วัฒนธรรมร้านน้ำชาดั้งเดิมชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสคาเฟ่นิยม

ร้านกาแฟสมัยใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนพลวัตทางสังคมในยะลา
อัสมาดี บือเฮง
2024.09.27
ยะลา
วัฒนธรรมร้านน้ำชาดั้งเดิมชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสคาเฟ่นิยม ผู้คนในชุมชนดูการเล่นหมากฮอส ณ ร้านน้ำชามะแอ เป็นกิจกรรมที่พบเห็นเป็นปกติระหว่างการนั่งร้านน้ำชา ในเทศบาลนครยะลา วันที่ 7 กันยายน 2567
มูฮัมหมัดฟาตอน มะเต๊ะ/เบนาร์นิวส์

ในยะลา ถ้าหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสัก 10-20 ปี พื้นที่ที่ดีที่สุดในการอ่านข่าวสาร พูดคุยเรื่องการเมือง ดูฟุตบอล เชียร์มวย ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ กระทั่งประกวดประขันนกกรงหัวจุก ไม่น่าจะมีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่า กือดาแต (Keda Tae) หรือร้านน้ำชาในชุมชน แต่ปัจจุบันในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกแห่ง ร้านน้ำชาได้พบกับผู้ท้าชิงรายใหม่ที่เรียกว่า คาเฟ่ หรือร้านกาแฟตามสมัยนิยม

“ผมไปร้านน้ำชาตอนเช้าก่อนเข้าสอน พบปะเพื่อนฝูง ไม่รู้ว่าการมีอยู่ของร้านน้ำชามันหมายถึงอะไร แต่ถ้าไม่มีร้านน้ำชา นึกไม่ออกว่าคนจะไปนั่งที่ไหน เพราะมันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สำคัญทางสังคมในความรู้สึกของผม” อิหซาน ตูแวสิเดะ ครูประวัติศาสตร์ วัย 32 ปี กล่าว

กือดาแต ดำรงอยู่คู่กับสังคมมลายูมาอย่างยาวนาน อิหซาน ในฐานะครูประวัติศาสตร์บอกว่า ร้านน้ำชาแบบมลายู มีเอกลักษณ์คือ ใช้การชงจากผงชาที่นำเข้าจากมาเลเซีย ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หรือพม่า ซึ่งจะทำชาด้วยการต้ม เมนูหลักของกือดาแต มักประกอบด้วย ชาดำ ชาใส่นมข้น โอเลี้ยง และกาแฟ ซึ่งต่างจากร้านน้ำชาในเชียงใหม่ และเชียงราย

“ในนิยามของผม บ้านเราจะเป็นลักษณะชาชงที่ใช้ผ้ากรองชาที่ผสมตัวชาชนิดต่าง ๆ ไว้ และมีน้ำร้อนผสมชาอ่อนวางไว้บนโต๊ะให้คนกินชาได้เติมกัน บางร้านมีกาน้ำต้มขิง ใบเตย แล้วแต่สูตร” อิหซาน กล่าว

TH-tea-shops-cafe-culture-edt2.jpg
บทสนทนาในชีวิตประจำวันหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองท้องถิ่น ในร้านน้ำชาแต่ละร้านมักจะมีป้ายหาเสียง และรายละเอียดของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในช่วงต่าง ๆ ให้พบเห็นอยู่เสมอ ที่ร้านน้ำชามะแอ ในชุมชนเทศบาลนครยะลา วันที่ 7 กันยายน 2567 (มูฮัมหมัดฟาตอน มะเต๊ะ/เบนาร์นิวส์)

ถ้าแบ่งประเภทร้านน้ำชาตามเวลาเปิด-ปิด จะแบ่งได้สองแบบ คือ ร้านที่เปิดตั้งแต่เย็นจนดึก หรือเปิดถึงเช้า ซึ่งมักเด่นเรื่องความเข้มข้นของชา มีโทรทัศน์เปิดไว้รอต้อนรับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ลูกค้าเหล่านี้มักมานั่งดูข่าว ดูมวย ดูฟุตบอล หรือดูหนัง

ส่วนร้านอีกแบบจะเปิดหลังละหมาดศุบฮี หรือประมาณ 6 โมงเช้า ไปจนถึงบ่ายหรือเย็น ร้านแบบนี้จะมีอาหารเช้า ข้าวยำ ข้าวต้ม โรตี ไข่ลวก หรือนาซิกูกุส (ข้าวนึ่งแบบมลายู) ไว้ต้อนรับลูกค้า

ร้านน้ำชาแบบมลายูไม่ได้ถูกจำกัดโดยศาสนา เพราะร้านน้ำชาที่มีเจ้าของเป็นมุสลิมก็พร้อมที่จะต้อนรับลูกค้าชาวพุทธด้วยเช่นกัน

“ก่อนยุคสมาร์ทโฟน ร้านน้ำชาจะมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน เป็นพื้นที่สังคมการเมือง มีการทำงานทางความคิดผ่านบทสนทนาในร้านน้ำชา” สุไลมาน มาจะ อาสาสมัครชุมชนสัมพันธ์ อายุ 29 ปี ลูกค้าประจำร้านน้ำชา กล่าว

สุไลมาน เห็นว่า ร้านน้ำชาสามารถเข้ากับสังคมมุสลิมเป็นอย่างดี เพราะทำหน้าที่ได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน

“ร้านน้ำชา ต้นทุนน้อย กำไรดี สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่ไม่เร่งรีบ ราคาก็เข้าถึงได้ตั้งแต่ 7-20 บาท คนรุ่นผมก็ยังเลือกร้านน้ำชาเป็นที่สำหรับการพบปะพูดคุย และผมคิดว่า มันไม่ใช่พื้นที่ของคนสูงอายุเท่านั้น” สุไลมาน เล่าเพิ่มเติม

วัฒนธรรมร้านน้ำชาอันแข็งแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ตัวเมืองยะลามีร้านน้ำชากว่า 50 ร้าน กระจายตัวอยู่เกือบทุกหัวถนน แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกชุมชน กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกหมู่บ้าน

คนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมคาเฟ่

ไม่กี่ปีมานี้ วัฒนธรรมคาเฟ่สมัยใหม่ ได้เข้ามาเป็นผู้ท้าชิงความนิยมจากวัยรุ่น และคนหนุ่มสาววัยทำงาน จำนวนคาเฟ่ในยะลาก็กำลังเติบโตขึ้นแบบเดียวกับที่เคยเกิดกับเชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ

“ตอนนี้ กระแสนิยมคาเฟ่ในเมืองยะลา นับแบบหยาบ ๆ น่าจะร้อยกว่าร้าน ทุกซอยมีร้านกาแฟ คาเฟ่ที่นี่ต่างจากที่อื่น คือ บางร้านเปิดสี่โมงเย็น คนที่นี่มองว่า ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่พบปะเพื่อน มานั่งแช่ทำงานได้ ไม่ใช่แค่คาเฟอีนที่คนรู้สึกขาดไม่ได้ แต่มันคือพื้นที่ ๆ พวกเขาต้องการและขาดไม่ได้เหมือนกัน” กิตติศักดิ์ ปัตตานี หรือมะฟู กล่าว

TH-tea-shops-cafe-culture-edt3.jpg
อาซัน ดอนิ อายุ 26 ปี เจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ ในย่านตลาดเก่าเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ขณะทำกาแฟให้ลูกค้า วันที่ 14 กันยายน 2567 (อัสมาดี บือเฮง/เบนาร์นิวส์)

มะฟู อายุ 37 ปี เป็นเจ้าของร้าน The Hooman ร้านกาแฟแนวสโลว์บาร์แห่งแรก ๆ ในเทศบาลนครยะลา นอกจากขายกาแฟแล้ว คาเฟ่แห่งนี้ยังขายอุปกรณ์ตั้งแคมป์ และเสื้อผ้ามือสองอีกด้วย

“เราทำร้านกาแฟ เพราะเห็นว่าที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ที่เราเคยไปอยู่ ร้านกาแฟช่วยซัพพอร์ตงานฟรีแลนซ์ นักเขียน นักวิจัย แต่ 7-8 ปีก่อน คนยังไม่อิน แต่ช่วงโควิด-19 ออกไปกินลำบาก จึงซื้ออุปกรณ์มาทำเอง แล้วเพื่อนก็มากินด้วย กลายเป็นที่ในการอัพเดทเรื่องสังคมและการเมือง” มะฟู เล่า

คาเฟ่ในยะลามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบมาตรฐานที่ชงกาแฟด้วยเครื่องชงเอสเพรสโซ หรือร้านแบบสโลว์บาร์ ที่ชงด้วยกาต้มกาแฟ ด้วยการดริป หรือเครื่องกดเอสเพรสโซแบบไม่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งมักใช้เวลา และมีกรรมวิธีการชงมากกว่า

เมนูหลักของคาเฟ่ จะเป็นกาแฟรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเอสเพรสโซ อเมริกาโน ลาเต้ รวมไปถึงการผสมกาแฟด้วยส่วนผสมอื่น ๆ แล้วแต่สูตรของร้าน บางร้านมีขนมเค้ก ขนมปัง บางร้านดึงดูดลูกค้าด้วยการมีไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับลูกค้าที่มานั่งทำงาน ที่สำคัญหลายร้านมีเครื่องปรับอากาศ

ปีแรกของร้าน The Hooman ช่วงโควิด-19 ระบาด สามารถขายกาแฟได้เฉลี่ยวันละ 100-200 แก้ว สร้างรายได้ให้กับมะฟูถึงวันละหนึ่งหมื่นบาท และแม้ว่าคาเฟ่ในยะลาจะเพิ่มจำนวนขึ้น ในปัจจุบัน The Hooman ก็ยังขายได้ถึง 40-50 แก้วต่อวัน

การเป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำความคึกคักและพลุกพล่านของวัยรุ่นและหนุ่มสาวมาที่นี่ เหล่านี้เองเป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการจุดกระแสนิยมของคาเฟ่

“กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ที่เข้ามากินกาแฟ คือ นักศึกษา นักกิจกรรม และเพื่อน ๆ พ่อค้าเสื้อผ้าออนไลน์ ถ้าตลาดออนไลน์ไปได้ ร้านก็จะคึกคักไปด้วย ร้านกาแฟเป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มคนทำงานออนไลน์เป็นหลัก ช่วงแรก ๆ ของการเปิดร้านเฉลี่ยประมาณวันละ 20-40 แก้วต่อวัน รายได้ก็ถือว่าอยู่ได้” อาซัน ดอนิ เจ้าของร้านกาแฟขนาดย่อม อายุ 3 ปี ในย่านตลาดเก่าเทศบาลนครยะลา กล่าว

กระแสนิยมกาแฟในยะลามีเพิ่มขึ้น จนเมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 สามารถจัดเทศกาล Coffee Run ซึ่งรวมร้านกาแฟ ผู้ปลูกกาแฟ และโรงคั่วกาแฟจำนวนมากมาไว้ในงานวิ่งการกุศล

ทำไมผู้หญิงวัยรุ่น จึงนิยมคาเฟ่

“ร้านน้ำชา กับคาเฟ่ มันเป็นพื้นที่ ๆ ต่างกัน คาเฟ่มันดีมากสำหรับคนทำงานแบบเรา เพราะมันมีความเป็นส่วนตัว เป็นที่ทำงานของคนวัยกลางคน เราไปคาเฟ่ไม่ใช่เพราะติดกาแฟ แต่เพราะมันให้ที่ทำงานกับเรา ส่วนเด็กวัยรุ่นอาจจะเป็นพื้นที่แห่งการสร้างตัวตน” อัสมะ ตันหยงดาโอะ พนักงานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อายุ 35 ปี ลูกค้าคาเฟ่ กล่าว

TH-tea-shops-cafe-culture-edt4.jpg
กลุ่มพ่อค้าออนไลน์เสื้อผ้ามือสองนั่งจิบกาแฟ หลังจากเลือกซื้อเสื้อผ้าในตลาดมะพร้าว ตลาดเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดยะลา วันที่ 14 กันยายน 2564 (อัสมาดี บือเฮง/เบนาร์นิวส์)

มะฟู ตั้งข้อสังเกตในฐานะเจ้าของร้านกาแฟว่า กรอบบางอย่างของวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทำให้คนรู้สึกว่าร้านน้ำชาเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ที่นั่นผู้หญิงจึงกลายเป็นคนชายขอบ ซึ่งต่างจากร้านกาแฟที่สามารถโอบรับคนทุกเพศมากกว่า

“โดยวัฒนธรรมแล้ว ผู้หญิงเวลาอยู่ร้านน้ำชาจะกลายเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดไป มันมีความคิดที่ว่า ผู้หญิงควรอยู่ในครัว ร้านน้ำชาเลยยังเป็นพื้นที่ของผู้ชายและผู้สูงอายุ ส่วนร้านกาแฟได้กลายเป็นที่ของคนรุ่นใหม่ ผู้หญิง และเป็นแฟชั่น” มะฟูให้ความเห็น

เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงในชายแดนใต้ เริ่มออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น การแสวงหาพื้นที่ในการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือกระทั่งแสดงตัวตนจึงจำเป็น และคาเฟ่ก็สามารถเป็นสถานที่ที่พร้อมต้อนรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จำนวนคาเฟ่ในยะลากระโดดจากหลักสิบเป็นหลักร้อยอย่างรวดเร็ว

“ร้านกาแฟมันมาพร้อม ๆ กับรสนิยม แฟชั่น การแต่งกายของวัยรุ่นผู้หญิงในสามจังหวัด เราสังเกตเห็นกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงแต่งตัวในแนวเดียวกันสีครีม เอิร์ธโทน รองเท้าผ้าใบ การแต่งตัวลักษณะนี้มันกระจายออกไปพร้อม ๆ การเกิดขึ้นของคาเฟ่” เจ้าของร้าน The Hooman กล่าว

อัสมะ ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมของพื้นที่มีส่วนกันผู้หญิงออกจากร้านน้ำชา ผู้หญิงถูกสอนว่าร้านน้ำชาเป็นพื้นที่ของผู้ชาย โดยเฉพาะร้านน้ำชาในชุมชนใกล้บ้าน ความจริงแล้ว ร้านน้ำชาไม่ใช่ที่ต้องห้ามสำหรับผู้หญิงซะทีเดียว เพราะอัสมะก็ยังคงไปซื้อชาจากร้านน้ำชามากินที่บ้าน แต่เลือกจะไม่นั่งที่ร้าน

“ตอนเด็ก ๆ เราจำได้ว่า เคยออกไปกินชาที่ร้านในหมู่บ้านกับคุณตา แต่พอโตเป็นสาว ความรู้สึกบางอย่างทำให้เราไม่ไปนั่งร้านน้ำชา ทั้งที่เรากินชาทั้งบ้าน และเราก็สนใจการเมือง แต่ด้วยความที่รู้สึกว่า ร้านน้ำชาเป็นที่ของผู้ชาย เลยทำให้เรื่องการเมืองคล้ายจะเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ต่างจากตอนเราเรียนในกรุงเทพฯ ที่การไปนั่งร้านน้ำชาแล้วคุยกับเพื่อนเป็นเรื่องปกติ” อัสมะ กล่าว

จากคำบอกเล่าของผู้สูงวัย ทำให้รู้ว่าในอดีตยะลามีร้านน้ำชาอยู่จำนวนมาก แต่ทุกวันนี้ หลายร้านเลิกกิจการไป และบางร้านถูกเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ ทำให้หลายคนพูดกันว่า กือดาแตอาจจะตายไปในไม่ช้า และถูกแทนที่ด้วยร้านกาแฟ

“สำหรับผม กือดาแตไม่ใช่คู่แข่งของคาเฟ่ การหายไปของร้านน้ำชาบางร้านไม่ใช่เพราะมีคาเฟ่เกิดใหม่ เพราะร้านน้ำชามีกลุ่มลูกค้าเฉพาะไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนร้านกาแฟก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ และเป็นที่พบปะของผู้หญิง เป็นพื้นที่ที่เหมือนจะหลุดพ้นจากการกำกับโดยสำนึกทางวัฒนธรรมที่บอกว่า ผู้หญิงที่ดีต้องอยู่ในบ้าน ดังนั้นสองที่จึงต่างกัน” อิหซาน กล่าวในฐานะลูกค้าร้านน้ำชาช่างสังเกต

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง