อนุทินติดโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 6 เข็ม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.06.28
กรุงเทพฯ
อนุทินติดโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 6 เข็ม อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างการแถลงข่าว หลังจากลงนามถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
เอพี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดเชื้อโควิด-19 ตามการยืนยันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แม้ว่า นายอนุทิน จะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 6 เข็มแล้วก็ตาม โดยนายอนุทิน ทำการรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากมีอาการไม่รุนแรง

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ตนเองได้รับการอนุญาตจากนายอนุทิน ให้เปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งระบุว่า นายอนุทิน ติดโควิด-19

“นายอนุทิน มีอาการระคายคอเล็กน้อย ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ ตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้ว ตอนนี้ก็พักรักษาที่บ้าน โดยมีอาการน้อยมากเป็นเพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งแพทย์มีดุลยพินิจให้ยาโมลนูพิราเวียร์” นพ. เกียรติภูมิ กล่าวในวันอังคาร

ขณะที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอนุทิน ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ภาพถ่าย ATK เป็นบวก และข้อความ “ขอบพระคุณสำหรับความห่วงใยของเพื่อน ๆ ทุกคนครับ” เพื่อเป็นการยืนยันการติดเชื้อ และขอบคุณผู้ที่ให้กำลังใจ

เมื่อวันที่ 19-21 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ได้เดินทางไปร่วมประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 170 ของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE 170th General Assembly) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร UNAIDS ครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายอนุทิน เพิ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 6 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราฯ 2 เข็ม และไฟเซอร์ 1 เข็มไปแล้วตั้งแต่ปี 2564

ด้าน นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยกับสื่อมวลชน กรณีที่มีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ถึงการที่ สธ. จ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ให้แก่นายอนุทิน ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับยารักษา

“ข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ แต่หากประเมินด้วยสายตาทุกคนก็เห็นว่า ท่านรองนายกฯ น้ำหนักเกินเข้าข่ายว่าอ้วน และมีอาการเล็กน้อยเข้าข่ายการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ และเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ กรณีของท่านรองนายกฯ ยืนยันอีกครั้งว่าคุณหมอที่ดูแลประเมินแล้วว่าเข้าข่ายให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์อะไรเป็นพิเศษ” นพ. สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในเดือนมกราคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสม 4.51 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 3.06 หมื่นราย ฉีดวัคซีนแล้ว 138.72 ล้านโดส เป็นเข็มที่สาม 29.18 ล้านราย

รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ “ยกเลิกระบบ Thailand Pass” และยกเลิกการบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำประกันสุขภาพ มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เพียงต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน (Certificate of Vaccination) หรือในกรณีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบโดส ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบด้วยวิธีตามที่กำหนด

ก่อนหน้านี้ วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 46 ให้ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ และให้ยกเลิกพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว โดยประกาศดังกล่าวให้มีผลทันที

ทั้งนี้ ประเด็นที่แม้นายอนุทิน จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 6 เข็มแล้ว แต่ยังพบว่าติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการฉัดวัคซีน นพ. เกียรติภูมิ ระบุว่า “วัคซีนโควิดมีประโยชน์ ผลการศึกษาวัคซีนบูสเตอร์โดสพบว่า ป้องกันติดเชื้อได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็ยังติดเชื้อได้อยู่ แต่ป้องกันความรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง