รัฐปล่อยผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงกลับบ้านช่วงรอมฎอนเป็นครั้งแรก

หลังข้อตกลงการพูดคุยสันติสุขไทยและบีอาร์เอ็น เมื่อต้นเมษายน
มารียัม อัฮหมัด
2022.04.12
ปัตตานี
รัฐปล่อยผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงกลับบ้านช่วงรอมฎอนเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัว 2 ผู้ต้องสงสัยจากศูนย์ซักถามหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี วันที่ 8 เมษายน 2565
เบนาร์นิวส์

นับเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนรอมฎอน ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่กองทัพเปิดทางให้ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงและผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งในและนอกประเทศ จำนวน 55 ราย ได้กลับเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมประกอบศาสนกิจกับครอบครัวในช่วงการถือศีลอด และให้สอดคล้องกับแนวทาง “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่า กองทัพจะรับรองความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะกลับบ้าน

เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายความมั่นคงยังได้ทำการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกนำตัวมาเข้ากระบวนการซักถามในค่ายทหาร จำนวน 6 ราย กลับบ้าน

ผู้ต้องสงสัยที่กลับมาแล้วและชาวบ้าน เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับการที่รัฐบาลปล่อยตัวให้กลับบ้านในช่วงการถือศีลอด หรือรอมฎอน ขณะที่บางครอบครัวยังคงไม่ไว้ใจรัฐเรื่องแนวทางการปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่เคยทำข้อมูลผู้ต้องสงสัยผิดพลาด และควบคุมตัวผู้บริสุทธิ์มาแล้ว

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2565 เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและตัวแทนบีอาร์เอ็นได้ร่วมการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และมีข้อตกลงว่า จะยุติการใช้ความรุนแรงชั่วคราว รวมทั้งรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัว ซึ่งข้อตกลงนี้เรียกว่า “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข”

พล.ท. เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า กองทัพพยายามแสดงความจริงใจเรื่องเงื่อนไขการพูดคุยสันติสุข โดยพยายามปลดป้ายหมายจับ และพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

“ขณะนี้มีผู้ที่เห็นต่างขอเข้าร่วมโครงการสานใจสู่สันติแล้ว จากทั้งในมาเลเซีย และไทยเอง 229 ราย โดยเดินทางกลับมาแล้ว 55 ราย เชื่อว่าจะมีคนเดินทางเข้ามาเพิ่มอีก หากการสร้างความไว้ใจสำเร็จ แต่ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ยังต้องเฝ้าระวังมือที่สาม เพราะมีกลุ่มคนที่ไม่อยากให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งเราก็ได้กำชับกำลังพลของเราให้อดทน” พล.ท. เกรียงไกร กล่าว

ด้าน พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กองทัพได้ทำการปล่อยตัว ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงซึ่งถูกนำตัวมาเข้ากระบวนการซักถามในค่ายทหารจำนวน 6 รายกลับบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” และระบุว่า มีผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งในและนอกประเทศกว่า 200 คนประสานเพื่อขอกลับเข้ามาในพื้นที่เพื่อประกอบศาสนากิจในช่วงการถือศีลอดแล้ว โดยกองทัพเรียกการดำเนินการครั้งนี้ว่า “โครงการสานใจสู่สันติ” ซึ่งกองทัพจะรับรองความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะกลับบ้าน

“ดีใจมากที่ได้ออก ช่วงนี้เป็นช่วงรอมฎอน ต้องขอบคุณที่ปล่อยออกมา เพราะถ้าปอซอ (อดอาหาร) อยู่ข้างในค่ายก็จะลำบาก ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ทำอะไรผิด” ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าว

นายดิง (สงวนนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ว่าโครงการสานใจสู่สันติ ซึ่งกองทัพดำเนินการเป็นทางออกที่ดีสำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้

“โครงการพาคนกลับบ้าน หรือชื่อใหม่ สานใจสู่สันติ ถือเป็นวิธีที่ดีกว่าการนำกำลังทหารมาปิดล้อมจับกุม ที่ทำให้ชาวบ้านตกใจ เพราะที่ผ่านมาหลายกรณี เด็กที่โดนเจ้าหน้าที่ปิดล้อมเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งการปิดล้อมทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และรู้สึกตลกที่รัฐได้ข้อมูลที่ผิดพลาดเช่นนั้น การให้ผู้นำชุมชนพาเด็กไปเข้าโครงการก็ถือว่าดีกว่าการปิดล้อม” นายดิง กล่าว

เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ (สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้งดการใช้การดำเนินการตามข้อตกลงสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้

“ช่วงนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติภารกิจตามที่มีการพูดคุยสันติสุข โดยให้กลุ่มที่คิดเห็นต่างกลับบ้านได้ ภายใต้เงื่อนไข ห้ามเกิดเหตุ และห้ามพกอาวุธเข้ามาในพื้นที่ แต่ทีมข่าวยังได้ข้อมูลว่า ตลอด 3 วันที่ผ่านมา สมาชิกขบวนการก็มีการรวมตัวประชุมวางแผนอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีการหยุดพักเพื่อปฏิบัติศาสนกิจช่วงรอมฎอน ในหลายชุมชนยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ระบุ

“อยากเชิญชวนให้ผู้ที่หลบหนีกลับมาอยู่กับครอบครัวในช่วงนี้ได้เลย แค่บอกเรามาว่าคุณกลับมาแล้วจะไม่ก่อเหตุและไม่พกอาวุธ เราก็จะไม่จับ ไม่ทำอะไร แต่หลังจากนั้นคุณจะเข้าร่วมโครงการสานใจไทยสู่สันติ หรือจะกลับเข้าป่าอีกก็แล้วแต่คุณ ถ้าคุณกลับมาเราก็ไม่ทำอะไร แต่จากนั้นเราก็คงปฏิบัติการเหมือนเดิม” เจ้าหน้าที่ทหารรายเดิม กล่าว

บางครอบครัวของผู้ต้องสงสัยยังแคลงใจในโครงการรัฐ

ขณะที่ นางสือนะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า บุตรชายของตนเคยถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปร่วมโครงการสานใจสู่สันติ แม้ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบ

“ทหารให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มาบอกให้เอาลูกชายไปมอบตัวเข้าโครงการสานใจสู่สันติ ก็รู้สึกงง เพราะลูกชายไม่เคยมีประวัติร่วมกับกลุ่มขบวนการ โดนแบบนี้ก็ทำให้ตกใจ ไม่รู้ทหารได้ข้อมูลมาจากไหน เพราะถ้าบอกเขาเป็นคนติดยา หรือลักขโมยยังฟังดูน่าเชื่อถือกว่า ขอร้องเถอะอย่าทำให้ชาวบ้านตกใจ และเดือดร้อน” นางสือนะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางแอเสาะ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในแม่ของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ซึ่งยังหลบหนีอยู่ เปิดเผยว่า ตนเองไม่ไว้ใจโครงการดังกล่าว และอยากให้ลูกของตนเองหลบหนีต่อไป

“อย่ามาหลอกให้เขากลับมาอยู่ที่สว่างเลย เขาอยู่ที่มืดก็ดีแล้ว ช่างเขาเถอะ จะมีโครงการอะไรก็ช่างเขา ลูกชายเขาอยู่สบาย แม้ไม่ได้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร” นางแอเสาะ ระบุ

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556

ทั้งนี้ บีอาร์เอ็น ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 62 ปีก่อน เดิมมีจุดประสงค์ที่จะสถาปนาเอกราชในพื้นที่ “ปาตานี ดารุสสลาม” ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยปัจจุบันเชื่อว่า บีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงมกราคม 2565 บีอาร์เอ็นได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายไทย มีความคืบหน้ากระทั่งมีการทำข้อตกลงความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ในต้นเดือนเมษายน 2565 นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง