สธ. ยืนยันฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดแคลนตามที่เป็นกังวล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.03.28
กรุงเทพ
สธ. ยืนยันฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดแคลนตามที่เป็นกังวล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดปัตตานี ตรวจสอบเชื้อโควิดในครูสอนหนังสือด้วยวิธี ATK วันที่ 11 มีนาคม 2565
เอเอฟพี

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันในวันจันทร์นี้ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาอาการโควิด-19 ไม่ได้ขาดแคลนตามที่ชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสงสัยแต่อย่างใด ขณะที่ยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าวันละสองหมื่นรายมานานกว่าหนึ่งเดือนโดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงประเด็นดังกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทางกระทรวงฯ มีสต็อกยาพอเพียง แต่อาจจะขาดแคลนในบางโรงพยาบาลเพราะมีการสำรองสต็อกยาไว้น้อย 

“โรงพยาบาลทั่วประเทศมีเป็นพันแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งอาจจะสำรองยาไว้น้อย อาจจะมี Shortage (ขาดแคลน) เชิงหลักการอาจจะเป็นไปได้ ส่วนในวิธีปฏิบัติตรงไหนขาดก็แจ้งสาธารณสุขจังหวัด เขาก็จัดยาไปให้เพราะเรามีคลังสำรองอยู่ที่ สสจ. อยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ขาดแน่นอน” นพ. โอภาส กล่าว 

นพ. โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทางโรงพยาบาลไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยบางราย เพราะว่ามีผู้ป่วยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการน้อยมากและไม่ต้องกินยา อีกหนึ่งในสี่บอกว่าอาการป่วยหายเองได้โดยไม่ต้องกินยา และก็ขอรักษาตามอาการ เช่น กินยาลดน้ำมูก แก้ไอก็หาย กินน้ำผึ้งผสมมะนาวเท่านั้น  ส่วนอีกหนึ่งส่วนสี่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ 

ทั้งนี้ ในวันจันทร์นี้ ชมรมแพทย์ชนบทระบุผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ประเทศไทยยังคงขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์มาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยกล่าวว่า “ช่วงเดือนสองเดือนนี้ ฟาวิพิราเวียร์มีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น” 

ชมรมแพทย์ชนบทได้แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยระบุว่ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ซึ่งมีผลวิจัยรองรับว่า หากคนไข้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วยจะช่วยลดภาวะป่วยหนักได้ดี

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ไทยนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ในครึ่งหลังของปี 2564 รวมแล้ว 20.1 ล้านเม็ด โดยเดือนสิงหาคม 2564 นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวีย ได้เดือนละ 40 ล้านเม็ด 

ต่อมา ภญ. ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รอง ผอ. อภ. ให้ข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า อภ. สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ไว้แล้ว 24 ล้านเม็ด และกำลังดำเนินการผลิตเพิ่มอีก 60 ล้านเม็ด 

“ตอนนี้อาจจะเป็นข่าวที่มันอาจจะสับสนไปบ้าง เพราะว่ามันก็มีความพยายามด้อยค่าฟาร์วิพิราเวียร์อยู่ ทั้งที่ตัวยานี้เองก็เป็นยาที่ประเทศไทยได้ใช้รักษาผู้ป่วยมาโดยตลอด” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในวันจันทร์นี้ 

นับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เกินสองหมื่นรายต่อวันและทรงตัวอยู่ในระดับนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยในวันจันทร์นี้ พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 24,635 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 3.55 ล้านราย

กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินสถานการณ์ว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 หากยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 จะค่อย ๆ ลดลง และ 1 กรกฎาคม 2565 คือ วันที่ตั้งเป้าหมายว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่สถานการณ์ต้องเข้าเงื่อนไขสำคัญคือ การเสียชีวิตจากโควิด-19 ต้องมีอัตราส่วนเป็น 0.10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น หรือตั้งแต่เข็มที่สามขึ้นไป ต้องครอบคลุมมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนกำลังเข้าสู่การเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งในปีนี้ได้มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคลงมาบ้าง โดยให้สามารถมีการรดน้ำดำหัวตามประเพณี และจัดงานรื่นเริง ในพื้นที่ควบคุมได้ แต่ห้ามการประแป้ง การจัดปาร์ตี้โฟม และการดื่มเครื่องมึนเมาในทุกสถานที่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง