นายกฯ ตั้งศูนย์โควิด-19 เพื่อดูแลสถานการณ์พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
2021.10.18
ปัตตานี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสี่ชายแดนภาคใต้ เพื่อประสานงานการแก้ไขการระบาดของโควิด ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของยอดรวมทั้งประเทศในแต่ละวันมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ ขณะที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้และนักวิชาการไม่เห็นด้วยกับการตั้งแต่งทหารเก่าเป็นผู้อำนวยการศูนย์
ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ พลเอก ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งให้ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน (อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งเกษียณอายุ) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ แต่ทางแกนนำภาคประชาสังคมและนักวิชาการเห็นว่า การจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ดังกล่าว ยังเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และไม่ได้รวมบางภาคส่วนในพื้นที่ที่ทำงานต่อสู้กับโควิดจริง เช่น เจ้าคณะจังหวัดภาค 18 ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในพื้นที่ดังกล่าว
ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และคณะกรรมการ 29 ราย ที่รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข แม่ทัพภาคที่สี่ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแเดนภาคใต้ ตัวแทนสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นต้น
นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ศูนย์ฯ ดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีแต่รายชื่อของบุคคลที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจทั้งสิ้น และไม่มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ในพื้นที่
“คณะทำงานซ้อนคณะทำงาน หมายถึง ตั้งคณะทำงานที่เป็นผู้มีอำนาจจากศูนย์กลางของประเทศ เพื่อมาดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ครับ คำสั่งนี้ควรเป็นคนในพื้นที่จริง ๆ” นายรักชาติ กล่าว
“สิ่งที่สงสัยเป็นอย่างยิ่ง คือ ส.ส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีชื่อในคำสั่งผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาในพื้นที่ควรมี จริงอยู่ในคำสั่งมีตัวแทนจุฬาราชมนตรี แต่ไม่ควรลืมนะครับว่า ในพื้นที่มีรองเจ้าคณะภาค 18 ซึ่งท่านก็มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือคนในพื้นที่ในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นกัน คนเหล่านี้ทราบปัญหาพื้นที่เป็นอย่างดี” นายรักชาติ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีควรไว้ใจหน่วยงานอื่นให้เป็นผู้ทำหน้าที่ มากกว่าการแต่งตั้งทหารมาดูแล
“การตั้ง “ศบค.ชายแดนใต้” ก็คือภาพสะท้อนเรื่องการเอาทหารไปนำหมอในการควบคุมคุมโรค ซึ่งเป็นเรื่องพิลึก ผิดฝาผิดตัว เรื่องโรคระบาดควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำ เพราะเป็นงานของแพทย์ พยาบาล ยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นทุนเดิม มีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะให้หมอดูแลเรื่องสาธารณสุขมากกว่า” ผศ. วันวิชิต กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในวันจันทร์นี้ นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวม 2,303 ราย คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศที่มียอด 10,111 ราย มียอดรวมสะสมที่ 136,370 คน ส่วนยอดสะสมทั้งประเทศอยู่ที่ 1,793,812 ราย
“ถ้าเราแยกชายแดนใต้ออกมาด้วย จะเห็นว่าพื้นที่ชายแดนใต้ การติดเชื้อมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ยังไม่ถึงจุดสูงสุด แต่ในบางพื้นที่รายจังหวัดก็เริ่มที่จะชะลอตัวในการเพิ่มลงบ้างแล้ว พื้นที่ทางภาคใต้ที่เราต้องติดตามกันต่อเนื่อง” นพ. เฉวตสรร กล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน
ส่วน นายแพทย์มัซลัน ตะเระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต ยะลา กล่าวว่า ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินอยู่เช่นนี้ ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม อาจจะมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงกว่า 2,000 รายต่อวัน ในแต่ละจังหวัด ซึ่งทีมแพทย์จะต้องรับภาระหนักหน่วงกว่าเดิมยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ. อุดมเกียรติ พูนสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงสาเหตุที่เกิดการระบาดมากขึ้นว่า เป็นเพราะชาวบ้านละเลยมาตรการป้องกันโรค มีกิจกรรมในชุมชน เช่น งานศพ งานเลี้ยง เป็นต้น และมีการติดเชื้อในกลุ่มครอบครัว เพราะมีสมาชิกหลายคนอาศัยอยู่ในบ้านที่คับแคบ
ประชากรในสี่จังหวัดมีรวมกัน 3,583,722 คน ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 1,656,020 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 46.02 เปอร์เซ็นต์ ได้รับเข็มที่สองแล้ว 1,047,262 คน หรือ 29.22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ผู้ป่วยล้นเตียง
ด้าน นายแพทย์ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า จากการที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เตียงสนามไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยโควิด และต้องให้ผู้ป่วยต้องกักตัวเองและดูแลรักษาตัวที่บ้าน ทางสมาคมสมาพันธ์ฯ และเครือข่ายเราดูแลกัน (we care network) ได้ร่วมกับสมาคมนักสื่อพิมพ์ภาคใต้และศูนย์พัฒนาอาชีพกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ต้องกักตัวที่บ้านให้สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้อย่างปลอดภัย และเพื่อแบ่งเบาภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง
นายแพทย์ฆนัท กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะได้มอบกล่อง COVID HOME CARE จำนวน 100 กล่อง เพื่อให้พันธมิตรนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องการรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน
“เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาล ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างทั่วถึง” นายแพทย์ฆนัท กล่าวทิ้งท้าย
สงขลา-ยะลา ล็อกจังหวัดสำหรับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดสงขลา และยะลา ได้ประกาศห้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเดินทางผ่านจังหวัด รวมทั้งต้องมีใบรับรองว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย
สำหรับจังหวัดปัตตานีนั้น นพ. อุดมเกียรติ พูนสวัสดิ์ ผอ. โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางจังหวัดมีแผนปิดพื้นที่ ถ้ามีแนวโน้มว่าจะเกิดการระบาดหนักขึ้นอีก ใน 116 หมู่บ้าน ใน 11 อำเภอ ในจังหวัดปัตตานี ในส่วนมาตรการอื่น ๆ หลังจากนี้นั้น จะต้องรอที่ประชุมสรุปในวันอังคารนี้
ส่วนจังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า ยังไม่มีประกาศใด ๆ ออกมา