พล.อ. วัลลภ : เลือกตั้ง 66 ไม่กระทบกระบวนการสันติสุขฯ
2023.02.24
กรุงเทพฯ และปัตตานี
พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่กระทบกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เนื่องจากกระบวนการเป็นวาระแห่งชาติ และวางโครงสร้างไว้แล้ว โดยระบุว่า ในปี 2566 นี้ ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นจะพยายามดำเนินแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ให้สำเร็จ มากกว่าการเน้นทำข้อตกลงระยะสั้น แบบรอมฏอนสันติสุข ซึ่งเคยทำในปี 2565
พล.อ. วัลลภ กล่าวในการแถลงผลการพูดคุยสันติสุขฯ ครั้งที่ 6 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยระบุว่า การพูดคุยระหว่างฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น โดยมีผู้อำนวยความสะดวกเป็นมาเลเซีย เมื่อ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้า โดยปีนี้พยายามวางแนวทาง JCPP ให้สำเร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566 โดยเชื่อว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในกลางปี 2566 นี้จะไม่กระทบกระบวนการ
“มั่นใจว่า ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากกระบวนการสันติสุขที่เกิดขึ้นเนี่ย เป็นขบวนการที่เป็นวาระแห่งชาติแล้ว จริง ๆ แผนต่าง ๆ ก็บรรจุไว้เรียบร้อย แล้วผู้ดำเนินการก็มีการต่อเนื่องในส่วนของ สมช. ที่เป็นฝ่ายเลขาในการดำเนินการ ก็มีความต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็อาจจะมีบ้างที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลหรืออะไรก็ตาม แต่ว่าในส่วนของนโยบายในภาพรวม การทำงานในภาพรวม และส่วนที่เป็นตัวหลักในการดำเนินการก็มีความต่อเนื่อง” พล.อ. วัลลภ กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีการยุบสภาในเดือนมีนาคมที่จะถึง ซึ่งอาจทำให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยการเลือกตั้งอาจทำให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรี
พล.อ. วัลลภ ระบุว่า เป้าหมายของปี 2566 คือการวางแผน Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP ร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยกับบีอาร์เอ็น โดยมุ่งเน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝ่าย จะได้หารือกันระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเริ่มขั้นตอนปฏิบัติ
“JCPP เป็นอีกหมุดหมายหนึ่ง ถ้ายอมรับกันทั้งสองฝ่าย ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวนึง ที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ถาวรในห้วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าทำได้ ภายใน 2 ปี นับจากนี้ ถ้า JCPP บรรลุในเดือนมิถุนาฯ กรกฎาก็เห็นเลย เริ่มต้นของการที่จะลดความรุนแรง หรือยุติการปฏิบัติต่อกัน ปีนี้เราจะเน้นไปที่ JCPP เป็นภาพรวมใหญ่เลย เราจะไม่เน้นเป็นเทศกาลหรือห้วงอะไรเหมือนในอดีต เพราะแต่เดิมที่เราทำเป็นการเพิ่มความไว้วางใจต่อกัน ตอนนี้เรามีความไว้วางใจระดับนึง เลยทำแผนร่วมกัน” พล.อ. วัลลภ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กรกฎาคม 2566 จะเห็นข้อตกลงหยุดยิง พล.อ. วัลลภ ระบุว่า “หวังว่า”
อย่างไรก็ตาม แม้ถูกถามว่า จะมีการเชิญกลุ่มผู้เห็นต่างกลุ่มอื่นนอกจากบีอาร์เอ็น เช่น พูโล บีไอพีพี หรือมาราปาตานี เข้าร่วมการพูดคุยหรือไม่ พล.อ. วัลลภ ระบุเพียงแค่ทุกฝ่ายกำลังใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ระบุว่า จะเชิญกลุ่มใดบ้าง
ด้าน พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า ฝ่ายความมั่นคงพยายามสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
“ถ้าทุกอย่างมันพัฒนาไปดีขึ้น ทางกลุ่มคู่ความขัดแย้งไม่มีการก่อเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย” พล.ต. ปราโมทย์ กล่าว
หลังฟังแถลงข่าว น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากมีความจริงใจที่จะทำ
“ภาคประชาสังคมถูกกีดกันจากกระบวนการพูดคุยมาตลอด การมีส่วนร่วมจึงไม่เกิดขึ้นเลย การแถลงข่าววันนี้จึงคล้ายกับว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งตัวแทนมาเพื่อโกหกคณะพูดคุยฯ จนคณะพูดคุยไม่รู้สถานการณ์จริง การที่ทหารบอกว่า พยายามลดความรุนแรง ลดการเผชิญหน้าโดยอาวุธสงคราม ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะเขาใช้มาตลอด เพราะหากฝ่ายความมั่นคงมีความจริงใจที่จะสร้างบรรยากาศที่ดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย จนทำให้มีผู้ต้องสงสัยต้องเสียชีวิต ถ้าจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยจริง ๆ” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19
ในต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ที่จะดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้การพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งแต่เดิมจะมีขึ้นในปลายปี 2565 ต้องหยุดชะงักไป ก่อนที่จะมีการกำหนดการพูดคุยสันติสุขฯ อีกครั้งในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์