นายกฯ ยืนยัน คนไทยจะได้รับวัคซีนฟรี โดยครึ่งประเทศจะได้รับภายในปีนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.01.06
กรุงเทพฯ
นายกฯ ยืนยัน คนไทยจะได้รับวัคซีนฟรี โดยครึ่งประเทศจะได้รับภายในปีนี้ ผู้คนสวมหน้ากากอนามัย ขณะออกจับจ่ายซื้อของ ย่านถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ วันที่ 6 มกราคม 2564
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้เซ็นสัญญานำเข้าจากต่างประเทศให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจะสามารถฉีดให้ประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้ ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) แถลงยึดถุงมือยางใช้แล้วซึ่งเตรียมจะนำกลับขายซ้ำ 3 ล้านชิ้น มูลค่า 200 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงไทยจะพัฒนาวัคซีนของตัวเองเพื่อที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ด้วย

“รัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีนฟรี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทยให้ได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งประเทศ ภายในปีนี้ครับ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้อมูลบนแฟนเพจโดยสรุปว่า วัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทยในเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจะได้รับการฉีดก่อน 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส โดยยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป ทำให้รวมทั้งหมดไทยนำเข้าวัคซีนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส

“ระยะยั่งยืน เราได้ตั้งศูนย์การผลิตในประเทศอยู่ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีโรงงานอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างใหม่ โดยได้การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาแล้ว สามารถผลิตวัคซีนตามมาตรฐานของอ็อกฟอร์ดและแอสตราเซเนกา โดยมีกำลังการผลิตที่ 200 ล้านโดสต่อปี นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะเป็นอีกแหล่งผลิตภายในประเทศ หากเราทำตามสิ่งที่ผมเล่ามาได้ ก็จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) ได้อีกด้วยครับ” ข้อความตอนหนึ่ง ระบุ

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า เอกชนในประเทศจะสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้โดยรัฐบาลจะไม่กีดกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่จะนำเข้าต้องผ่านมาตรฐาน อย. ของไทยก่อน

“นโยบายที่ผมให้กับกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ต้น คือ รัฐบาลไม่ผูกขาดการนำเข้าวัคซีน และเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อม นำเข้าวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนได้ แต่ต้องดำเนินการตามกฎหมายและไม่มีการโฆษณาให้จองซื้อ หรือจ่ายเงินบางส่วนหรือเต็มจำนวน ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนพร้อมให้บริการ เนื่องจากผิดกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ระบุว่า วีคซีนบริษัทต่าง ๆ สามารถมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยปัจจุบัน วัคซีนของแอสตราเซเนกา กำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ขณะที่วัคซีนของซิโนแวค ก็กำลังดำเนินการเช่นกัน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 365 ราย ในนั้นมาจากต่างประเทศ 16 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 249 ราย และเป็นการค้นหาเชิงรุกในชุมชนและโรงงาน 99 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 9,331 ราย รักษาตัวหายและกลับบ้านแล้ว 4,418 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย และพบการแพร่ระบาดใน 56 จังหวัดแล้ว

210106-TH-police-raid-rubbergloves.jpg

เจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์การอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวการยึดถุงมือยางใช้แล้ว 3 ล้านชิ้น ที่เตรียมส่งขายต่างประเทศจากโกดังย่านหนองแขม กทม. วันที่ 6 มกราคม 2564 (เบนาร์นิวส์)

ตำรวจแถลงยึดถุงมือยางใช้แล้ว เตรียมขายซ้ำ 3 ล้านชิ้น มูลค่า 200 ล้านบาท

พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า การยึดถุงมือยางครั้งนี้เกิดขึ้นที่ ร้านเดอะซีรีย์ 90 ผับแอนด์เรสเตอรองท์ แขวงและเขตหนองแขม กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน ร้านถูกแปลงให้เป็นโกดังเก็บสินค้า ด้านในมีถุงมือยางใช้แล้วคละสีกว่า 3 ล้านชิ้น ซึ่งเตรียมนำมาบรรจุกล่องขายใหม่

“เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบพบถุงมือยางจำนวนมากที่เป็นถุงมือที่ใช้แล้ว ไม่ปลอดภัย และจากข้อมูลที่ผมได้รับฟังจากการรายงานมา ในการตรวจสอบถุงมือที่ว่าใช้แล้วอย่างไร ในสภาพที่รับมาบางกระสอบมีทั้งถุงมือยาง ถุงอนามัยอะไรต่าง ๆ หรือขยะ นำมาคัดแยกแล้วก็ใช้อีก การนำมาใช้ก็ไม่มีความปลอดภัย ในการตรวจสอบก็มีการไปดูบรรจุภัณฑ์ ระบุเป็นทางเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผิดกฎหมาย” พล.ต.ท.เพิ่มพูน กล่าว

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ระบุว่า ปัจจุบัน ยังไม่สามารถจับกุมตัวเจ้าของโกดัง ซึ่งพบของกลางได้ แต่จะได้มีการดำเนินการต่อไปหลังจากตรวจสอบข้อมูล

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น พบคนงานกำลังคัดแยกถุงมือยางหลายสี ทั้งสภาพดี และสภาพเสียผ่านการใช้งาน โดยถุงมือยางถูกใส่รวมไว้ในถุงพลาสติก เพื่อรอบรรจุลงกล่องขายเป็นถุงมือทางการแพทย์ โดยพบกล่องบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อ Panyos และ PURE Glove รวมถึงยี่ห้ออื่นกว่า 9.5 หมื่นกล่อง ทั้งนี้ จะได้มีการแจ้งข้อหาเจ้าของโกดังแห่งนี้ ในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต และขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า หากผู้ประกอบการรายใดต้องการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สอบถามมายัง อย. เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทนั้นได้รับใบอนุญาตผลิตหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

“ถุงมือเนี่ยมันมีหลายประเภท แต่ถุงมือที่เราเห็นอยู่มันเป็นการเคลมว่า เป็นถุงมือทางการแพทย์ สำหรับเรา ประชาชนธรรมดา แล้วก็บุคลากรทางการแพทย์เนี่ย มีวัตถุประสงค์เอาไปใช้ป้องกันเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อโรคโควิด คือทำให้เข้าใจผิดว่าป้องกันเชื้อโรคได้แต่ที่จริงแล้ว ที่บรรจุอยู่ในกระสอบมันเป็นของที่ใช้แล้ว ที่ไม่ได้มาตรฐานเอามาหลอกลวงโดยการบรรจุกล่องทำให้เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคือ ประเทศไทยเสียชื่อเสียง เพราะว่าส่วนนึงเนี่ยเป็นการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ที่มีการระบาดของโรคโควิด” ภญ.สุภัทรา กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. เคยบุกยึดถุงมือยางใช้แล้วเตรียมบรรจุขาย ในจังหวัดปทุมธานี มูลค่า 300 ล้านบาท พร้อมทั้งควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติชาวจีน และกัมพูชารวม 12 คนมาแล้ว และในวันที่ 28 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้บุกเข้ายึดถุงมือยางใช้แล้ว 1.5 แสนชิ้นที่เตรียมบรรจุขาย ณ โรงงานแห่งหนึ่งในเขตประเวศ กรุงเทพฯ มาแล้วเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ขณะนี้กำลังขยายผลเพื่อจับกุมผู้ประกอบการในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมในอนาคต

จับโรฮิงญาลอบเข้าเมือง 18 ราย พบติดโควิด 7 ราย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เผยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สามารถควบคุมตัวชาวโรฮิงญา 18 ราย ทั้งชายและหญิง รวมถึงเด็กเล็ก ได้ในบ้านเช่าแห่งหนึ่งหลังตลาดใหม่ ย่านดอนเมือง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ประสาน เจ้าหน้าที่กองควบคุมโรคทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากแรงงานทั้งหมดแล้ว พบยืนยันติดเชื้อ 7 ราย

จากการสอบสวนพบว่า ทั้งหมดเป็นแรงงานซึ่งถูกนายหน้าพาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 25-26 ธ.ค. จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา โดยใช้ช่องทางธรรมชาติ เข้าไทยทางชายแดนอำเภอแม่สอด จ.ตาก และมีนายหน้ามารับขึ้นรถกะบะ หลบเลี่ยงการตรวจค้นได้ จนมาถึงที่พักในกรุงเทพ เพื่อรอส่งต่อไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยแรงงานต้องจ่ายค่าดำเนินการเข้าประเทศให้กับนายหน้ารายละ 6 พันบาท โดยเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการสืบหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายครั้งนี้ต่อไป

ปลากระป๋อง ปลอดภัย สามารถบริโภคได้

ขณะที่ ในวันพุธนี้ บริษัท พัทยาฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลบรรจุกระป๋องตรานอติลุส และ นอติลุสไลท์ ได้ออกเอกสารชี้แจง กรณีที่มีรายงานข่าวว่า พบพนักงานของบริษัทราว 1 พันคน จากทั้งหมด 4 พันคน ติดเชื้อโควิด-19 ว่าปัจจุบัน โรงงานได้ทำการหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราวแล้ว และได้ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อทั้งหมดกักตัว เพื่อดูอาการเป็นเวลา 14 วันแล้ว

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า กระบวนการผลิตของบริษัทซึ่งใช้อุณหภูมิมากกว่า 110 องศาเซลเซียส ภายใต้ความดันมากกว่า 9 พีเอสไอ จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของ อย. ที่ยืนยันว่า กระบวนการผลิตปลากระป๋องที่ได้มาตรฐานจะไม่มีแรงงานได้สัมผัสปลาในกระป๋อง และกระบวนการผลิตที่ใช้อุณหภูมิสูงจะสามารถทำให้เชื้อโรคทุกชนิดได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง