ตร. สั่งฟ้องนักกิจกรรมคดีประชามติจำลองในปัตตานี ปี 66

ผู้ต้องหาชี้ รัฐควรเปิดเสรีภาพการแสดงออก และแลกเปลี่ยนมากกว่านี้

พนักงานสอบสวนสภ. เมืองปัตตานีได้ส่งฟ้องนักกิจกรรมและนักศึกษารวมห้าคนต่ออัยการจังหวัดปัตตานีในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติแยกเอกราชปาตานีจำลองในงานเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีเมื่อเดือนมิถุนายน 2566

“เรามาตามนัดตำรวจส่งหมายให้เราว่าวันนี้จะมีการส่งสำนวนต่อให้อัยการและมาส่งตัวพวกเราทั้งห้าให้กับอัยการรับช่วงต่อหมายถึงตำรวจปัตตานีสั่งฟ้องเราก็ยังมีคำถามคือกระบวนการทั้งหมดมันเสร็จสิ้นและด่วนสรุปไปหรือเปล่า” นายอาเต็ฟโซ๊ะโกจากกลุ่ม The Patani หนึ่งในผู้ต้องหากล่าว

พล.ต.ต. นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 กล่าวกับสื่อมวลชนหลังการส่งฟ้องว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ละเอียดอ่อน

"นี่เป็นอีกเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่เจ้าหน้าที่เองก็ต้องระวังในการปฏิบัติซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย" พล.ต.ต. นิตินัย ระบุ

คดีนี้สืบเนื่องจากวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 มีงานเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่เชิญตัวแทนว่าที่พรรคการเมืองนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมเสวนาจำนวนหลายสิบคนที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี โดยในงานนั้นมีการให้ผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามว่า “คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

“ฝากพี่น้องประชาชนช่วยทำความเข้าใจด้วยเหตุและผลแนะนำบุตรหลานของท่านที่อยู่ในประเทศไทยว่าการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐและที่สำคัญเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกส่วนด้วยดีมาเสมอ” พล.ท. ศานติศกุนตนาคแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยในเดือนมิถุนายน 2566

ต่อมาพล.ท. ศานติได้ให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าวและในวันที่ 24 กันยายน 2567 สภ.เมืองปัตตานีได้ออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหา

กระทั่งในวันพฤหัสบดีนี้นักกิจกรรมจากกลุ่ม The Patani นายอาเต็ฟและนายฮากิมพงติกอและนักศึกษาขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) นายอิรฟารอูมา, นายสารีฟสะเเลมันและนายฮุซเซ็นบือแนถูกส่งฟ้องต่ออัยการในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ”

หลังกระบวนการส่งฟ้องนายฮุซเซ็นในฐานะหนึ่งในผู้ต้องหาเปิดเผยว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางวิชาการซึ่งควรได้รับเสรีภาพ

“คดีนี้มันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาเองพื้นที่ทางวิชาการมันเป็นสิทธิเสรีมันเป็นสิ่งที่เราเองก็พยายามรณรงค์มาตลอดทั้งในมหาวิทยาลัยต่าง ๆทั้งในและนอกพื้นที่ปัตตานีเราก็พยายามแต่มันก็ยังคงมีการปิดกั้นมาตลอดซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ประชาชนโดยทั่วไปควรได้รับรู้” นายฮุซเซ็นกล่าว

“ตำรวจค่อนข้างยืนตรงข้ามกับเรื่องสิทธิเสรีภาพยืนตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำซึ่งมันชอบธรรมทั้งเรื่องกฎหมายทั้งด้วยวิธีการทางการเมืองคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันสุดท้ายก็ขึ้นกับว่าทางอัยการจังหวัดปัตตานีเนี่ยหลังจากนี้จะมีกระบวนการแบบไหนเช่นมีการเรียกพยานมาสอบถามเพิ่มเติมสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายนก็มีการนัดหมายกับอัยการอีกที” นายอาเต็ฟกล่าวเพิ่มเติม

กระบวนการสันติภาพ

ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาทขณะที่การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานีแต่การพูดคุยฯดังกล่าวขาดช่วงก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2563 โดยตัวแทนรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาเจรจากับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นและมีการพูดคุยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การพูดคุยสันติสุขฯกำหนดเป้าหมายใช้แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ตั้งแต่ปี 2566 โดยวางแนวทางหลัก 3 ข้อคือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนและ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการลงนามร่วมกันเพื่อรับรองใช้แผนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

241003-pattani-self-determination-2.jpg
นักกิจกรรมและนักศึกษาในกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติที่ถูกสั่งฟ้องในกิจกรรมการทำประชามติจำลอง ถ่ายรูปร่วมกัน ที่หน้าสำนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี วันที่ 3 ตุลาคม 2567 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

“พื้นที่ตรงนี้เราอยู่กับความขัดแย้งมาระลอกนี้ 20 ปีอยู่กับความรุนแรงมีความสูญเสียมากมายเราจำเป็นต้องทำให้ประชาชนได้ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะงานวิชาการการมีส่วนร่วมของเยาวชนมันเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพระยะยาวของที่นี่เพราะฉะนั้นความพยายามของคนรุ่นใหม่คนที่ถูกดำเนินคดีคือพยายามทำให้ประชาชนตื่นรู้กล้าแสดงออกแก้ไขโครงสร้างที่ปิดกั้นประชาชนไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อสังคมการเมือง” นายฮากิมกล่าว

แม้รัฐจะยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนการปรึกษาหารือของประชาชนแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ควบคู่ไปด้วยซึ่งทำให้เมื่อต้นปี 2567 องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 30 องค์กรทำหนังสือเปิดผนึกถึงสหประชาชาติให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่านับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมามีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญาขณะเดียวกันในบางคดีผู้ฟ้องคือแม่ทัพภาคที่ 4 เอง

นายปิยพงษ์พิมพลักษณ์สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้ว่ารัฐควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อแนวทางสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

“ฝ่ายความมั่นคงควรระมัดระวังอย่างมาก ในการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมหรือนักศึกษาโดยเฉพาะคดีนี้ที่เป็นการพูดคุยอย่างสันติและเป็นพื้นที่ทางวิชาการแม้พอเป็นประเด็นแบ่งแยกดินแดนจะทำให้เห็นความไม่พอใจของคนจำนวนมากขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กับสังคมให้ดีพอถ้าต้องการที่จะส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในพื้นที่” นายปิยพงษ์กล่าว

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่าตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้งมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

ทั้งนี้ในร่างพรบ. งบประมาณฯปี 2568 การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.78 พันล้านบาทและงบประมาณขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิบหัวข้อในหมวดงบรายจ่ายบูรณาการมูลค่า 2.06 แสนล้านบาทด้วย

รัฐบาลระบุว่ามีเป้าหมายจะลดการสูญเสียและความรุนแรง 80% โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่องพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชนรวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”