ศบค. รายงานยอดผู้ติดโควิดทะลุ 2 หมื่น

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.02
กรุงเทพฯ
ศบค. รายงานยอดผู้ติดโควิดทะลุ 2 หมื่น นักเรียนเข้าแถวตอนเช้า ในวันเปิดเรียนอีกครั้ง ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ หลังจากปิดชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยรัฐได้คลายมาตรการเข้ม ประกาศให้โรงเรียนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเปิดเรียนได้ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุหลักสองหมื่นคนแล้ว ด้านกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นรูปแบบสมัครใจ แต่หากผู้ที่ฉีดไปแล้วได้รับผลข้างเคียงรัฐบาลจะชดเชยให้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในการแถลงสถานการณ์ประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 836 ราย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 20,454 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย โดยรายที่อายุน้อยที่สุดของวันคือ เด็กแรกเกิดอายุ 26 วัน ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่พบอายุมากที่สุดคือ 81 ปี หายป่วยแล้ว 13,217 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 6,921 ราย

“ประจำวันของไทยเรา 836 ราย สำหรับวันนี้ ยืนยันสะสมอยู่ที่ 20,454 วันนี้เป็นวันแรกที่แตะ 2 หมื่นราย สะสมสูงที่สุดตั้งแต่เราได้รายงานมา หายป่วยไปแล้ว 1.3 หมื่นกว่าคน เพิ่มขึ้น 703 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 คน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาการผู้อำนวยการกองการควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้เสียชีวิตในวันนี้ เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวทั้งคู่

“ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมา 2 ราย รายแรกนี่เป็นหญิงไทยอายุ 75 ปี สูงอายุแล้วก็มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง แล้วก็มีเลือดสูง ระยะเวลาการป่วยค่อนข้างจะสั้นนิดนึง เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า คือ สามี ไม่มีอาการ 25 มกราคม ไปตรวจเชื้อระหว่างที่รอผลตรวจ อาการทรุดหนัก มีอาการเหนื่อย แล้วก็มาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มกราคม เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่สมุทรสาคร” นพ.เฉวตสรร กล่าว

“อีกท่านนึงเป็นเพศชาย อายุ 68 ปีอาชีพค้าขาย รักษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประวัติความเสี่ยงตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรสาคร แล้วก็มีประวัติไปร้านคาราโอเกะช่วงวันที่ 25 ธันวาคม ย่านปิ่นเกล้า เริ่มป่วย 30 ธันวาคม เพิ่งมาเสียชีวิต วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ประวัติปลูกถ่ายไต” นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่ม

ใครฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียง รัฐจะเยียวยาให้

ในวันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ซึ่งรับผิดชอบเรื่องวัคซีนโควิด-19 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในช่วงบ่ายว่า การฉีดวัคซีนในประเทศไทยจะเป็นแบบสมัครใจ แต่จะฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าก่อนเป็นอันดับแรก

“การฉีดวัคซีนท่านจะฉีดหรือไม่ ท่านต้องคิดเอง แต่ต้องเข้าใจนะครับว่า ความเสี่ยงจากวัคซีน เมื่อเทียบกับความเสี่ยงการติดโรคแล้วเนี่ย เราจะเห็นว่า ความเสี่ยงจากการติดโรคแล้วป่วยมันมีมากกว่า… ถ้ามีการสูญเสีย และพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากวัคซีน ยืนยันว่ารัฐต้องจ่าย เพราะอันนี้มีการคุยกันแล้ว แต่ว่าต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ออกมาก่อน ผลข้างเคียง คนที่อายุต่ำกว่า 65 (ปี) เจอมากกว่า (คนอายุมากกว่า 65 ปี)” นพ.ทวี กล่าว

“วัคซีนเวลาฉีดเข้าไป มันเป็นชีววัตถุ เพราะฉะนั้นผลข้างเคียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอยู่แล้ว ปวด บวม แดงร้อน เช่น แอสตราเซเนกา ที่เราเพิ่งขึ้นทะเบียน (วันที่ 21 มกราคม 2564) พบประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์… เข็มแรกจะมีผลข้างเคียงกว่าเข็มที่สอง เพราะฉะนั้นผลข้างเคียงระดับนี้ คงจะกินพาราเซตามอลแล้วก็หาย นอนแล้วก็หาย ผลข้างเคียงขนาดต้องอยู่ในโรงพยาบาล ไข้สูงมากจะพบว่า กลุ่มที่เป็นแอสตราเซเนกาแค่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ที่รุนแรง” นพ.ทวี กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับปริมาณและวันเวลาที่แน่นอนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนว่า ปัจจุบัน ยังไม่สามารถเปิดปริมาณ และวันที่จะนำเข้าวัคซีนได้ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

“บางครั้งการที่แจ้งรายละเอียดไม่ได้เป็นผลดีกับประเทศไทย เลยอยากที่จะขอละไว้ตรงนี้ว่า จำนวนที่จะเข้ามา จะเข้ามาเมื่อไหร่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของจำนวนที่จะเข้ามาในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นของแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส อันนี้ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว ในส่วนของซิโนแวค ซึ่งบอกว่าตัวเลขยังไม่สามารถจะพูดได้อีกเช่นกันเพราะว่า ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ยังไม่เสร็จสิ้น ก็คงต้องรอให้ผ่านให้ครบถ้วนก่อน” นายอนุชา กล่าว

“ส่วนเรื่องการจัดหา จัดซื้อจากแหล่งอื่น ๆ ก็เป็นการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องที่ทางท่านรัฐมนตรีได้มอบนโยบายไปแล้ว ไม่ใช่เป็นการซื้อจากบริษัทบางบริษัทเท่านั้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณก็ดี การดำเนินนโยบาย คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเนี่ยก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ามีการสอบถามขึ้นมาในรายละเอียด ก็จะเป็นรายละเอียดให้ทางรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้ลุกขึ้นมาชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบมากขึ้น” กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในปี 2564 โดยจะเป็นการนำเข้าวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ-สวีเดน มูลค่า 6,049 ล้านบาท โดยในการฉีดประชาชนต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์ ต่อมารัฐบาลเปิดเผยว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของไทยจะเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตวัคซีนตามสูตรของแอสตราเซเนกา โดยจะมีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาการผลิตวัคซีนนี้

ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า วัคซีน 50,000 โดสแรก จะถูกฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงจะเกิดโรคก่อน โดยจะเลือกพื้นที่เสี่ยงที่สุด เช่น จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร อ.แม่สอด จ.ตาก และจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะนำเข้า 50,000 โดสแรกจากอิตาลี จากนั้นจะเข้ามาอีก 100,000 โดส โดยจะให้ทันฉีดให้ประชาชนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแก่สื่อมวลชนในวันที่ 29 มกราคม 2564 ว่า ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลพยายามสั่งซื้อเร่งด่วน เพื่อให้ทันฉีดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อาจมีปัญหาล่าช้า เนื่องจาก สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกแถลงการณ์เตือน บริษัท แอสตราเซเนกา ถึงการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ไปยังนอกภาคพื้นยุโรป ด้วยแอสตราเซเนกาประสบปัญหาล่าช้าในการผลิต และแม้แผนที่จะส่งวัคซีน 80 ล้านโดส ให้กับ 27 สมาชิกอียูในเดือนมีนาคม 2564 แต่ล่าสุด มีข่าวว่าอาจส่งในยุโรปได้เพียงราว 31 ล้านโดส เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทไม่สามารถส่งวัคซีนมายังประเทศไทยได้ตามกำหนดเดิม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง