พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลังเสร็จสิ้นฉลองปีใหม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.05
กรุงเทพฯ
พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลังเสร็จสิ้นฉลองปีใหม่ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพระนคร ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้กับสถานประกอบการย่านข้าวสาร วันที่ 5 มกราคม 2564
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงในวันพุธนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น หลังจากการฉลองเทศกาลปีใหม่ และเตือนว่าหากประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด จะมีผู้ติดเชื้อวันละหลายหมื่นราย โดย ศบค. เตรียมประชุมเพื่อปรับมาตรการป้องกันโรคศุกร์นี้

พญ. สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า หลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ พบอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากทั้งการติดเชื้อในประเทศและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 

“ตัวเลขติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน วันนี้ 3,899 ราย ดังนั้นหลังวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ยังคงไว้วางใจเรื่องการแพร่ระบาดไม่ได้… คลัสเตอร์ร้านอาหารที่มีรายงานเข้ามาช่วงปีใหม่ มีการไปสอบสวนโรค เป็นการติดเชื้อในร้านอาหารกึ่งผับ เรียกว่าเป็นสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนและเปิดให้บริการ ไม่ได้เปิดให้บริการภายใต้มาตรการโควิดฟรีเซ็ตติง” พญ. สุมนี กล่าว 

“การคาดการณ์ของผู้ติดเชื้อภาพรวมประเทศช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ ถ้าไม่ได้ทำตามมาตรการความปลอดภัยหรือหละหลวม อาจพบว่ามีคนติดเชื้อในช่วงสองสัปดาห์นี้หลายหมื่น (สูงสุด 3 หมื่นรายต่อวันจากกราฟ) เป็นภาพที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ตอนนี้จำนวนผู้เสียชีวิตยังไต่อยู่ในระดับตามคาดการณ์... ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์โอไมครอนก็จริง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น” พญ. สุมนี กล่าวเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ก่อนปีใหม่ ศบค. พบผู้ติดเชื้อรายวันระหว่าง 2,500-3,000 ราย แต่หลังจากการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 3,000-3,800 ราย จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดในช่วงหลังปีใหม่ คือ ชลบุรี และกรุงเทพฯ ส่วนในวันพุธนี้ พบผู้ติดเชื้อสะสม 2.23 ล้านราย เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่ม 19 ราย และเสียชีวิตสะสม 2.17 หมื่นราย 

กรมควบคุมโรคยังเปิดเผยว่า มีประชาชนที่ตรวจหาเชื้อด้วยตนเองจาก Antigen Test Kit (ATK) พบผลว่าติดเชื้ออีก 3,555 ราย ในวันพุธนี้ เฟซบุ๊กเพจ “เส้นด้าย - Zendai” ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่ช่วยเหลือการหาเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระบุผ่านเพจว่า มีคนขอความช่วยเหลือในการหาเตียงเพิ่มขึ้นนับน้อยรายที่สุดในรอบสามเดือน 

ขณะที่ผู้ประกอบการถนนข้าวสารได้ประกาศปิดร้านต่าง ๆ เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 4-6 มกราคม 2565 หลังจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อ 10 ราย ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่ถนนข่าวสารระหว่างวันที่ 30-31 ธันวาคม 2564 

“วันนี้ เจ้าหน้าที่ลงมาพ้นยาฆ่าเชื้อ ที่ผ่านมาถนนข้าวสารมีการตรวจโควิดทุกวัน แต่ต้องยอมรับว่าช่วงปีใหม่คนเยอะจึงอาจมีความผิดพลาด วันพรุ่งนี้ (6 มกราคม) สำนักงานเขตพระนคร จะมาตรวจหาเชื้อให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างประมาณ 2,000 คน” นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ศบค. เตรียมประชุมปรับมาตรการป้องกันโรค ศุกร์นี้ 

ในวันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุม ศบค. ในวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565 นี้ เพื่อปรับสถานการณ์การรับมือโควิด-19 

“รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์การติดเชื้อระลอกหลังปีใหม่เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรก จะประเมินสถานการณ์จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ส่วน 2 สัปดาห์หลัง จะประเมินผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการเสียชีวิต ก่อนตัดสินใจปรับมาตรการต่าง ๆ” นายธนกร ระบุ 

ข้อมูลล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายโควิด-19 พันธุ์โอไมคอน 2,062 ราย ใน 54 จังหวัด 

แพทย์เห็นต่างเรื่องความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจระบุว่า ไทยอาจกำลังเข้าสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง 

“ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี หลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่นี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะก้าวกระโดดหลายหมื่นคนแต่ละวันในไม่ช้า แต่คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจมากเกินไป… เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมมาก่อน จะได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนไม่ช้าก็เร็ว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่… อนาคตเราคงไม่ต้องมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 กันอีกเพราะเราทุกคนได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติชนิดตัวเป็นอ่อนฤทธิ์” นพ. มนูญ ระบุ 

อย่างไรก็ตาม พญ. สุมนี ยืนยันว่า การมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนย่อมดีกว่าการมีภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติแน่นอน เนื่องจากหากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินไปอาจกระทบต่อระบบสาธารณสุข, ประเทศไทยยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และอาจจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิต 

ปัจจุบัน ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 104.54 ล้านโดส โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนสองเข็ม 46.18 ล้านราย และผู้รับวัคซีนเข็มที่สาม 7.05 ล้านราย

สุนทร จงเจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง