ชาวมุสลิมมลายูคัดค้านทหารนิมนต์พระไปสอนหนังสือในตาดีกา
2023.02.15
ปัตตานี
ปรับปรุงข้อมูล 08:25 a.m. ET 2023-02-16
ชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงการคัดค้านต่อการที่เจ้าหน้าที่ทหารนิมนต์พระสงฆ์ไปช่วยสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ฟัรฎูอินบูงอบังซอ ในบ้านดูกู อำเภอบาเจาะ นราธิวาส และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดการแทรกแซงการเรียนรู้ศาสนาอิสลาม
ด้าน แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามแนวปฏิบัติของสังคมพหุวัฒนธรรม และไม่ควรให้ใครชี้นำไปในทางที่ก่อให้เกิดปัญหา
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ชุดสันติสุขที่ 406 ร่วมกับชุดทักษิณสัมพันธ์ที่ 401 และ ทพ.นย.15 ได้นิมนต์พระสมุห์จิรพนธ์ ธมมจาโร เจ้าอาวาสวัดอุไรรัตนาราม ไปช่วยสอนเรื่องประวัติศาสตร์ธงชาติไทยและอุดมการณ์ความรักชาติ รวมถึงมอบอุปกรณ์กีฬา ที่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ฟัรฎูอินบูงอบังซอ ในบ้านดูกู โดยให้เหตุผลของกิจกรรมว่า “เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติให้กับเด็กและเยาวชน สนับสนุนงานสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม”
หลังจากนั้น สภาเยาวชนบ้านดูกู (Persatuan Pemuda Pemudi Kampung Duku) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารยุติการดำเนินการดังกล่าว ขณะที่ชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่ได้ออกมาวิพากษ์-วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ข้อเรียกร้องของสภาเยาวชนบ้านดูกู มี 4 ข้อ ดังนี้คือ 1. หน่วยงานระดับบังคับบัญชาที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างต้องทบทวนนโยบายการทำกิจกรรมที่เป็นปัญหา พร้อมทั้งออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณชนในสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดอย่างเร่งด่วน 2. ขอให้ยุติความพยายามในการแทรกแซง และซ้อนทับเวลาวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ที่ชุมชนรังสรรค์ให้เป็นเวลาของเด็ก ๆ ในการเรียนรู้หลักการศาสนาอิสลามภาคบังคับหรือฟัรฺฎูอีน 3. ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาว ร่วมกันใช้สื่อทุกช่องทางประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และ 4. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์ที่อ้างว่าเป็นการมาเยี่ยมเยียนหรือทำกิจกรรมกับสถาบันการศึกษาของชุมชนให้ชัดเจนและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง
เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามความคิดเห็นจาก พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งแม่ทัพได้กล่าวว่า
“นี่คือสังคมพหุวัฒนธรรมครับ ผมว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ไม่น่าจะเป็นประเด็น มันไม่เหมาะสมตรงไหน ผมว่าอย่าชี้นำดีกว่า”
ล่าสุด ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ได้ชี้แจงว่า ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ชุดสันติสุขที่ 405 ได้จัดหาธงชาติไทยและช่วยซ่อมแซมที่ฉีกขาดชำรุด ตามการประสานจากเจะฆู โรงเรียนตาดีกาฟัรฏอีน พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องธงชาติไทย ตามโครงการครูช่วยสอน และยังได้นิมนต์พระครูสมุห์จิรพนธ์ ไปแจกอุปกรณ์การศึกษาและขนมให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งท่านได้กระทำในโรงเรียนตาดีกาในหลายพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง และท่านไม่ได้ร่วมในกิจกรรมครูช่วยสอนแต่อย่างใด
ข้อมูลในปี 2563 พบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกา 2,116 แห่ง นักเรียน 159,305 คน และครู 14,732 คน
เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่อง “โรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน” ซึ่งเก็บข้อมูลจากครู 17 คน ในโรงเรียนตาดีกา จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มเข้าไปเยี่ยมในโรงเรียนตาดีกาตั้งแต่ปี 2551 โดยส่วนมากมักมาโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และไม่ระบุวัตถุประสงค์ โดยใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ 1-2 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่มักมาพูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ตัดผมเด็ก มอบภาพกษัตริย์ ธงชาติ อุปกรณ์กีฬา ขนม หรือสอนเรื่องภัยยาเสพติด ขณะเดียวกันก็มีการเก็บภาพครูและเด็กขณะสอน เก็บรายชื่อ ประวัติ ภาพบัตรประชาชนของเด็กและครู ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 71 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ควรมาทำกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกา เนื่องจากรบกวนการสอน และทำลายสมาธิของเด็ก อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องมา แนะนำให้เจ้าหน้าที่ไม่พกอาวุธ แจ้งเวลาและวัตถุประสงค์ล่วงหน้า รวมถึงไม่ใส่เครื่องแบบ แต่ติดป้ายชื่อแสดงตัวให้ชัดเจน
พระสมุห์จิรพนธ์ ธมมจาโร เจ้าอาวาสวัดอุไรรัตนาราม แจกเอกสารให้กับนักเรียนมุสลิมในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ฟัรฎูอีนบูงอบังซอ บ้านดูกู อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 (เจ้าหน้าที่)
ชาวมลายูกล่าวหารัฐกลืนเชื้อชาติศาสนา
ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีประชากรประมาณสองล้านคน เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 83 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ ใช้อาวุธในความพยายามแบ่งแยกดินแดนมากว่าหกสิบปี และประชาชนยังมีความขัดแย้งกับรัฐในเรื่องอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมมลายู
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า การกระทำทางทหาร อาจถูกมองได้ว่าเป็นความพยายามในการกลืนอัตลักษณ์
“วันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลาของเด็กในการเรียนรู้หลักการศาสนาอิสลามที่โรงเรียนตาดีกา ทหารมาก็บ่น แล้วนี่พาพระมา พระท่านอยู่ของท่านดี ๆ คนจะมองได้ว่าที่ทหารทำกำลังกลืนกลายทั้งเชื้อชาติและศาสนา หยุดเถอะ การนำเจ้าอาวาสมาสอนโรงเรียนตาดีกา” นางสาวอัญชนากล่าว
ด้าน ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ว่าโครงการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่อาจยิ่งสร้างความเกลียดชังระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวมุสลิมในพื้นที่
“ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะวัยเยาว์หรือวัยผู้ใหญ่ อะไรก็ตามที่เอามายัดเยียดให้คนเขากิน เขาไม่กินหรอก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากกิน ยิ่งยัด ยิ่งอึดอัด แน่นอนยิ่งแตกหัก เด็กเขามีสมองและมีศรัทธา... ความรักและความศรัทธามันเกิดจากเขาแสวงหาด้วยตัวเอง” ผศ. เจะอับดุลเลาะ กล่าว
ขณะที่ประชาชนจากจังหวัดยะลารายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล เพื่อความเป็นส่วนตัว) กล่าวว่า ทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศจากศัตรู ในโรงเรียนตาดีกามีแต่เด็ก ไม่มีศัตรูของทหาร
“พหุวัฒนธรรมไม่ใช่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม แต่คือการดำรงอยู่ของแต่ละวัฒนธรรมอย่างมีเอกลักษณ์ หรือมีอัตลักษณ์ของตนเอง โดยไม่มีการก้าวล่วง แทรกแซง หรือพยายามหลอมรวมให้กลายเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสวยงาม ในพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว โดยไม่ต้องก้าวล่วง หรือแทรกแซงเพื่อให้เกิดความกลมกลืน ทหารควรทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” ประชาชนคนเดียวกันกล่าวกับเบนาร์นิวส์
* ข้อมูลก่อนหน้า ไม่มีคำตอบจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ กอ.รมน. ชี้แจงเรื่องการนิมนต์พระ และการสอนในโรงเรียนตาดีกา