อุสตาซโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามรอดชีวิตจากเหตุวางระเบิด

คนร้ายวางระเบิดรถยนต์ของ นายสายูตี หะยีตาเห ในปัตตานี แต่ระเบิดไม่ทำงาน

เจ้าหน้าที่อีโอดีเก็บกู้วัตถุระเบิดจากรถยนต์ของ นายสายูตี หะยีตาเห ที่จอดที่บ้าน ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วันที่ 12 มีนาคม 2566
เจ้าหน้าที่อีโอดีเก็บกู้วัตถุระเบิดจากรถยนต์ของ นายสายูตี หะยีตาเห ที่จอดที่บ้าน ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วันที่ 12 มีนาคม 2566 (เบนาร์นิวส์)

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบระเบิดที่ใต้ท้องรถของนายสายูตี หะยีตาเห ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานภาคประชาชนของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ระเบิดไม่ทำงานแม้ว่าคนร้ายกดจุดเชื้อปะทุแล้ว ที่บ้านในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

พ.ต.อ. สืบสกุล มณีนวล ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรมายอ จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำลายระเบิดที่ติดตั้งไว้ใต้ท้องรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร ของนายสายูตี หะยีตาเห อายุ 69 ปี อุสตาซโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม หรือปอเนาะพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร และทำงานให้กับคณะพูดคุยฯ

“เบื้องต้นเชื่อว่า คนร้ายหวังที่จะทำร้ายนายสายูตี เพราะนายสายูตีเป็นบุคคลที่ประสานงานกับภาครัฐมาโดยตลอด น่าจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อสร้างสถานการณ์” พ.ต.อ. สืบสกุล กล่าว

“จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนพบระเบิดในช่วงเช้าของวันที่ 12 มีนาคม ลูกสาวของนายสายูตีได้ขับรถคันดังกล่าวออกไปธุระนอกบ้าน ก่อนจะกลับมาจอดรถที่โรงจอดรถในบ้านช่วงเย็น กระทั่งช่วงค่ำ หลานได้ไปตามหาแมวใต้ท้องรถ และพบวัตถุต้องสงสัย จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ” พ.ต.อ. สืบสกุล ระบุ

พ.ต.อ. สืบสกุล คาดว่า คนร้ายนำระเบิดมาผูกไว้กับรถยนต์คันดังกล่าวขณะที่จอดรถในบ้าน เมื่อขับรถออกจากบ้าน คนร้ายอาจพยายามกดชนวนแต่ระเบิดไม่ทำงาน จากการตรวจสอบระเบิดได้เชื่อมวงจรพร้อมที่จะทำงาน แต่เนื่องจากวงจรไฟฟ้าได้หลุดออก

เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดได้ใช้ปืนแรงดันน้ำยิงใส่วัตถุต้องสงสัยเพื่อแยกชนวนออก และปลดมาตรวจสอบ วัตถุดังกล่าวเป็นถังเคมีสีดำ ยี่ห้อ POWDER (มาเลเซีย) ลักษณะคล้ายถังดับเพลิง น้ำหนักประมาณ 2 ปอนด์ ภายในบรรจุดินระเบิดหลัก PETN ควบคุมด้วยวิทยุสื่อสาร และวงจรจุดระเบิด DTMF มีสะเก็ดระเบิดเป็นลูกเหล็กทรงกลม ขนาด 6 มม. เชื้อปะทุแสวงเครื่อง 2 ดอก หลักฐานทั้งหมดถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจสอบความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคล และเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม

ด้านนายสายูตี ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม เพราะทางครอบครัวมีความกังวลในความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มได้ลอบวางเพลิงรถยนต์กู้ภัย 2 คัน ซึ่งจอดอยู่ในสำนักงานมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ริมถนนสาย 42 ปัตตานี-นราธิวาส พื้นที่หมู่ 1 บ้านบือเจาะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณี ทำให้มีความเชื่อว่าคนร้ายต้องการปองร้ายนายสายูตี เพราะมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรซึ่งนายสายูตีร่วมก่อตั้ง ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับทหาร โดยเฉพาะ พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 โดยเชื่อว่าทหารได้ใช้มูลนิธิฮิลาลอะห์มัรเป็นกลไกในการนำผู้เห็นต่างเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) เพื่อความปลอดภัย กล่าวว่า มูลนิธิไม่ได้รับงบประมาณจากทหาร และสาขาของมูลนิธิ 8 สาขาก็ไม่ได้รับเงินจากมูลนิธิสาขาใหญ่มานานแล้ว เนื่องจากมูลนิธิไม่มีเงิน

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทราบดีว่า กลุ่มขบวนการต้องการสร้างสถานการณ์เกิดขึ้น ศูนย์ใหญ่ของฮิลาลอะห์มัรแจ้งให้สมาชิกยุติการช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว แต่สาขาทั้ง 8 แห่งยังพร้อมช่วย โดยได้จัดเวรยามเฝ้าระวังความปลอดภัยของแต่ละสาขาเอง”​ สมาชิกมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรคนเดียวกันกล่าว

ขณะที่สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่รายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การก่อเหตุทั้งสองเหตุการณ์เป็นเพียงแค่การเตือนนายสายูตี ไม่ให้เอนเอียงเข้ากับทางทหาร ไม่ได้หมายเอาชีวิต

พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ฝากเตือนให้ประชาชนที่นำรถไปจอดที่สาธารณะ ให้ตรวจสอบความปลอดภัยให้รอบคอบ

“ตอนนี้ใกล้ช่วงของเดือนรอมฏอน คนร้ายอาจจะก่อเหตุในลักษณะที่เราคาดไม่ถึง อาจจะใช้ยานพาหนะของประชาชนที่เข้าไปในพื้นที่ราชการ หรือชุมชนก่อเหตุ หากเจอวัตถุต้องสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ใกล้บ้าน แต่อย่ากังวลกับสถานการณ์มากเกินไป” พล.ท. ศานติ กล่าว

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19

ในต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 2565 ล่าสุดมีการพูดคุยสันติสุขฯ ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นจะพยายามดำเนินแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan toward Peace - JCPP) ให้สำเร็จ