สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบางกลุ่ม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.02.28
กรุงเทพ ฯ
190228-TH-cyber-623.jpg ทีมจากประเทศญี่ปุ่นใช้ทักษะการแฮ็กข้อมูล ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในโตเกียว วันที่ 31 มกราคม 2559
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ เป็นเอกฉันท์ แม้มีเสียงค้านจากภาคประชาชน เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายนี้ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา ซึ่งมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้ทำการลงมติเห็นชอบ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ) ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ซึ่งมี นางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ในสองวาระรวด

ผลการลงมติ มีผู้เห็นชอบ 133 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 16 เสียง โดยระหว่างการประชุม ไม่มี กมธ. หรือ สนช. ติดใจสงวนคำแปรญัตติ มีเพียงการตั้งคำถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดบางส่วน แต่ไม่มีการเสนอให้แก้ไข หรือปรับปรุง บทบัญญัติที่ กมธ. เสนอ โดยการอภิปราย และลงมติวาระ 2 และ 3 เป็นรายมาตราทั้งร่าง จำนวน 81 มาตรา โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ นี้ ประกอบด้วย การกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

และให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้ กมช. ใช้อำนาจดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของประชาชนได้หลายรูปแบบ เช่น การตรวจสอบ ตรวจค้น เข้าพื้นที่ ยึดทรัพย์สิน ของผู้ที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงไซเบอร์ได้​ โดยหากเป็นกรณีเร่งด่วนไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล แต่จำเป็นต้องแจ้งต่อศาลในภายหลัง ซึ่งอำนาจส่วนนี้ ถูกระบุอยู่ใน “ส่วนที่ 4 การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์” ของ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ฉบับนี้

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ว่า บางมาตราของร่างกฎหมาย ฉบับนี้ อาจให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จนอาจถึงขั้นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้

“มาตรา 61 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์ กมช. มีอำนาจขอความร่วมมือจากบุคคลให้มาให้ข้อมูล หรือทำข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามไซเบอร์ และสามารถขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูล ที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่นได้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น” ตอนหนึ่งจาก บทความ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ 62: เปิดช่องเจ้าหน้าที่รัฐ “สอดส่อง” คนเห็นต่างได้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 บนเว็บไซต์ ilaw ระบุ

“มาตรา 65 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกม. เห็นว่า มีภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับที่ร้ายแรงขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจค้นสถานที่ได้ และสามารถค้นคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เจาะระบบ หรือทำสำเนาเอาข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ไปได้ รวมถึงสามารถยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ไว้ได้… ถ้าในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นขอหมายศาล” บทความดังกล่าวของ ilaw ระบุ

โดย ilaw ระบุว่า หาก ผู้ที่พยายามขัดขืนหรือไม่ยอมตรวจสอบแก้ไขเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ อาจทำให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์ change.org มีการรณรงค์ “คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดยหลังจากเริ่มรณรงค์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้แล้ว กว่า 9 พันคน

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. ชี้แจง

อย่างไรก็ตาม นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชน หลังการลงมติในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ร่างกฎหมาย ฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิได้มีเจตนาเพื่อคุกคาม หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั่วไป

“ยืนยันว่าไม่มีการรวบอำนาจรัฐ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดประเภทของภัยคุกคามไว้ชัดเจน ระบบการบริหารระงับยับยั้งต้องอาศัยการบริหารงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสถานการณ์ เพื่อให้เกิดระบบงานที่เป็นมาตรฐาน” นางเสาวณี กล่าว

“ข้อกล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเกินไปหรือไม่ ขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนใดของกฎหมายจะไปใช้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเน้นการป้องกันกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่ดีเท่านั้น นอกจากนี้การดำเนินการต้องมีการกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ โดยการตรวจค้นจะต้องมีคำสั่งศาลเข้าไปก่อน” นางเสาวณี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา

สำหรับขั้นตอนต่อไป ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ จะถูกส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย และบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง