เครือข่ายศิลปินร่วมมือเปลี่ยน 'ภาพลักษณ์รุนแรง' จังหวัดชายแดนใต้

สุเบล ราย บันดารี
2022.09.20
ปัตตานี
เครือข่ายศิลปินร่วมมือเปลี่ยน 'ภาพลักษณ์รุนแรง' จังหวัดชายแดนใต้ Field Work ผลงานของศิลปิน ศาวินี บูรณศิลปิน แห่ง Thingsmatter จัดแสดงที่กลางนาเกลือ ในตำบลบานา ใกล้ตัวเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ PATTANI DECODED 2022 วันที่ 1 กันยายน 2565
สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์

ชายหาดสวยงามหลายแห่งในปัตตานี ศูนย์กลางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยยังคงบริสุทธิ์ แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่

ผู้คนภายนอกพื้นที่อาจจะไม่กล้าเสี่ยงในการเดินทางมาที่ชายแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมลายูและเป็นชาวมุสลิมแห่งนี้ เนื่องจากว่ายังมีการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มติดอาวุธมานานหลายทศวรรษ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้

แต่ศิลปินและชาวบ้านในตัวเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดที่มีการค้าเกลือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาช้านาน ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์เชิงลบนั้น ด้วยการนำเสนอความรุ่มรวยของมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้ ซึ่งโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นในประเทศไทย

เราต้องการจะเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป” นายฮาดีย์ หะมิดง กล่าวถึงงาน ถอดรหัสลับปัตตานี (Pattani Decoded 2022: Deep Salt) ในฐานะผู้จัดงาน ซึ่งเป็นงานแสดงศิลปะและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 แต่ต้องงดไปสองปี เพราะการระบาดของโควิด-19

เราหวังเปลี่ยนภาพความรุนแรงและแสดงอีกภาพที่ลึกลงไปว่า ยังมีอะไรอีกมากมายที่นี่ นอกเหนือแค่เหตุการณ์เหล่านั้น เรื่องราวของผู้คนและแง่มุมต่าง ๆ ในชีวิต มีประวัติศาสตร์และมรดกเก่าแก่หลายศตวรรษฮาดีย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เกลือหวาน (Deep Salt) เป็นธีมของนิทรรศการศิลปะของปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้พื้นที่ย่านชุมชนชาวจีนเก่าในตัวเมืองปัตตานี ย่านถนนอาเนาะรู, ถนนมายอ และถนนปัตตานีภิรมย์ รวมทั้ง ที่นาเกลือนอกตัวเมืองปัตตานี ซึ่งศาวินี บูรณศิลปิน แห่ง thingsmatter ได้แสดงงานศิลปะ เรื่องการค้าขายเกลือ (ภาพด้านบน) ฮาดีย์กล่าวเพิ่มเติม โดยมีผู้เข้าชมงานครั้งนี้ประมาณ 30,000 คน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์เดินทางเยือนสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีศิลปินอีกกลุ่มคือ Patani Artspace จัดงานแสดงศิลปะควบคู่ไปกับนิทรรศการถอดรหัสลับปัตตานี โดยได้เริ่มงานมาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา และจะดำเนินไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ Patani Artspace ได้เชิญศิลปินจากประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 50 คน เข้าร่วมแสดงผลงานด้วย

เมืองชายฝั่งของปัตตานีซึ่งติดกับอ่าวไทย เป็นศูนย์กลางการทำนาเกลือจากทะเลมาช้านาน และเป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อส่งออกเกลือไปยังประเทศจีนและตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ผลผลิตเกลือในบริเวณนี้ถูกขนานนามว่า “เกลือหวานเพราะมีรสชาติที่กลมกล่อมต่างจากเกลือในภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม การทำนาเกลือในปัตตานีได้ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลที่คาดเดาไม่ได้ และฝนนอกฤดู

มันเป็นงานที่ยาก และยังต้องอาศัยทั้งดิน น้ำ และแสงแดดอับดุล คาบู ชาวนาเกลือในท้องถิ่นที่เข้าร่วมนิทรรศการ เกลือหวานกล่าวกับเบนาร์นิวส์เราไม่สามารถดำรงชีพโดยการทำนาเกลืออย่างในอดีตอีกแล้ว

ชาวนาเกลือคนหนึ่งที่ทำนาเกลือมาอย่างยาวนานโอดโอยว่า ในปี 2564 เขาขายไปได้เพียงแค่ 10 กระสอบเท่านั้น เมื่อเทียบกับที่เขาเคยขายได้จำนวน 500 ถึง 600 กระสอบ เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น เขากล่าวในวิดีโอที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้

นับตั้งแต่อดีต ภาคใต้ตอนล่างเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศ โดยอัตราความยากจนในจังหวัดปัตตานีอยู่ที่ร้อยละ 34.2 เทียบกับอัตราร้อยละ 6 ของประเทศ ตามรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในปี 2562

 220920-th-deep-salt-art-pattani-1.jpg

พีระภรณ์ เพียร ประติมากรและศิลปิน วัย 27 ปี สาธิตการผลิตผลงานของเธอในนิทรรศการ ในตัวเมืองปัตตานี วันที่ 2 กันยายน 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)

นิทรรศการที่จัดโดย ฮาดีย์ ยังนำเสนองานศิลปะและการออกแบบ หัตถกรรม การประดิษฐ์ตัวอักษร การแสดงดนตรี การประชุมเชิงปฏิบัติการจากผู้เชี่ยวชาญในการทำบล็อก ภาพวาดเรือ ระบายสีผ้าบาติก และการสาธิตการทำอาหารท้องถิ่น ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ อีกด้วย

เราต้องการส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรม มรดกท้องถิ่น เครื่องแต่งกายและความรู้ในท้องถิ่นฮาดีย์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มมลายูลีฟวิ่ง (Melayu Living) กลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพที่ร่วมกันขับเคลื่อนการรับรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“Field Work” ซึ่งเป็นงานศิลปะในนิทรรศการ โดยศาวินี บูรณศิลปิน แห่ง Thingsmatter เป็นงานแสดงแบบแนว Installation ติดตั้งกระจกทรงกลมขนาดเล็ก จำนวน 625 แผ่น บนเสาเหล็กบนพื้นที่ 50x50 เมตร ในแปลงนาเกลือ ในตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี โดยมีแนวคิดในการสะท้อนภาพการค้าเกลือของปัตตานี ที่ว่าเมื่อเรือสินค้ามาเทียบท่าที่นี่ก็จะมีแสงไฟระยิบระยับ

220920-th-deep-salt-art-pattani-2.jpg

คนขายเบอร์เกอร์เดินอยู่หน้ารถขายอาหารเคลื่อนที่ ในช่วงการแสดงนิทรรศการถอดรหัสลับปัตตานี ตัวเมืองปัตตานี วันที่ 2 กันยายน 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)

ด้านศิลปินและนักออกแบบผ้า วัย 40 ปี อย่างเช่น ณัฐพล พิชัยรัตน์ ได้วาดภาพพืชพันธุ์ที่พบในบริเวณทุ่งเกลือบนกระดาษ แล้วพิมพ์ลงบนผ้าแบบดิจิทัล เพื่อ “ปรับทัศนคติและออกแบบการรับรู้เสียใหม่

ผมเลือกต้นไม้เพราะมันเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่สวยงาม นำมาซึ่งความสุขและความสงบสุข ผมอยากจะบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับความงามและธรรมชาติของปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียงณัฐพลกล่าวและเสริมว่าเขาต้องการเห็นภาพเมืองใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม

ในงานศิลปะ “Le Sel de La Vie” (เกลือแห่งชีวิต) เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา จัดแสดงเซรามิก ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก เกลือหวานของปัตตานีตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทาง

หากไม่มีเกลือ ก็ไม่มีชีวิต หากปราศจากชีวิต ก็ไม่มีศิลปะ หากปราศจากศิลปะ ก็ไม่มีอารยธรรมเอ็มโซเฟียน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ยินดีต้อนรับทุกคนมาสู่เมืองปัตตานี เมืองเล็ก ๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่และประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ไม่ได้มีเพียงระเบิดและภยันตราย มีสิ่งดี ๆ มากมายที่นี่ อย่างงานหัตถกรรม การออกแบบ อาหาร บ้านเก่าเอ็มโซเฟียน นักออกแบบ และศิลปินวัย 43 ปี ที่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส กล่าวเพิ่มเติม

 220920-th-deep-salt-art-pattani-3.jpg

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เจ้าของงานศิลปะ เกลือแห่งชีวิต ระหว่างแสดงผลงานของเขา ในนิทรรศการถอดรหัสลับปัตตานี วันที่ 2 กันยายน 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)

ปัตตานี เป็นใจกลางของสามจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวใจของอาณาเขตของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งรวมถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยอังกฤษยินยอมให้อยู่ในการปกครองของไทย ซึ่งผนวกดินแดนนี้ไว้ในปี 2452 ต่อมาในห้วงทศวรรษ ปี 2504 ได้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ

ดร. เรืองลดา ปุณยลิขิต แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งร่วมโครงการกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า งานนิทรรศการอย่าง “เกลือหวาน” ช่วยขจัดอัตลักษณ์ที่ถูกตีตราว่าเต็มไปความรุนแรงของภูมิภาคนี้

สำหรับเป้าหมายส่วนหนึ่งของโครงการนั้น ดร. เรืองลดา บอกว่าต้องการกำลังช่วยผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้สามารถนำวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับนวัตกรรมใหม่ เช่น สมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ และงานฝีมือ

อัตลักษณ์ของคุณไม่ควรถูกกำหนดด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว จากภายนอกสถานการณ์ดูไม่ดีเนื่องจากข่าวเกี่ยวกับความรุนแรง แต่เมื่อคุณมาที่นี่ คุณจะเห็นว่าชีวิตปกติและไม่อันตรายอย่างที่คนอื่นคิดอาจารย์เรืองลดา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง