การท่าอากาศยานเลื่อนเปิดสนามบินเบตง เพราะโควิด

มารียัม อัฮหมัด
2021.03.09
ปัตตานี
การท่าอากาศยานเลื่อนเปิดสนามบินเบตง เพราะโควิด ภาพถ่ายด้านหน้าอาคาร สนามบินเบตงที่สร้างเสร็จแล้ว อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เดือนมกราคม 2564
เบนานิวส์

ในวันอังคารนี้ (9 มีนาคม 2564) นางดวงพร สุวรรณมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยานได้เลื่อนการเปิดสนามบินเบตงออกไปไม่มีกำหนด เพราะยังไม่มีสายการบินใดเปิดเที่ยวบินมายังสนามบินแห่งใหม่ช่วงฤดูร้อนนี้ เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด

นางดวงพร ได้แถลงถึงความคืบหน้าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุด ลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งปัจจุบันตารางบินฤดูร้อนของกรมท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 30 ตุลาคม 2564 ยังไม่มีคำขอจากสายการบินในการเปิดเที่ยวบินใหม่เส้นทางเบตงเข้ามา จึงไม่สามารถแจ้งได้ว่า จะเปิดบินได้เมื่อใด แต่ถ้าหากมีคำขอเปิดบินเข้ามา กรมท่าอากาศยานก็จะเร่งพิจารณาดำเนินการโดยเร็วต่อไป

“จากเดิมที่ได้วางให้ท่าอากาศยานเบตง สามารถรองรับการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชายแดนใต้นั้น เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้แผนทุกอย่างที่วางไว้ได้รับผลกระทบ และภาคเอกชนต้องมีการทบทวนแผนธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องเน้นไปในส่วนของการเดินทางภายในประเทศก่อน” นางดวงพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางดวงพร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีสายการบินนกแอร์ที่มีความสนใจในการเปิดเส้นทางบินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานเบตง แต่ยังมีเงื่อนไขในการเปิดให้บริการ เช่น การเสนอขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดรับประกันที่นั่งขั้นต่ำ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักที่จะประสานกับสายการบิน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจน

ภารกิจของท่าอากาศยานเบตงในปัจจุบัน คือให้บริการเที่ยวบินทางทหารและเที่ยวบินส่วนบุคคลได้ สำหรับการเปิดบริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ มีสายการบินนกแอร์ที่มีความสนใจในการเปิดเส้นทางบินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานเบตง แต่ยังมีเงื่อนไขในการเปิดให้บริการ เช่น การเสนอขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดรับประกันที่นั่งขั้นต่ำ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักที่จะประสานกับสายการบิน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจน

โดยก่อนหน้านี้ ในการประชุมหารือการขอรับการสนับสนุนเพื่อประกอบการพิจารณาเปิดเส้นทางบิน ดอนเมือง-เบตง และเบตง-ดอนเมือง ที่ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ซึ่งมีนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ในขณะนั้น เป็นประธาน มีการคาดการณ์ว่าท่าอากาศยานเบตงจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายเดือน เม.ย. นี้ โดยมีสายการบินนกแอร์ เป็นสายการบินแรกที่จะให้บริการ

ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานได้รายงานข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT จะต้องลงพื้นที่เพื่อประเมินความพร้อมอีกครั้ง หลังจากท่าอากาศยานเบตงมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ครบทุกด้านแล้วตามที่ กพท. กำหนด

ขณะนี้ การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร งานทางวิ่ง (รันเวย์) ทางขับ (แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องบิน และระบบไฟฟ้าสนามบิน ระบบรักษาความปลอดภัย เครื่องเอ็กซเรย์ และกล้องวงจรปิด เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลายปีที่แล้ว มีอาคารรองรับผู้โดยสารได้ถึง 300,000 คนต่อปี

ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมาของสนามบินแห่งนี้ว่า หลังจากที่กรมการบินพลเรือน ได้มีหนังสือที่ คค 0505/1826 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2558 เสนอโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงินลงทุน 1,900 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการ และขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่าย สำหรับแผนดำเนินงานก่อสร้าง ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างงบประมาณ 2559-2561 แบ่งเป็นการก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอื่น ๆ 1,500 ล้านบาท จ้างควบคุมงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอื่น ๆ 50 ล้านบาท และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบ 350 ล้านบาท

พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สนามบินเบตง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ห่างจากตัวเมืองเบตง ประมาณ 10 ก.ม. และมีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,084 ก.ม. มีเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 921 ไร่ ความยาวทางวิ่ง 30 คูณ 1,800 เมตร สามารถรองรับอากาศยานในชั่วโมงเร่งด่วน ได้แก่ เครื่องบินพาณิชย์แบบ ART 72 ขนาด 50-70 ที่นั่ง หรือเครื่องบินพาณิชย์ ขนาด 86 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสาร พื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ขาเข้า 512 ตร.ม. พื้นที่ขาออก 521 ตร.ม. สามารถรองรับผู้โดยสาร 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.864 ล้านคนต่อปี ขาเข้า 150 คนต่อชม. ขาออก 150 คนต่อชม. ลานจอดรถยนต์ จอดได้ 140 คันในเวลาเดียวกัน

ในระหว่างการก่อสร้าง สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ จะทำการบินมาที่ท่าอากาศยานเบตงแล้ว โดยได้ศึกษาการเปิดเส้นทาง เบื้องต้น อาจจะเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. เส้นทาง หาดใหญ่-เบตง ซึ่งจะเปิดทำการบินในตารางบินฤดูหนาว หรือประมาณเดือน ต.ค. 64 จำนวน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ไป-กลับ) ทำการบินโดยเครื่องบินแบบ ATR ขนาด 86 ที่นั่ง ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถประหยัดเวลาการเดินทางได้มาก ซึ่งหากเดินทางโดยรถยนต์จะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง และ 2. เส้นทาง ภูเก็ต-เบตง โดยเส้นทางนี้จะขอพิจารณาการตอบรับจากผู้โดยสารในเส้นทางเบตง-หาดใหญ่

ด้าน นายนิฮาสนะ แวยูโส๊ะ อายุ 38 ปี นักธุรกิจ ในอำเภอเบตง ที่ติดตามข่าวสารจากทางสนามบิน กล่าวว่า ตนเองทราบมาว่า ที่ประชุมที่นายถาวรเป็นประธาน มีมติรับ 9 ข้อเสนอของสายการบินนกแอร์ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนในการปฏิบัติการบิน อาทิ การรับประกันจำนวนผู้โดยสารและที่นั่งในการทำกำหนดที่นั่งในช่วง 6 เดือนแรกไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งรวม หรือ 64 ที่นั่ง, การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ และสนับสนุนด้านการขาย, การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เขาเลยประกาศจะเปิดเมษายนนี้

“วันนี้ มาทราบว่า เลื่อนอย่างไม่มีกำหนด เพราะไม่มีสายการบินจะมาบิน มันตลกไหม เชื่อว่าสุดท้ายเรื่องนี้ ก็จะมีการตั้งเบิกงบประมาณที่มาจากภาษาของชาวบ้านมาถลุงเล่นกันอีก กี่โครงการแล้วในภาคใต้ ที่สร้างจากงบภาษีชาวบ้าน แต่ต้องเป็นอนุสาวรีย์ร้าง อย่างไม่มีค่า” นายนิฮาสนะ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง