สธ. พบคนงานไทย-เมียนมา-กัมพูชา ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย 36 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.21
กรุงเทพฯ
สธ. พบคนงานไทย-เมียนมา-กัมพูชา ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย 36 ราย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำการตรวจสุขภาพ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียเป็นครั้งแรก จำนวน 36 คน เป็นคนงานไทย เมียนมา และกัมพูชา ที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้างย่านเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า สายพันธุ์อินเดียไม่ได้มีความน่ากลัวกว่าสายพันธุ์จีนหรืออังกฤษ ที่ระบาดมาก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลาสองเดือน จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้

“จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส Covid-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่ส่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 80 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) จำนวน 36 ราย เป็นคนไทย 21 ราย คนงานชาวพม่า 10 ราย และกัมพูชา 5 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) และยังมีตัวอย่างจากการค้นหาเชิงรุกจากพื้นที่อื่นใน กทม. อีก 2 แห่ง แต่พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด” นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ เปิดเผยทางเฟซบุ๊ก

“ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย เชื้อที่พบจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ 87% เพิ่งตรวจพบสายพันธุ์อินเดีย และจะได้ขยายการนำตัวอย่างจากคลัสเตอร์อื่นๆ มาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการกระจายตัวต่อไป” นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความกังวลของประชาชนต่อเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียว่า ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่พบว่าสายพันธุ์อินเดียมีความอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นที่พบก่อนหน้านี้

“ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับสายพันธุ์อินเดีย ประเทศอังกฤษรายงานว่า สายพันธุ์นี้การแพร่กระจายโรคของมันไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ความรุนแรงของโรค จากข้อมูลขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนหลักที่เรากำลังจะใช้อยู่ แอสตราเซเนกา ตัวอย่างที่ดีคือประเทศอังกฤษซึ่งพบทั้งสายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย เขาใช้แอสตราเซเนกา เป็นหลัก ก็พบว่าการระบาดของเขาน้อยลง” นพ. โอภาส กล่าว

นพ. โอภาส ระบุว่า ปัจจุบัน สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่พบในทั่วโลก และถูกพูดถึง ประกอบด้วย สายพันธุ์ดั่งเดิมซึ่งพบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์อินเดีย สำหรับสายพันธุ์อินเดียพบระบาดมากในประเทศอินเดีย อังกฤษ และในประเทศเพื่อนบ้านของไทย พบที่ประเทศมาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์

ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียได้เผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่มีการยืนยัน เช่น สายพันธุ์อินเดียฝังลึกในปอด ไม่สามารถใช้วิธีแยงจมูกได้ ไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธี PCR ได้ ต้องใช้การตรวจเลือด กระจายเชื้อได้เร็ว และดื้อวัคซีน เป็นต้น

ที่ประชุม ศบค. มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมสถานการณ์แพร่ระบาด

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป

“การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการขยายเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ด้วยเหตุผลเรื่องการควบคุมโรคเป็นหลัก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกประกาศใช้ครั้งแรก ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ในขณะเดียวกัน ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบให้ การประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2564 นี้ สมาชิกรัฐสภาทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และสวมใส่หน้ากากระหว่างการประชุมตลอดเวลา โดยจะได้อนุมัติวัคซีนให้รัฐสภาใช้ฉีดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 2 พันโดสด้วย

ศบค. ระบุว่า ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 32 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 735 ราย หรือ 0.60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย มีผู้ป่วยใหม่ 3,481 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปีที่แล้ว 123,066 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 42,827 ราย อาการหนัก 1,248 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2,648,256 โดส เป็นเข็มแรก 1,726,431 ราย และเข็มที่สอง 921,825 ราย

ด้านกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า พบผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 842 ราย รักษาหาย 319 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,049 ราย มีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อ 12 แห่ง โดยเรือนจำกลางเชียงใหม่, เรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อ และยังรักษาตัวอยู่มากที่สุด

เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป พร้อมกัน 7 มิถุนายน 2564

นพ.ทวีศิลป์ ยังได้ระบุว่า ที่ประชุม ศบค. มีการปรึกษาหารือเรื่องการฉีดวัคซีน โดยจะดำเนินการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยเตรียมแผนรองรับการฉีดวัคซีนไว้แล้วดังนี้

“จะมีดีเดย์ฉีดพร้อมกัน คือ 7 มิถุนายน สามช่องทางที่เป็นแผนกระจายวัคซีน หนึ่ง คือผ่านระบบหมอพร้อม สอง ลงทะเบียน ณ จุดบริการ และ สาม กระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข้อมูลของ ศบค. ระบุว่า ในต่างจังหวัดตั้งเป้าหมายให้ฉีดวัคซีนได้ 779,868 คนต่อวัน มีจุดฉีดวัคซีน 993 แห่ง มีโรงพยาบาลสนาม 261 แห่ง และมีจุดลงทะเบียน 221 แห่ง ขณะที่ กรุงเทพฯ ตั้งเป้าให้ฉีดได้ 80,000 คนต่อวัน จะมีจุดฉีด ที่เป็นความร่วมมือกับหอการค้า 25 จุด ฉีดที่โรงพยาบาล 126 แห่ง และจุดฉีดอื่น ๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง