รัฐประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิดและยุบ ศบค. 30 ก.ย. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.09.23
กรุงเทพฯ
รัฐประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิดและยุบ ศบค. 30 ก.ย. นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้นำท้องถิ่นระหว่างการเยือนจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565
เอเอฟพี

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพราะสถานการณ์คลี่คลายลง โดยจะมีผลให้ ศบค. สิ้นสุดลงด้วย

ด้านนักกิจกรรมการเมืองชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อการเมืองมาโดยตลอด แต่การยกเลิกจะไม่มีนัยสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

นพ. ทวีศิลป์ เปิดเผยผลการประชุม ศบค. ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมว่าภาพรวมการแพร่ระบาดของโรคดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตลดลง เป็นเหตุผลให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมโรค

“หน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงสามารถนำมาตรการตามกฎหมายเข้าแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว ที่ประชุมจึงได้มีมติ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร” นพ. ทวีศิลป์ ระบุ

นพ. ทวีศิลป์ ระบุว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกและไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง การดำเนินชีวิตของคน และการดำเนินเศรษฐกิจสามารถทำได้อย่างปกติ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และกำหนดกรอบนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ภายหลังโควิด-19 ปรับสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่างชัดเจนแล้ว ทำให้มีมติดังกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกวันที่ 24 มีนาคม 2563 และถูกขยายระยะเวลามา 19 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 โดยหลังจากวันที่ 30 กันยายนนี้ รัฐบาลจะได้ใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคำสั่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศก่อนหน้านี้ จะถูกยกเลิกทั้งหมด

นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกล่าวหารัฐใช้ พ...ฉุกเฉินฯ กดดัน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์จากประชาชนว่า รัฐบาลใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยเหตุผลทางการเมืองเพื่อรวบอำนาจการสั่งการมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี และควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน และนักกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจาก มีผู้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,467 คน ใน 647 คดี ตั้งแต่ปี 2563 ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน 5 ราย ซึ่งชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตคนทำงานข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพิ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อประเด็นดังกล่าว นายปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมทางการเมือง เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่มีผลกับการชุมนุมทางการเมืองมากนัก

“ผมเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลทางการเมืองมาตลอด ไม่ได้ใช้เพื่อการควบคุมโรคอย่างที่อ้าง โดยใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการปรามปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ตอนนี้ รัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่น่าจะมีผลอะไรกับผู้ชุมนุม เพราะรัฐบาลยังมีกฎหมายอีกหลายตัวที่มีโทษหนักกว่าไว้จัดการกับผู้ชุมนุม เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ​ซึ่งผู้ชุมนุมน่าจะกังวลมากกว่า” นายปิยรัฐ กล่าว

ในวันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับนักกิจกรรม

“ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยคำนึงถึงความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) อนุญาตเเละคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ในพื้นที่อย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เเละประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงข่าวว่า ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 จากประเทศจีน 1 ราย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกนอกจีนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 4.67 ล้านราย เสียชีวิต 3.26 หมื่นราย โดยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั้งสิ้น 143.21 ล้านโดสขณะที่ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อ 614.09 ล้านราย มีผู้เสียชีวิต 6.53 ล้านราย และสามารถฉีดวัคซีนไปทั้งสิ้น 1.22 หมื่นล้านโดส

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง