจากเดิม 6 แสนบาท เป็น 8 แสนบาท
“ศาลอุทธรณ์ท่านได้พิจารณาแล้วว่าจำเลยทั้ง 8 คนที่อยู่ในเรือนจำ… ในศาลชั้นต้นทุกคนได้รับการประกันตัวมา ทุกคนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีเหตุใด ๆ ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 8 คนได้ โดยให้ตีราคาหลักประกันคนละ 8 แสนบาท ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ว่าได้รับอนุญาตจากศาล” นายสวัสดิ์ กล่าว
ต่อมาในเวลา 12.10 น. นายสุเทพ, นายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายอิสสระ สมชัย, นายถาวร เสนเนียม, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ และ ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ
นายสุเทพ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนหลังได้รับการปล่อยตัวว่า รู้สึกเสียใจกับการที่อดีตแกนนำ กปปส. ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะถูกพิพากษาจำคุกในคดีนี้
“ผมเสียใจมากก็คือ พี่น้องของผม คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญของประชาชน ในการทำงานในรัฐบาลชุดนี้… เห็นใจเขานะครับว่า ตอนเช้าเดินมาขึ้นศาลก็ยังเป็น ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการอยู่ พอตอนบ่ายก็เป็นผู้ต้องขังชายไปแล้ว…” นายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. กล่าวหลังได้รับการปล่อยตัว
“การประกันตัวออกมาได้ในวันนี้ จะด้วยเหตุผลอย่างไร หรือมีความเป็นมาอย่างไร ขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึง เรียนเพียงแต่ว่าเมื่อได้รับการประกันตัวออกไป ผมก็จะไปรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง จากสำนวนที่ได้มีการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงในศาลมาแล้ว แล้วก็จะรีบทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป” นายสุเทพ ระบุ
ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ (พฤหัสบดี) ว่า จะพูดคุยถึงการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
“การปรับ ครม. ผู้รักษาการก็ต้องนำเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า จากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมีการหารือกันกับตำแหน่งที่ขาดหายไปตรงนี้ มีข้อตกลงอะไรอย่างไร แต่ละพรรคร่วมก็เสนอขึ้นมา ไม่มีปัญหาว่าจะเอาใครดำรงตำแหน่งที่ไหนอย่างไรต่อไป มันไม่ใช่เรื่องที่จะได้เร็ว ๆ วันนี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แม้จะมีข่าวรอยเร้าในรัฐบาลมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน ส่วนการถูกถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีของทั้งสามคนนี้ กลับเป็นผลดีต่อรัฐบาล
“มองอีกแง่หนึ่งนับเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะพรรคเองคงเห็นว่ารัฐมนตรีที่พ้นสภาพทั้งสามรายนั้นมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ ที่นับตั้งแต่ถูกม็อบนักเรียนเลวชุมนุมต่อเนื่อง จี้จุดอ่อนหลายครั้ง จนเสียรังวัดต่อนักเรียนไปไม่น้อย ขณะที่ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็มีนโยบายที่สวนทางกับกระแสสังคมอยู่หลายครั้ง จึงอาจเป็นการดีต่อพรรคด้วยซ้ำที่จะได้วางตัวผู้เล่นใหม่ ๆ ในตำแหน่งเหล่านี้” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุก นายสุเทพ 5 ปี นายชุมพล 9 ปี 24 เดือน และตัดสิทธิทางการเมือง นายพุทธิพงษ์ 7 ปี และพ้นสภาพ รมต. นายณัฏฐพล 6 ปี 16 เดือน พ้นสภาพ รมต. นายอิสสระ 7 ปี 16 เดือน ตัดสิทธิทางการเมือง นายถาวร 5 ปี พ้นสภาพ รมต. นายสุวิทย์ 4 ปี 8 เดือน และ ร.ต. แซมดิน 4 ปี 16 เดือน ตัดสิทธิทางการเมือง โดยเป็นการพิพากษาคดีร่วมกับแกนนำ กปปส. รวมทั้งสิ้น 39 คน ในนั้นเสียชีวิตแล้ว 1 คน และอยู่ระหว่างจำคุก 1 คน 6 คนได้รับการประกันตัว 12 คนศาลให้รอลงอาญา และอีก 12 คนได้รับการยกฟ้อง จากความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152
ทนายยื่นประกัน 4 แกนนำราษฎรบ้าง
หลังจากแกนนำ กปปส. 8 คน ได้รับการประกันตัว นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และอื่น ๆ บ้าง โดยให้เหตุผลในการขอประกันตัว คือ 1. จำเลยได้ยื่นประกันโดยใช้เงินสด 400,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการขอประกันตัวในครั้งก่อน และมีนายประกัน 4 คน ซึ่งเป็นคนที่น่าเชื่อถือ 2. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี 3. จำเลยทั้ง 4 คนเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น และ 4. จำเลยทุกคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน
“ขั้นตอนต่อไป ศาลอาญาจะส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยปกติอาจจะใช้ระยะเวลา 1-3 วัน ก็จะทราบผลว่า ศาลอุทธรณ์จะให้ประกันตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมขอยืนยันหลักการว่า โดยหลักแล้วทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อสู้คดี การไม่อนุญาตให้ประกันตัวควรเป็นเพียงข้อยกเว้นที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น” นายนรเศรษฐ์ กล่าว
ทั้งสี่คน ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 หลังศาลรับฟ้อง จากนั้น มีการขอประกันมาหลายครั้ง
ด้าน นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ความเพี้ยนของระบบตุลาการไทย คคี กปปส. ศาลชั้นต้นตัดสินว่าทำผิดแล้ว แต่ศาลให้ประกันเพราะเชื่อว่าไม่ทำผิดซ้ำ คดีอานนท์ เพนกวิน สมยศ หมอลำแบงค์ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีด้วยซ้ำแต่ศาลไมให้ประกัน อ้างว่าจะทำผิด”
ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัวอดีตแกนนำกปปส. ทั้ง 8 คนนั้น เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ก็ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมชัดเจนเมื่อเทียบกับกรณีของแกนนำกลุ่มราษฎร
“ข้อแตกต่างคืออดีตแกนนำ กปปส. ถูกศาลอาญาตัดสินไปแล้วว่ามีความผิดจริง ขณะที่แกนนำกลุ่มราษฎรนั้นยังอยู่ในขั้นสอบสวน แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว นี่เป็นอำนาจโดยตรงของศาล ฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์นี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมาซึ่งข้อครหาต่อความไม่ยุติธรรมของศาล” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“สิ่งที่น่าสังเกตุอีกประการคือการปฏิบัติต่อผู้ถูกสอบสวนนั้นไม่เท่ากัน กลุ่มราษฎรถูกตัดผมตั้งแต่วันแรกๆ ที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่แกนนำ กปปส. นั้น เข้าไปในเรือนจำเพียงสองคืนเท่านั้น ก่อนจะกลับออกมาในทรงผมที่ยังเหมือนเดิม ยิ่งเพิ่มข้อถกเถียงในสังคมมากขึ้นไปอีกว่าต่อให้ทำผิดแค่ไหน แต่ถ้ามีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คุณก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดีมากกว่าคนอื่น”