แม่ทัพภาคสี่ยุติแผนขุดศพ 'ยาห์รี ดือเลาะ' หลังครอบครัวคัดค้าน

มารียัม อัฮหมัด
2022.12.12
ปัตตานี
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
แม่ทัพภาคสี่ยุติแผนขุดศพ 'ยาห์รี ดือเลาะ' หลังครอบครัวคัดค้าน เจ้าหน้าที่ทหารพราน (ขวาสุด) เจรจากับกลุ่มญาติของนายยาห์รี ดือเลาะ และชาวบ้าน เพื่อขอขุดศพที่ภรรยาของนายยาห์รี ระบุว่าเป็นสามีของตน เพื่อการตรวจดีเอ็นเอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส วันที่ 10 ธันวาคม 2565
ภาพ ญาติของนายยาห์รี ดือเลาะ

อัตลักษณ์ของชายที่มีผู้พบเห็นเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำสุไหงโกลก นราธิวาส เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังเป็นปริศนาต่อไป หลังจากที่ญาติของยาห์รี ดือเลาะ และเพื่อนบ้าน ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ขุดศพชายที่ภรรยาของ นายยาห์รี ดือเลาะ ระบุว่าเป็นสามีของตนไปตรวจดีเอ็นเอ

ในก่อนหน้านี้ นางนูไรนิง ดือรอแม ภรรยาของนายยาห์รี กล่าวว่า แผลที่ขาของศพตรงกับแผลที่ขาของนายยาห์รีที่ตนจำได้ และทางญาติ ๆ จึงได้ฝังศพไว้ที่กุโบร์ปาฮงกือปัส อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ลายนิ้วมือของศพไม่ตรงกับลายนิ้วมือนายยาห์รี ในทะเบียนราษฎร์ และการตรวจดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อที่เน่าเปื่อยไม่ได้ผล

นายยาห์รี ดือเลาะ (ชื่อไทย) หรือที่แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นระบุถึงในนาม ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ อายุ 42 ปี เป็นสมาชิกขบวนการ ซึ่งถูกลักพาตัวในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายนนี้ โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบของไทยก่อนกลายเป็นศพ  

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ได้เดินทางไปยังกุโบร์ปาฮงกือปัส เพื่อจะขุดศพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของนายยาห์รี มาเพื่อเก็บสารพันธุกรรม แต่ต้องยอมล้มเลิกความตั้งใจเพราะครอบครัวของนายยาห์รี และชาวบ้านคัดค้านแผนดังกล่าวจนเกือบบานปลาย

“เขาไม่ให้ขุด ก็ไม่เป็นไร เราก็ไม่ขุด เพราะเราถือว่าเราได้ทำตามกฎหมาย เนื่องจากหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าศพนี้ไม่ใช่นายยาห์รี ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางฝ่ายปกครองเขาก็ยืนยัน ไม่ใช่สามีเขา ไม่ใช่คนในครอบครัวของเขา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเก็บศพไว้ทำไม” พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ตามกฎหมายเราต้องนำศพขึ้นมาตรวจสอบว่าเป็นศพของใคร เผื่อญาติเขากำลังตามหา ถ้าศพนี้เป็นศพของญาติเขา เขาจะคิดอย่างไร เราต้องมองหลายมุม... ไม่เป็นไรเราก็ไม่อยากไปทำลายมวลชนเปล่า ๆ อยากให้ประชาชนรู้เองว่าทำไม เขารู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่ แต่เขาต้องการศพนั้นเพื่ออะไร”

ด้าน นางนูไรนิง ดือรอแม ภรรยาของนายยาห์รี ระบุว่า กรณีที่เกี่ยวกับสามีเธอเสร็จสิ้นแล้ว แม้ก่อนหน้านี้เธอจะพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายยาห์รี

“ศพนั้นเป็นของสามีฉัน ฉันเลยรับศพไปเพื่อทำพิธีฝัง ก็ไม่เอาอะไรแล้ว” นางนูไรนิง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

หลังจากมีชาวบ้านพบ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ศพดังกล่าวถูกนำไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม นางนูไรนิง ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลอีกครั้ง และยืนยันว่าแผลเป็นบนขาของศพตรงกับของนายยาห์รี และครอบครัวได้ขอรับศพไปประกอบพิธีฝังศพ โดยยังไม่มีผลการตรวจดีเอ็นเอให้เรียบร้อย

พ.ต.อ. ปรัชญา ไบเตะ ผกก. สภ.สุไหงโก-ลก กล่าวว่า ในการตรวจสอบและยืนยันดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องได้ตัวอย่างดีเอ็นเอจากไขกระดูกเพื่อส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพราะเนื้อเยื่อที่เก็บได้จากศพก่อนหน้านี้ มีสภาพที่เน่าเปื่อยเกินไปจนไม่สามารถใช้ตรวจพิสูจน์ได้

ขณะที่ พล.ต.ท. นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลต่อไปหรือไม่

“ด้วยหลักการชั้นสูตรพิสูจน์ศพ ถือว่ายังไม่สำเร็จลุลวงเพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยสาเหตุอะไร ตายเมื่อไหร่” พล.ต.ท. นันทเดช กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

ข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยอุ้มฆ่า

ตามประวัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย นายยาห์รี เป็นบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคง 3 หมาย คือ คดีวางเพลิงและปล้นรถยนต์ ในอำเภอตากใบ นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560, คดียิงคนหาของป่าบาดเจ็บ 2 ราย ในอำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และคดียิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตที่อำเภอสุไหงปาดี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 (ต่อมามีการถอนหมายจับ) หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายยาห์รีได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย

หลังจากการพบศพในแม่น้ำโกลก บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ศพที่ถูกพบเป็นศพของสมาชิกระดับอาวุโส ชื่อ ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ หรือยาห์รี

อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของบีอาร์เอ็น อ้างว่านายยาห์รีถูกอุ้มขึ้นรถโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย จากเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายน และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนการเสียชีวิตของนายยาห์รี

“เราเร่งติดตามหาคนร้าย ยังหาตัวไม่เจอ” เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งขอสงวนนามเพราะไม่มีอำนาจให้ข่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เดอะปาตานี” ระบุว่า การลักพาตัวนายยาห์รี ไม่ใช่การลักพาตัวครั้งแรก โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการลักพาตัวคนไทยในต่างแดนแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง รวมทั้งเคสนายยาห์รี

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า นับตั้งแต่การปะทุของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงกว่า 7,344 คน และบาดเจ็บ 13,641 คน มีทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น พยายามดำเนินการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่สะดุดลงเพราะการระบาดของโควิด-19   

มาจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น มีกำหนดเจรจากันแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งที่ 6 แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง