ชาวบ้านดีใจ ปัตตานีได้ผู้ว่าฯ มุสลิมหญิงคนแรกของชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด
2022.11.15
ปัตตานี
ชาวบ้านดีใจ ปัตตานีได้ผู้ว่าฯ มุสลิมหญิงคนแรกของชายแดนใต้ เด็กรวมตัวกันหน้าโรงเรียนที่ถูกเผา ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 12 ตุลาคม 2557 ทั้งนี้โรงเรียน 6 แห่งได้รับความเสียหายจากเหตุลอบวางเพลิงในชั่วข้ามคืน
รอยเตอร์

ชาวบ้านดีใจ หลังจากในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นมุสลิมหญิงคนแรกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อ ความเป็นผู้หญิงและมุสลิม จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม. มีมติเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้าย ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการ กระทรวงมหาดไทย 37 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

“นางพาตีเมาะ สะดียามู ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดนราธิวาส สํานักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดปัตตานี สํานักงานปลัดกระทรวง” มติ ครม. ระบุ

สำหรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีของ นางพาตีเมาะ เป็นตำแหน่งที่สร้างความฮือฮาให้กับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจาก นับเป็นครั้งแรก ที่มีผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้ง นางพาตีเมาะยังเป็นชาวจังหวัดยะลาโดยกำเนิดอีกด้วย

“กะ (พี่)เมาะเป็นญาติผม คนสามจังหวัด ไม่มีใครไม่ดีใจกับผู้ว่าฯ หญิงคนนี้ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของกะเมาะ ผมมั่นใจว่า มีคนรอคอยมาและสมหวังตามที่รอคอยแล้ว คนทั้งสามจังหวัดต่างดีใจ งานนี้มีคนต้องเชือดแพะแสดงความยินดีแน่นอน”​ นายอับดุลอาซิ ดือราแม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกาบัง จ.ยะลา กล่าว

ขณะเดียวกัน นายมะกอเซ็ง สาเมาะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.กาบัง กล่าวว่า “ดีมาก เรื่องนี้เป็นข่าวดีมาก กะเมาะเป็นคนของทุกคน เป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกที่ได้มาเป็นผู้ว่าฯ จริงอยู่ว่าเป็นผู้ว่าฯ ปัตตานี แต่คนสามจังหวัดก็รู้สึกเหมือนได้ผู้ว่าฯ ของเขา เพราะพวกเขามีความหวังมาตลอด”

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565 มีข่าวระบุว่า นางพาตีเมาะ จะได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำให้เกิดเสียงตอบรับในทางที่ดีมากมาย และมีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงความดีใจกับ นางพาตีเมาะ จำนวนมาก แต่ต่อมากลับพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือสร้างความผิดหวังให้กับคนในพื้นที่ กระทั่งข่าวลือดังกล่าวกลายเป็นเรื่องจริงในวันอังคารนี้

ทั้งนี้ นางพาตีเมาะ เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508 เป็นคนบ้านปีซัด หมู่ 1 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา จบการศึกษาระดับประถมที่ ร.ร.พัฒนาวิทยา จ.ยะลา จบมัธยมศึกษาจาก ร.ร.สาธิต ม.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา จบปริญญาตรีจาก คณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ และปริญญาโท สาขาการจัดการการพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

เคยรับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพัทลุง, รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และยะลา ซึ่งนับว่า นางพาตีเมาะ เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นมุสลิมหญิงคนแรกของประเทศอีกด้วย

“ด้วยความเป็นผู้หญิงของกะเมาะ เชื่อว่าจะสามารถใช้ความอ่อนโยนตรงนี้ มาแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ ได้ดี ขณะเดียวกัน ความเป็นผู้หญิงมุสลิม จะเข้าใจปัญหาได้ดี ที่สำคัญความเสมอต้นเสมอปลายของเขาทำให้ทุกคนยอมรับกะเมาะ” นายมูซอ ลาเต๊ะ ชาวปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง