ผู้สมัคร ส.ส. ชายแดนใต้ชูนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.05.09
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ผู้สมัคร ส.ส. ชายแดนใต้ชูนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผู้สนับสนุนพรรคประชาชาติถือป้าย ในวันแรกของการลงทะเบียนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ที่จังหวัดนราธิวาส วันที่ 3 เมษายน 2566
เอเอฟพี

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์นี้ ผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอนโยบายกระจายอำนาจปกครองสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อดึงดูดใจของประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งด้วยอาวุธมาเกือบสองทศวรรษ และวางเป้าหมายที่จะลดการใช้กฎหมายพิเศษลง

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ได้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุ

และช่วงเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท แต่ผลลัพธ์ที่คนชายแดนใต้เห็น คือ “การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

“ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธในชายแดนใต้จะหมดไป ต้องตอบว่าเมื่อคนสามารถพูดเรื่องเอกราชปาตานีได้อย่างเสรี ไม่ถูกคุกคามหรือจับเข้าคุก เพราะเชื่อว่าถ้าอุดมการณ์เหล่านี้ถูกเอามาถกเถียงกันได้ การปะทะด้วยอาวุธก็จะลดลง” สุไฮมี ดูละสะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 3 ปัตตานี พรรคเป็นธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในภูมิภาคนี้ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับอยู่ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และกฎอัยการศึก

พรรคเป็นธรรม คือ พรรคขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ได้ดึงเอากลุ่มการเมืองปาตานี บารู (Patani Baru) ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือกลุ่ม PerMAS ที่สลายตัวไปแล้ว) มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้กลายเป็นอีกตัวเลือกที่คนมุสลิมรุ่นใหม่อาจจะให้การสนับสนุน

“เราเสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเดิมทั้งหมด แล้วให้จังหวัดจัดการตัวเอง ให้ผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้ง มีฝ่ายนิติบัญญัติของจังหวัดเอง ซึ่งคล้ายกับการปกครองของกรุงเทพฯ ยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมด และยกระดับการพูดคุยสันติภาพ โดยคณะพูดคุยเป็นพลเรือน ไม่ใช่ฝ่ายความมั่นคง ต้องให้อำนาจคณะพูดคุยฯ ในการทำข้อตกลงต่าง ๆ ด้วย”​ สุไฮมี กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดนราธิวาส ได้เชิญ ฮาฟิส ยะโกะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 3 นราธิวาส พรรคเป็นธรรม ไปชี้แจงหลังจากปรากฏข้อความบนป้ายหาเสียงว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ซึ่ง กกต. มองว่าประโยคดังกล่าว อาจหมิ่นเหม่ที่จะกระทบความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม พรรคเป็นธรรมได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อ กกต. ในเรื่องดังกล่าวยืนยันว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ไม่ใช่การเรียกร้องให้ “ปาตานีปกครองตนเอง” พรรคยังยืนยันอีกด้วยว่าจะไม่ปลดป้ายหาเสียงดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนที่เข้มแข็ง

 230509-th-deep-south-election-policy-1.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่หาเสียง ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 (เอเอฟพี)

แนวทางแก้ปัญหาของพรรคต่าง ๆ

ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่ครองเก้าอี้ ส.ส. ชายแดนใต้มากที่สุดคือ ประชาชาติ 6 ที่นั่ง (และ ส.ส. พรรคอีกหนึ่งที่นั่ง), รองลงมาคือ พลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย พรรคละ 1 ที่นั่ง ส่วนในปี 2566 เก้าอี้ ส.ส. แดนใต้ เพิ่มขึ้นจาก 11 ที่นั่ง เป็น 13 ที่นั่ง การปรากฏตัวของผู้เล่นหน้าใหม่ที่ชื่อ “พรรคเป็นธรรม” พร้อมกับนโยบาย “ปาตานีจัดการตนเอง” ทำให้เขาได้รับความสนใจ ทั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และฝ่ายความมั่นคง

ในฐานะพรรคเจ้าถิ่น พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยืนยันว่า นโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ และยกเลิกกฎหมายพิเศษ

“ทุกพรรคเห็นด้วยว่าต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ถ้าพรรคประชาชาติเป็นรัฐบาลแล้ว นอกจากยกเลิกกฎหมายพิเศษ เรายังจะมีการร่าง พ.ร.บ. สร้างสันติสุข ตั้งสภาสันติสุข ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะที่ผ่านมาการพูดคุยมักให้ทหารนำ” พ.ต.อ. ทวี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เราจะเสนอให้มีประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปผู้ปฏิบัติทางกฎหมาย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการ ทหารต้องอยู่ใต้กฎหมาย ใต้รัฐบาลพลเรือน และต้องแก้ธรรมนูญศาลทหาร” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

ด้านพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ โมฮำมัดรอฮมัด มามุ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 4 ปัตตานี เชื่อว่าการกระจายอำนาจ และลดความเหลื่อมล้ำจะช่วยแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้ได้

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนที่ต้องเร่งแก้ คือ ความเหลื่อมล้ำ ต้องเอาอำนาจจากส่วนกลางมากระจายสู่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจะได้บริหารงบประมาณด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวไกลจะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดอำนาจทหาร” โมฮำมัดรอฮมัด กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“และยกระดับ ศอ.บต. ให้พลเรือนมีอำนาจมากขึ้นในการนำเสนอ ต่อรอง รวมถึงการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ปัญหาชายแดนใต้จะหมดไปเมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ประชาชนสามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองผ่านรัฐสภา” โมฮำมัดรอฮมัดกล่าวถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานระดับพื้นที่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

230509-th-deep-south-election-policy2.jpg

ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มาร่วมสังเกตการณ์ในวันแรกของการขึ้นทะเบียนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ที่มีขึ้นในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 3 เมษายน 2566 (เอเอฟพี)

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งผู้ท้าชิงอย่าง รุสดี แวบือซา ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 3 ปัตตานี พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าการเข้าใจนิสัยของคนชายแดนใต้เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา

“ปัญหาชายแดนใต้ คือแหล่งขุมทรัพย์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม เพราะตราบใดที่มีเสียงปืน เสียงระเบิด งบประมาณก็จะลงมา เขาจึงมองมันเป็นธุรกิจในภาวะสงคราม หาผลประโยชน์จากมัน เลี้ยงสถานการณ์ เลี้ยงไข้เอาไว้เพื่อให้ได้ผลประโยชน์” รุสดีกล่าว

“รัฐจะต้องวางตัวเป็นกลาง เข้าใจวิถีชีวิตของในพื้นที่ ต้องเอาชนะใจผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เราเห็นด้วยกับการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง เพราะปัญหาต้องแก้ด้วยคนในพื้นที่”

“ผมเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีผลงานในการพัฒนาชายแดนใต้ เพราะมุ่งแต่สร้าง ซ่อมแซมถนน รัฐเอางบประมาณละลายแม่น้ำ... ชาวบ้านคุณภาพชีวิตเท่าเดิม เราจึงต้องแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ปรับราคายาง เพิ่มรายได้ เป็นเรื่องสำคัญ ชาวบ้านอยากกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รุสดี กล่าวเพิ่มเติม

นักวิเคราะห์ : ประชาชาติยังมีโอกาสมากที่สุด

รศ.ดร. ไฟซ็อล หะยีอาวัง อาจารย์สาขาวิชาภาษามลายูและมลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลือก ส.ส. เป็นรายบุคคลมากกว่าพรรคต้นสังกัด

“การตัดสินใจเลือกของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความผูกโยงกับตัวบุคคล เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะโน้มเอียงไปที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค ดังนั้นพรรคประชาชาติซึ่งชาวบ้านคุ้นเคยจึงมีโอกาสสูงที่สุดที่จะได้รับเลือก และถึงเเม้ว่า ตัว ส.ส. จากพรรคอื่นที่ลงพื้นที่ เขาก็ยังหาเสียงให้พรรคประชาชาติ โดยจะมีการหาเสียงว่า ส.ส. เขตคุณเลือกผม เเต่ปาร์ตี้ลิสต์ให้เลือกประชาชาติ” รศ.ดร. ไฟซ็อล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

230509-th-deep-south-election-policy-main.jpg

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ทักทายกับประชาชนในพื้นที่พ่อมิ่ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 (เบนาร์นิวส์)

“พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรมก็เป็นขวัญใจวัยรุ่น นโยบายโดนใจ โดยเฉพาะเป็นธรรมคนชื่นชอบเยอะ เพราะจะยกระดับการพูดคุย แต่ปัญหาคือ คนยังไม่ค่อยรู้จักเขา การเปิดตัวก็ช้า แต่ก็คิดว่าน่าจะได้คะแนนหลักหมื่น” รศ.ดร. ไฟซ็อล กล่าวเพิ่มเติม

รศ.ดร. ไฟซ็อล กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังเลือกตั้ง และสถานการณ์หลาย ๆ อย่างน่าจะดีขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่ การเข้าถึงประชาชน ขณะที่อำนาจของทหารในการนำการแก้ไขปัญหาน่าจะลดน้อยลง

รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน พยายามใช้กระบวนการเจรจารูปแบบต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจามาตั้งแต่ปี 2556 แต่กระบวนการต้องหยุดชะงักหลายครั้ง ทั้งจากการเปลี่ยนรัฐบาล และเปลี่ยนคณะทำงาน

จนกระทั่งในตอนต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น หนึ่งในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีฐานกำลังมากที่สุดในชายแดนใต้ ได้เริ่มเจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง โดยใช้ชื่อว่า “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” และในต้นปี 2566 นี้ ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่จะพยายามดำเนินแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan toward Peace - JCPP) ให้สำเร็จเพื่อยุติปัญหาอย่างถาวร

ล่าสุด ฝ่ายบีอาร์เอ็นยังรีรอที่จะเปิดการเจรจาทั้งในระดับคณะกรรมการทางเทคนิกและระดับการเจรจาเต็มคณะ จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาหลังเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง