คนชายแดนใต้ยังไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้รัฐตั้งศูนย์ฯแก้ไขปัญหาพิเศษ

ศบค. ชี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนมากเพราะไม่ฉีดวัคซีน
มารียัม อัฮหมัด
2021.10.27
ปัตตานี
คนชายแดนใต้ยังไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้รัฐตั้งศูนย์ฯแก้ไขปัญหาพิเศษ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ขณะฉีดวัคซีนให้ประชาชน ณ อาคารสำนักงานบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ที่ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชน วันที่ 27 ตุลาคม 2564
เบนาร์นิวส์

จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเผชิญปัญหาคนไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้จะมีการระบาดของโรคสูงติดอันดับของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้ว่า ข่าวปลอมมีผลกับการตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีนของประชาชนด้วย

ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในชายแดนใต้ส่วนมากเป็นคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกระตุ้นเตือนเรื่องนี้

นพ. อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปัตตานี เปิดเผยหลังการประชุมออนไลน์ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่น้อยอยู่ ส่วนนึงมาจากข่าวปลอมแง่ลบเกี่ยวกับวัคซีน

“ปัจจุบัน การไม่กล้าฉีดวัคซีนเป็นปัญหาหลัก ส่วนนึงเพราะมี Fake news (ข่าวปลอม) เช่น 1. ถ้าฉีดแล้วจะเสียชีวิตใน 2 ปี  2. ฉีดแล้วก็เสียชีวิตอยู่ดี และ 3. คนที่ไม่ต้องการฉีดสามารถจ่ายเงิน 2 พันบาท ให้คณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดออกใบรับรองว่า ฉีดวัคซีนแล้วได้โดยไม่ต้องฉีดจริงได้ ซึ่งขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง” นพ. อนุรักษ์ กล่าว

นพ. อนุรักษ์ ระบุว่า รัฐจะแก้ปัญหาโดยการขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มากขึ้น ระดมการฉีดวัคซีนให้กับผู้นำศาสนาในท้องถิ่น และให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนในชุมชนต่างๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ทำให้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมีคำสั่งตั้ง ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสี่ชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เองก็ได้ระดมวัคซีนโควิด-19 และเวชภัณฑ์ มาเพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงอยู่ โดยในวันพุธนี้ จังหวัดสงขลามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ 551 ราย ปัตตานี เป็นอันดับ 3 จำนวน 532 ราย ยะลา เป็นอันดับ 4 จำนวน 475 ราย และนราธิวาส อันดับ 7 จำนวน 331 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อในประเทศ

พญ. สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค สธ. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมด เป็นผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน โดยวันพุธวันเดียวมีผู้เสียชีวิต 8 ราย ที่ปัตตานี 4 ราย ยะลา 3 ราย สงขลา 1 ราย

“ผู้เสียชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ของวันนี้ (วันพุธ 8 ราย) ไม่ได้รับวัคซีน… ศบค. ก็มีความเป็นห่วง จากการมีผู้เสียชีวิตเป็นระยะก็พบว่า ผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ในจำนวนนี้ก็รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็กอีกด้วย กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้เสียชีวิต (ในช่วงเดือนที่ผ่านมา) จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน” พญ. สุมนี กล่าว

สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากรรวม 3.58 ล้านราย เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมาชายแดนภาคใต้ฉีดวัคซีนแล้ว 2.5 ล้านโดส เป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 1.5 ล้านราย คิดเป็น 41.9 เปอร์เซ็นต์ และวัคซีนเข็มที่สอง 9.7 แสนราย คิดเป็น 27.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงปัจจุบัน สามารถฉีดได้ 3.13 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 1.8 ล้านราย หรือ 52.1 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่สอง 1.2 ล้านราย หรือ 33.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังจะสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้กับประชากรได้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว

สำหรับ นายสุไลยมาน มูเดาะสาและ ชาวสวนยาง อายุ 35 ปี ในจังหวัดยะลา เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองไม่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากทราบข่าวว่า การฉีดทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

“กลัว ข่าวออกตลอดฉีดแล้วตาย ไม่ตายทันทีก็ต้องเป็นมะเร็งทุกคน หมอก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพื่อนบอกว่า คนที่ฉีดแล้วก็ยังติดเชื้ออีกเยอะในโรงพยาบาล ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า ยิ่งฉีดก็ยิ่งติด เราขอไม่ฉีดดีกว่า ถึงไม่ฉีดจะไปอำเภอไม่ได้ ไปธนาคารไม่ได้ เราก็ขอไม่ไป” นายสุไลยมาน กล่าว

ต่อแนวทางในการแก้ไขปัญหา นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ The Patani กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐควรปรับสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีบรรยากาศที่เป็นมิตรมากกว่าที่เป็นอยู่

“รัฐบาลต้องเข้าใจว่า สังคมมลายู-มุสลิม มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง และมีความไม่ไว้ใจรัฐบาลกลาง ดังนั้น หากมีการตั้งจุดฉีดวัคซีนใกล้ชุมชน และใช้คนที่ชาวบ้านไว้ใจหรือเชื่อถือ น่าจะช่วยทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะฉีดวัคซีนมากขึ้น ที่ผ่านมา เราเคยเรียกร้องมาตลอดให้ รัฐจัดหาวัคซีนที่ทำให้ชาวบ้านสามารถฉีดและเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย หรือประเทศอื่น ๆ ได้ แต่รัฐก็ไม่ทำ” นายอาเต็ฟ กล่าวผ่านโทรศัพท์

นายอาเต็ฟชี้ว่า ก่อนหน้านี้มีประชาชนจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมจะฉีดวัคซีน แต่เป็นรัฐบาลเองที่ไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเอง ก็ไม่มีความเป็นระบบ ไม่มีความชัดเจน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนทำให้เกิดปัญหา

ในวันพุธนี้ ศบค. ระบุว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 8,452 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดคือ กรุงเทพฯ ปัตตานี สงขลา และนราธิวาสตามลำดับ มีเสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1.87 ล้านราย ขณะที่เสียชีวิตสะสม 1.89 หมื่นราย เฉพาะสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดเชื้อสะสม 1.53 แสนราย

 โดยสามารถฉีดวัคซีนไปแล้ว 72 ล้านโดส ในนั้นเป็นเข็มแรก 40.7 ล้านราย เข็มที่สอง 29.1 ล้านราย และเข็มที่สาม 2.2 ล้านราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง