สนามบินนานาชาติเบตงเปิดบริการแล้ว

นายกฯ หวังสนามบินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้
มารียัม อัฮหมัด
2022.03.14
ยะลา
สนามบินนานาชาติเบตงเปิดบริการแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (คนที่สี่จากซ้าย) เดินทางไปเปิดท่าอากาศนานาชาติเบตง จังหวัดยะลา วันที่ 14 มีนาคม 2565
เบนาร์นิวส์

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากกรุงเทพฯ มาเป็นประธานในพิธีเปิดการให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติเบตง อย่างเป็นทางการแล้วในวันจันทร์นี้ หลังจากที่ล่าช้ามาประมาณสองปีเพราะการระบาดของโควิด-19

พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จังหวัดยะลา โดยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD6260 ได้กล่าวในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการว่าท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของไทยแห่งนี้จะเป็นความหวังในการพัฒนาของภูมิภาค

“รัฐบาลพยายามจะผลักดันส่งเสริมให้เมืองเบตงเป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

“ท่าอากาศยานเบตงแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ ถือเป็นศูนย์กลางการบินส่วนภูมิภาคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้บริการแก่พี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้อย่างเพียงพอ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางดวงพร สุวรรณมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ด้วยงบประมาณ 1.9 พันล้านบาท และมีการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสนามบินในปลายปี พ.ศ. 2560 และเดิมมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2563 แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์โควิด-19

จากนั้น ได้มีการปรับปรุงสนามบินเพิ่มเติมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ดำเนินการได้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และกำหนดเปิดตัวเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน แต่ต้องเลื่อนอีกครั้งมาเป็นในเดือนมีนาคม 2565 นี้

“ขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1.หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2.ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง” นางดวงพรกล่าว

นางดวงพร กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้น คาดว่าจะมีผู้เดินทางผ่านสนามบินแห่งนี้ราว 300,000 คนต่อปี และจะดำเนินการรองรับสายการบินจากประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนในโอกาสต่อไป

220314-th-deep-south-betong-airport-inside.jpg

ภาพถ่ายด้านหน้าอาคาร สนามบินเบตงที่สร้างเสร็จแล้ว อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เดือนมกราคม 2564

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง มีอาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ 7 พันตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารเต็มที่ได้ประมาณ 876,000 คนต่อปี มีขนาดความยาวทางวิ่ง 1.8 พันเมตร กว้าง 30 เมตร  ปัจจุบัน ยังสามารถรองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัดแบบ ATR-72 หรือ Q-400 แต่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายความยาวทางวิ่งเพิ่มเป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่ง และการลงจอดพร้อมกัน 3 ลำ

เยาวดี ซามู นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพที่เดินทางไปที่เบตงก่อนเที่ยวบินปฐมฤกษ์ได้ถือโอกาสไปถ่ายรูปที่สนามบินแห่งใหม่ กล่าวว่า การที่สามารถเดินทางมายังเบตงโดยเครื่องบินได้น่าจะทำให้เบตงมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“เบตงเป็นเมืองที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีอากาศดี แต่เดินทางมาค่อนข้างลำบากเพราะมีถนนร้อยโค้ง พอมีสนามบินก็สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ ราคาเริ่มต้น 3,000 กว่าบาท ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เชื่อว่าเบตงจะมีนักท่องเทียวทั้งไทย และต่างประเทศมากขึ้น” เยาวดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายมูฮัมหมัด อาดัมแดง ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่าสนามบินแห่งนี้ น่าจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังเบตงสำหรับคนภายนอก เพราะคนพื้นที่ไม่มีกำลังซื้อมากนัก

“คนเบตง จะมีกี่คนที่มีเงินนั่งเครื่องบินได้ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้มันแย่สุด ๆ ถ้ายางราคากิโลละร้อยอาจจะมีคนนั่งเต็มได้อยู่ แต่ถ้าคนที่อื่นเข้ามาเยอะ ๆ ก็น่าจะดี เพราะการจับจ่ายการซื้อของทุกอย่างจะดีขึ้น” นายมูฮัมหมัด กล่าว และระบุว่า สำหรับคนที่อยู่ในตัวเมืองยะลา จะเลือกเดินทางโดยทางสนามบินหาดใหญ่มากกว่าสนามบินเบตง

ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนอกจากท่าอากาศยานเบตงแล้ว ยังมีท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และท่าอากาศยานนานาชาตินราธิวาส ซึ่งห่างจากท่าอากาศยานเบตงประมาณ 260 กิโลเมตร และ 200 กิโลเมตรตามลำดับ

พื้นที่อำเภอเบตง มีภูเขาล้อมรอบ โดยห่างจากอำเภอเมืองยะลาร่วม 130 กิโลเมตร  แต่เดิมการเดินทางไปยังอำเภอเบตงโดยรถยนต์ค่อนข้างลำบากและอันตราย  

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ 14 มีนาคม 2550 ได้เกิดเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบใช้อาวุธปืนยิงใส่รถตู้โดยสารในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ขณะกำลังมุ่งหน้าจากเบตง ไปยัง อ.หาดใหญ่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย

สถานการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา ปะทุขึ้นในเดือนมกราคม 2547 และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  โดยฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์แล้วกว่า 7.3 พันคน โดยนับถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 62 ปีของการก่อตั้งกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani - BRN) พบว่ามีการแขวนป้ายผ้าและพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความว่า “Free Patani, Patani is not Siam” (ปลดปล่อยปาตานี ปาตานีไม่ใช่สยาม) ในกว่า 80 จุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง