ศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไทยแบบ Test and Go อีกครั้ง 1 ก.พ. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2022.01.20
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไทยแบบ Test and Go อีกครั้ง 1 ก.พ. นี้ นักท่องเที่ยวเดินข้ามถนน ด้านหน้าเขตพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565
รอยเตอร์

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเห็นชอบ ในวันพฤหัสบดีนี้ ให้ประเทศไทยกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ได้สั่งหยุดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแบบไม่กักตัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่าเนื่องจากสถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอัตราการครองเตียงน้อยกว่าหนึ่งในสาม จากเตียงทั่วประเทศประมาณ 147,000 เตียง  

ขณะเดียวกัน เห็นชอบให้ต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมที่จะหมดอายุสิ้นเดือนนี้ และมีแผนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี ด้าน ผู้ประกอบการร้านอาหารและท่องเที่ยวแนะรัฐอย่าเปลี่ยนมาตรการกลับไปกลับมา

นพ. ทวีศิลป์ แถลงผลการประชุม ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยปรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสมแล้ว

“เสนอขอให้ต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 2 เดือน ที่ประชุมก็รับทราบและเห็นชอบ ก็เป็นคราวที่ 16 ใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคเป็นหลักสำคัญ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2565"

"ที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ เริ่มลงทะเบียนใหม่ได้ โดยอนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศ แต่ต้องจองโรงแรมในการพักวันที่ 1 และ วันที่ 5 และต้องตรวจ RT-PCR ในวันที่พักวันแรกกับวันที่ 5 ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต้องจ่ายเอง” นพ. ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ การเดินทางเข้าประเทศไทยแบบ Test and Go (ไม่กักตัว) ต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass และมีเงื่อนไขว่า นักท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม, ผลตรวจโควิด-19 จากประเทศต้นทางเป็นลบ, ทำประกันมูลค่าอย่างน้อย 5 หมื่นดอลลาร์ และต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบจึงจะเดินทางออกจากโรงแรมไปท่องเที่ยวได้ ซึ่งรัฐบาลเคยใช้มาตรการนี้ แต่สั่งให้ระงับไปในวันที่ 21 ธันวาคม 2564

ประเทศไทยมีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-18 มกราคม 2565 จำนวน 389,695 คน และมีผู้ลงทะเบียนขอเข้าประเทศช่วงวันที่ 19 มกราคม-30 เมษายน 2565 จำนวน 13,612 คน และเข้าประเทศผ่านระบบ Sandbox ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-18 มกราคม 2565 จำนวน 10,4687 คน ผู้ลงทะเบียนขอเข้าประเทศช่วงวันที่ 19 มกราคม-30 เมษายน 2565 จำนวน 26,510 คน

ปรับพื้นที่ควบคุม เพื่อการท่องเที่ยว

นพ. ทวีศิลป์ ระบุว่า ศบค. ยังได้ปรับมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยให้ไม่มีพื้นที่จังหวัดใดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด-สีแดงเข้ม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด-สีแดง โดยประกาศล่าสุด 69 จังหวัด ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีแดง ให้ปรับเป็นพื้นที่ควบคุม-สีส้ม 44 จังหวัด และเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง-สีเหลือง 25 จังหวัด คงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัดตามเดิม

เพื่อการรองรับนักท่องเที่ยวจึงได้เปิดพื้นที่ Sandbox เพิ่มจากเดิมที่มีเพียงจังหวัดภูเก็ต, กระบี่, พังงา และสุราษฎร์ธานี (เฉพาะ เกาะสมุย พะงัน และเต่า) ให้เพิ่ม ชลบุรี (อำเภอบางละมุง ศรีราชา เกาะสีชัง สัตหีบ และเมืองพัทยา) และตราด (เกาะช้าง) โดยพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ร้านอาหารสามารถให้ดื่มแอลกฮอล์ภายในร้านได้จากเดิมถึง 21.00 น. ขยายเป็นถึง 23.00 น. ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2564

มาตรการรัฐปรับเปลี่ยนไปมา สร้างปัญหาแก่ธุรกิจท่องเที่ยว

การปรับเปลี่ยนมาตรการรับนักท่องเที่ยว น.ส. หทัยชนก ต๊ะพานิชย์ เจ้าของโฮสเทลปันฮัก จ.เชียงราย ชี้ว่าการเปลี่ยนมาตรการกลับไปกลับมาของรัฐสร้างปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยว

“มาตรการรัฐสร้างปัญหาให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว ปัญหาการกักตัวไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทำให้คนวางแผนไม่ได้ การเปลี่ยนแต่ละครั้งไม่มีการจัดการรองรับที่ดี คิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่ปรึกษาใคร เรามีลูกค้าต่างชาติจองห้องเอาไว้ยาวครึ่งเดือนหลังปีใหม่ แต่เจอมาตรการนี้ สุดท้ายเราเสียลูกค้าต่างชาติทั้งหมด และต้องคืนเงินมัดจำด้วย ทั้งหมดนี้มาจากการไม่พยายามจัดการปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของรัฐบาล” น.ส. หทัยชนก กล่าว

นายภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ เจ้าของร้าน Let it Beer และศรีนักริน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระบุว่า “การตัดสินใจผ่อนคลายเร็วเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาปิดมา 6 รอบแล้ว การสั่งปิดๆ เปิดๆ กระทบผู้ประกอบการมาก รัฐควรสั่งให้เด็ดขาดและมาตรการท่องถิ่นควรสอดคล้องกับส่วนกลาง รัฐไม่ควรยึดติดกับตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 และเปลี่ยนมากำหนดมาตรการเร่งให้คนฉีดวัคซีน เช่น ให้เฉพาะคนฉีดวัคซีนสามารถดื่มกิน หรือเที่ยวได้ น่าจะกระตุ้นให้คนที่ไม่ฉีดวัคซีนออกมาฉีดมากขึ้น” นายภูริพงศ์ กล่าว

จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้รับการฉีดวัคซีน

ในวันพฤหัสบดีนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 8,129 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2.35 ล้านราย และเสียชีวิต 2.19 หมื่นราย สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว 110.79 ล้านโดส เป็นคนที่ฉีดครบสองเข็ม 47.83 ล้านราย และฉีดสามเข็ม 11.04 ล้านราย

ในวันเดียวกัน นพ. ทวีศิลป์ ระบุว่า “วัคซีนเด็กจะให้กลุ่มเด็ก 5-11 ปี ที่เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถฉีดผ่านระบบสถานศึกษาก่อน ระยะถัดมา ดำเนินการผ่านระบบสถานศึกษาจัดสรรให้เด็กถึงชั้น ป.6 ต้นเดือนกุมภาพันธ์ก็จะได้”​นพ. ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยก่อนหน้านี้ นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า วัคซีนเด็กล็อตแรกของบริษัท ไฟเซอร์ จะถูกส่งถึงประเทศไทย วันที่ 26 มกราคม 2565 จำนวน 3 ล้านโดส จากทั้งหมด 10 ล้านโดส หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ กรมควบคุมโรคจะกระจายวัคซีนไปยังทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้กับเด็ก ในต้นเดือนกุมภาพันธ์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง