ไทยห้ามผู้เดินทางจากปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล เข้าประเทศชั่วคราว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.10
กรุงเทพฯ
ไทยห้ามผู้เดินทางจากปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล เข้าประเทศชั่วคราว บุคลากรทางการแพทย์ตรวจความดันโลหิตของประชาชน ก่อนฉีดวัคซีนแก่สมาชิกในชุมชนคลองเตย ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 พฤษภาคม 2564
เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ กระทรวงการต่างประเทศไทย มีคำสั่งให้ระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางของผู้ต้องการเดินทางจากประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล มายังประเทศไทย หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียในประเทศไทยรายแรก หลังเดินทางกลับมาจากปากีสถาน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า กระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งระงับการออก หนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย (Certificate of Entry-COE) จาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย และให้มีผลทันที

“ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หารือเกี่ยวกับการพบเชื้อกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกที่อินเดีย ในผู้เดินทางจากปากีสถาน ที่ประชุมขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาระงับการออก COE ให้แก่ชาวต่างชาติจากประเทศที่พบเชื้อกลายพันธุ์ ที่พบครั้งแรกที่อินเดีย จำนวนมาก ซึ่ง กต. แจ้งว่า จะระงับการออก COE ให้แก่ชาวต่างชาติจากปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล ตั้งแต่วันนี้” นายธานี กล่าว

“นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่เดินทางออกจากสี่ประเทศข้างต้น และเปลี่ยนเครื่อง (Transit) ในประเทศอื่น หรือไปท่องเที่ยวหรือผ่านทางไปยังสี่ ประเทศข้างต้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยเช่นกัน มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงที่ต้องระวังเชื้อกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกที่อินเดีย เข้าประเทศเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติทุกสัญชาติจาก 3 ประเทศดังกล่าว แต่ไม่ได้ห้ามคนไทยแต่อย่างใด คนไทยสามารถเดินทางกลับได้” นายธานี ระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Royal Thai Embassy, New Delhi ประกาศยกเลิกและระงับการออก หนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย สําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางชาติอื่นแล้วเช่นกัน โดยให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลสืบเนื่องจาก พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียเป็นรายแรกแล้ว หลังจากเดินทางจากประเทศปากีสถานมายังประเทศไทย

“ผู้เดินทางจากปากีสถานมีการตรวจพบสายพันธุ์ อินเดียนแวเรียนท์เป็นรายแรกของไทย ซึ่งวันนี้กรมควบคุมโรคได้รายงานกรณี หญิงไทย อายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ด้วย ซึ่งมีภูมิลำเนาก่อนหน้านี้อยู่ที่ปากีสถานเดินทาง มาถึงไทย ตั้งแต่ 24 เมษายน ก่อนเดินทางมีการแวะพักเครื่องที่ดูไบ และจากผู้หญิงเคสนี้ เดินทางมาพร้อมบุตรชาย 3 คน ได้รับการจัดสรรให้อยู่ในสเตทควอรันทีน 26 เมษายน การตรวจโควิด เป็นผลบวก พบยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์อินเดีย บี.1.617.1” พญ.อภิสมัย กล่าว

“สายพันธุ์อินเดียนี้มีการระบาดที่อินเดีย ตั้งแต่ตุลาคม 2563 และตอนนี้เริ่มมีรายงานไปยังปากีสถาน บังคลาเทศ และเนปาล อังกฤษ เยอรมนี อเมริกา เอเชียมีรายงานแล้วที่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และบาห์เรนห์… เที่ยวบินจากอินเดียทั้งหมดตอนนี้เป็นการพาคนไทยกลับบ้าน วันที่ 8 พฤษภาคม มีการเดินทางจากประเทศอินเดียถึงสนามบินสุวรรณภูมิเป็นคนไทยทั้งหมด 94 คน ทุกท่านในที่นี้ได้รับการดูแลในสเตทควอรันทีนทั้งหมด” พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติม

พญ.อภิสมัย ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 1,630 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 85,005 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 421 ราย ยังมีผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 29,376 ราย ในนั้นอาการหนัก 1,151 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 389 ราย และฉีดวัคซีนโควิด-19ไปแล้ว 1,809,894 โดส เป็นเข็มแรก 1,296,440 ราย และเข็มที่สอง 513,454 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทั่วประเทศมีผู้ลงทะเบียนรอรับวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 1.5 ล้านคน โดยจังหวัดที่ลงทะเบียนมากที่สุดประกอบด้วย กรุงเทพ 516,282 คน ลำปาง 223,976 คน นนทบุรี 51,113 คน สมุทรปราการ 44,962 คน เชียงใหม่ 43,869 คน และจังหวัดอื่น ๆ

ปัจจุบัน แผนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ บริษัท ซิโนแวค ไบออเทค ประเทศจีน 6 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 5 แสนโดส โดยปัจจุบัน นำเข้ามาแล้ว 3.5 ล้านโดส และเตรียมจะนำเข้าในกลางเดือนและปลายเดือนพฤษภาคม 2564 อีก 2.5 ล้านโดส

บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน/อังกฤษ 61 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็น 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท วัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วนจะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท และสปุตนิก วี ประเทศรัสเซียด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง