คนร้ายวางระเบิดชาวสวนยางบ้านโคกโก นราธิวาส ทหารเสียชีวิต 1 นาย

มารียัม อัฮหมัด
2022.08.15
ปัตตานี
คนร้ายวางระเบิดชาวสวนยางบ้านโคกโก นราธิวาส ทหารเสียชีวิต 1 นาย พระสงฆ์ที่จำพรรษาที่วัดรัตนานุภาพ ให้ความช่วยเหลือ นางประทุม นักทอง ชาวสวนยางในหมู่บ้านโคกโก ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส ซึ่งโดนกับระเบิด บาดเจ็บสาหัส วันที่ 15 สิงหาคม 2565
ภาพโดยเจ้าหน้าที่

ในวันจันทร์นี้ เกิดเหตุคนร้ายวางกับระเบิดต่อเนื่องเป็นเหตุให้ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ระเบิด และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 10 ราย โดยหนึ่งในนั้น เป็นชาวสวนยางที่เหยียบกับระเบิด ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาทั้งสองข้างขาด ในบ้านโคกโก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

การวางระเบิดสวนยางที่มุ่งทำร้ายชาวสวนยางเคยเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2561 โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เชื่อว่า เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น และได้ประณามการใช้กับระเบิด ซึ่งผิดข้อตกลงตามสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในปี 2540 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี 2544 เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะเป้าหมายระหว่างพลเรือนและทหารได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงปาดี กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 6.30 น. มีชาวสวนยางในบ้านโคกโกได้เหยียบกับระเบิดที่เชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบวางไว้จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ท่อนขาแหลกเหลว

“นางประทุม นักทอง อายุ 55 ปี อยู่ในสภาพขาทั้งสองข้างขาด จากเหตุเหยียบระเบิดที่คนร้ายไปฝังไว้ใต้ดิน บริเวณร่องทางเดินในสวนยางพาราของนางประทุม ที่กำลังเดินทางกลับหลังจากกรีดยางพาราแล้วเสร็จ เมื่อแพทย์ทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ได้ส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก” ร.ต.อ. ภานุวัฒน์ ไสดานิล รองสารวัตรสอบสวน สภ.สุไหงปาดี กล่าวกับผู้สื่อข่าว

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า หลังเกิดเหตุราวหนึ่งชั่วโมง ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพราน, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) ของตำรวจ ได้เดินเท้าเข้าตรวจสอบพื้นที่ห่างจุดเกิดเหตุชาวบ้านเหยียบกับระเบิดได้ประมาณ 300 เมตร กลับเกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง เพราะจ่าสิบเอก สมชาย แดงเงิน สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4814 เหยียบกับระเบิดจนเสียชีวิต ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ และชาวบ้าน ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 7 นาย

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) ได้เจรจากันในมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการหยุดก่อเหตุรุนแรงในระหว่างการเข้าพรรษา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมไปจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุรุนแรงประปรายหลายครั้ง นับจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สองของการพูดคุยครั้งล่าสุดของทั้งสองฝ่าย ได้เกิดเหตุการวางระเบิดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยครูประจำตำบล (อส.ชคต.) จนบาดเจ็บ 6 นาย ในบ้านกระจูด ตำบลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และการยิงหัวรถจักรรถไฟโดยสารสายขบวนที่ 171 กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ นราธิวาส ในวันที่ 4 สิงหาคม เป็นต้น

ในวันเดียวกันนี้ พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่

“กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ที่ยังใช้วิธีการเดิม ๆ ก่อเหตุรุนแรงสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่... โดยหลังการเจรจาสันติสุข มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น มีการลอบยิงรถไฟขัดขวางการสัญจร” พล.อ. คงชีพ กล่าว และระบุว่า นายกฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเร่งติดตามผู้ก่อเหตุรุนแรงมาดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็ว

ขณะที่ นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานบ้านบุญเต็ม ได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการให้ความคุ้มครองประชาชนชาวไทยพุทธ ที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ที่มีประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้มีเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม

“ความปลอดภัยเดียวของพี่น้องชาวไทยพุทธในโต๊ะเด็งคือ การทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดออกไปจากพื้นที่หรือ กอ.รมน.ตอบหน่อย” นางบุษยมาส กล่าว

“ชาวไทยพุทธเราต้องการความคุ้มครองและการดูแล ในการแก้ปัญหา เพราะมีเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากสะท้อนออกมา เป็นเสียงของคนไทยพุทธในจังหวัดยะลา” นางบุษยมาส กล่าวเพิ่มเติม  

เบนาร์นิวส์ได้สอบถาม อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน ผู้นำการพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดเช้าวันนี้ แต่ไม่ได้รับคำตอบ

เมื่อกลางปี 2561 ได้เกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อเหตุระเบิดชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดยะลารวม 6 ครั้ง ในห้วงเวลา 8 วัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นชาวบ้านอย่างน้อย 5 ราย ในครั้งนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ประณามขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางกับระเบิด และเรียกร้องให้ยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งถูกห้ามใช้ในสัตยาบันระหว่างประเทศแล้ว และหยุดโจมตีพลเรือน

นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ตามสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

รัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งได้เปลี่ยนคู่เจรจามาเป็น บีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว ใน 2563

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง