บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์หนุนกลุ่มผู้ประท้วงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.09
กรุงเทพฯ
บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์หนุนกลุ่มผู้ประท้วงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผู้ประท้วงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ชุมนุมหน้ากระทรวงมหาดไทย ในกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 9 ธันวาคม 2564
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์

กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู  หรือ BRN แถลงทางยูทูบในวันพฤหัสบดีนี้ว่า กังวลต่อท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อผู้ประท้วงกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น และประณามการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลของเจ้าหน้าที่ในวันจันทร์ ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงเกือบร้อยคนยังปักหลักชุมนุมข้ามคืนที่หน้าอาคารสหประชาชาติ โดยกล่าวว่าจะเดินทางมาทวงสัญญาอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์หน้า

กลุ่ม BRN ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบ Jabatan Penerangan ของฝ่ายข้อมูลบีอาร์เอ็น ระบุว่า ปัจจุบัน ชาวมุสลิมในจะนะต่อสู้มาอย่างยาวนาน แต่ถูกกดขี่และใช้ความรุนแรงจากรัฐบาล

“ไม่ควรมีการกระทำที่รุนแรงจากรัฐบาลสยามกับพี่น้องของเรา โครงการพัฒนาแบบใดจะเกิดขึ้นหากในช่วงแรกเริ่มละเลยความปลอดภัยและไม่เคารพหลักประกันชีวิตมนุษย์ พวกเราบีอาร์เอ็นกังวลอย่างมากเกี่ยวกับพี่น้องของเราในจะนะที่กำลังต่อสู้เพื่อความจริง และเราบีอาร์เอ็น ยังประณามรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง สำหรับการกระทำที่กดขี่และไร้มนุษยธรรมที่ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตของชาวปาตานี” แถลงการณ์ ระบุ

ในวันพฤหัสบดีนี้ กลุ่มผู้ประท้วงกว่า 50 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกดดันให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการลาออกจากตำแหน่ง เพราะมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้กล่าวหาว่ารัฐบาลเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มบมจ. ทีพีไอพีพี และ บมจ. ไออาร์พีซี ก่อนที่จะกลับมาปักหลักข้ามคืน ที่หน้าตึกสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

น.ส. มัยมูเนาะ บุตรดี แกนนำผู้ประท้วง ระบุถึงข้อเรียกร้องว่า 1. รัฐบาลต้องตรวจสอบการดำเนินการงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถึงความไม่ปกติของโครงการทั้งหมดในทุกมิติ 2. จัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม อันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป 3. ต้องหยุดดำเนินการทุกอย่างจนกว่าจะดำเนินการในข้อ 1 และข้อ 2 แล้วเสร็จ 4. ยุติการดำเนินคดี โดยจะเดินทางมาทวงสัญญาอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล

“จะเดินทางมาทวงสัญญาอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ พร้อมกับเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ที่จะมาสมทบในวันที่ 12 ธ.ค. นี้” น.ส. มัยมูเนาะ กล่าว

ขณะที่ เครือข่ายจะนะอาสา ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ อ.จะนะ โดยระบุว่า ประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนา ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีข้อเรียกร้องโดยสรุป ดังนี้ 1. ให้กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกลับมาพูดคุยกันในพื้นที่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน 2. ให้การพัฒนาที่เป็นอยู่ดำเนินการต่อ 3. ให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่บิดเบือน 4. ให้กลุ่มการเมือง และสื่อมวลชน ลงพื้นที่มารับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และ 5. ขอให้หยุดใช้เด็ก สตรีและคนชราเป็นเครื่องมือการทำงาน และให้เกิดความสามัคคีในพื้นที่

ก่อนหน้านี้ในช่วงดึกของวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมซึ่งปักหลักอยู่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล โดยจับกุมผู้ชุมนุม 37 ราย ทั้งยังกีดกันไม่ให้สื่อมวลชนสามารถถ่ายภาพ และรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ต่อมาในวันอังคารเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ และปล่อยตัวชั่วคราวผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามชุมนุม

ที่มาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเสริมโครงการ “สามเหลี่ยมมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีมาเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ในการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ร่วมกับ บมจ. ทีพีไอพีพี และ บมจ. ไออาร์พีซี บนพื้นที่ 16,753 ไร่ ซึ่งชาวบ้านได้กล่าวหาว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารระดับสูง ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์พิเศษกับมูลนิธิป่ารอยต่อของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. สัญจร ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง ผังเมืองในตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ สอง โครงข่ายท่าเรือน้ำลึก สงขลา สาม โครงข่ายการขนส่งทางบก สี่ โครงการพลังงานทางเลือก เช่น กังหันลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น โดยมีพื้นที่ 16,753 ไร่ มูลค่าการลงทุน 18,680 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ได้ต้องเผชิญกับการต่อต้านของชาวบ้านในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และอื่น ๆ มาตั้งแต่ต้น ซึ่งทางกลุ่มเขาเกรงว่านิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้หาดทรายหายไป

จนกระทั่งเมื่อมีการประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายปี 2563 ผู้แทนรัฐบาลได้ตกลงที่จะยุติการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการไว้ก่อน เช่น การไม่เปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียว (พื้นที่การเกษตร) เป็นสีม่วง (พื้นที่อุตสาหกรรม) และตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในอำเภอจะนะ โดยให้มีองค์ประกอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่ผ่านมา

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง