ศาลสงขลาระบุ ไม่มีการซ้อมทรมาน 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ'
2022.05.09
ปัตตานี
ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งในวันนี้จันทร์นี้ว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เสียชีวิตจากการถูกทรมาน แต่เสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหารจริง เมื่อเกือบสามปีก่อน
ด้านนางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ กล่าวว่า ตนเองทำใจและยอมรับคำตัดสินของศาล
ในการไต่สวนนี้ นางสาวซูไมยะห์ ร่วมกับทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นคำร้องผ่านอัยการไปยังศาลอาญา ให้ไต่สวนยืนยันถึงการชันสูตรศพนายอับดุลเลาะอีกครั้งว่า มีการทรมานหรือไม่ โดยญาติของนายอับดุลเลาะ ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อหมายที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามคำบอกเล่าของนายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี
“ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ทนายฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตเสนอต่อศาลนั้น ไม่เพียงพอต่อการบ่งชี้ได้ว่านายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายได้ จึงมีคำสั่งว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 เวลา 04.03 น. เสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจนและหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหารจริง” ศาลกล่าวในการอ่านคำสั่งผ่านทางเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ในวันนี้
“ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ออกมา แต่ก็ทำใจมาก่อนแล้ว ว่าไม่มีวันที่จะชนะอยู่แล้ว เพียงแค่อยากสู้จนถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้” นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ หลังทราบคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม นางสาวซูไมยะห์ กล่าวว่ายังไม่สามารถได้บอกว่าจะหาทางดำเนินการอื่นใดอีกหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่พบว่า นายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในห้องน้ำ ในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร หลังจากถูกควบคุมตัวเพียงไม่กี่ชั่วโมง หนึ่งเดือนต่อมาได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากอาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ
ด้านภรรยาผู้ตายและญาติได้ ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด 2 ปี และในการไต่สวนนี้ มีการสืบพยานมากกว่า 21 ปาก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร, แพทย์, พยานที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากภาคประชาสังคม
ด้าน พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นความสบายใจของครอบครัวที่สามารถทำได้
ขณะที่ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กลไกตุลาการไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความยุติธรรมต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง และแสดงความหมดหวัง
“ญาติและสาธารณะต้องการคำตอบว่า มีใครทำให้อับดุลเลาะขาดอากาศหายใจจนสมองบวมหรือไม่ การไต่สวนของศาลไม่ได้ให้คำตอบนี้ ถ้าศาลที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย ทำหน้าที่ได้เท่านี้... บอกแค่นั้นเหมือนกรณีตากใบ สมองบวมเพราะขาดออกซิเจน ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้งสองสิ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ศาลมีหน้าที่ไต่สวนให้ได้ความจริง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ญาติในการแสวงหาหลักฐานมาให้ศาล” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์