น้ำท่วมใหญ่สามจังหวัดชายแดนใต้หนักสุดในรอบ 6 ปี

มารียัม อัฮหมัด
2021.01.11
ปัตตานี
น้ำท่วมใหญ่สามจังหวัดชายแดนใต้หนักสุดในรอบ 6 ปี มวลน้ำจากจังหวัดยะลา ไหลเข้าท่วมจังหวัดปัตตานี ทำให้ถนนในเมืองปัตตานีเต็มไปด้วยน้ำ วันที่ 11 มกราคม 2564
เบนาร์นิวส์

ในช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 31 อำเภอ 171 ตำบล 908 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,078 ครัวเรือน โดยเฉพาะ ปัตตานีได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ระบายน้ำฉุกเฉินเนื่องจากฝนตกหนัก และน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น ทำให้ถนนเกือบทุกสายย่านเศรษฐกิจ และกลางตัวเมืองปัตตานีถูกตัดขาด ชาวบ้านในพื้นที่โอดน้ำจากเขื่อนบางลางส่งผลให้น้ำท่วมเรื้อรัง ด้านนายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ และสำรวจความเสียหาย เพื่อเตรียมแผนเยียวยา

นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดปัตตานี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก โดยจังหวัดได้มอบหมายให้เทศบาลเมืองปัตตานีจัดทำอาหารปรุง เพื่อแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนแล้ว

“สำหรับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดปัตตานี มีอำเภอ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี หนองจิก แม่ลาน สายบุรี กะพ้อ ไม้แก่น ยะรัง และทุ่งยางแดง รวม 41 ตำบล 160 หมู่บ้าน 20 ชุมชน มี 14,281 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน ด้านปศุสัตว์ 148 แห่ง ด้านประมง 26 บ่อ พื้นที่การเกษตร 2,175 ไร่” นายราชิต ระบุ

นายมูซอ อีซอ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนานิวส์ว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนบางลาง ในจังหวัดยะลา

“เขื่อนบางลางปล่อยน้ำ ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขื่อน เขื่อนได้เปิดประตูระบายน้ำล้นที่ระดับ 1.2 เมตร จนถึง ระดับ 1.6 เมตร เพื่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ปีนี้นับเป็นปีที่น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 6 ปี เห็นชัดเลยว่าน้ำท่วมจากน้ำเขื่อน เพราะถึงฝนจะหยุดตกแล้ว แต่น้ำยังท่วมเข้าสู่ครัวเรือนหลายหลัง รวมถึงพื้นที่ทำกินต่าง ๆ และถนนหลายสายก็ถูกตัดขาด” นายมูซอ กล่าว

ด้าน นายอิสมาน ตอฮา อายุ 45 ปี ครูจากโรงเรียนตาดีกาแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนานิวส์ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มวิจารณ์ว่า เขื่อนมีไว้ทำอะไรกันแน่ ให้ประโยชน์หรือให้โทษมากไปกว่ากัน เพราะ คนท้ายเขื่อนเสียผลประโยชน์มาหลายครั้งในรอบ 2 ปี มีน้ำท่วมถึง 3 รอบ

“เราควรคุยกันอย่างจริงจังกันเสียที ในเรื่องของการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมถึงเขื่อนนั้นดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ของใคร แล้วใครได้ประโยชน์กันแน่ ไฟฟ้าก็ต้องจ่ายแพง การจัดการน้ำจากการเกษตรก็ไม่ได้มาตรฐาน แล้วยังมาต้องโดนน้ำท่วมทำลายทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนอีก ปัญหาเหล่านี้เพราะรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในการจัดการ” นายอิสมาน ระบุ

“การปล่อยน้ำจากเขื่อน เป็นแค่ภาพลักษณ์ที่แลกกับความเดือดร้อนของผู้คนอีกมากมายที่ต้องสูญเสียอย่างมหาศาล อย่าให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว อ้างถึงความมั่นคงของเขื่อนเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็ต้องการความมั่นคงเช่นกัน ยังไงก็แล้วแต่ หากว่าเขื่อนมีประโยชน์มากกว่านั้น เขื่อนก็ไม่ควรให้โทษแก่ประชาชนเพราะมันเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง” นายอิสมาน ระบุเพิ่มเติม

ในวันจันทร์นี้ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนบางลางได้เปิดสปิลเวย์ เพราะฝนตกหนักในช่วงวันที่ 4-6 มกราคม 2564 ทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนบางลางอย่างรวดเร็ว จนมีระดับสูงเกินกว่าระดับกักเก็บปกติ จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำฉุกเฉิน ในวันที่ 6 มกราคม เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อน และควบคุมปริมาณน้ำไหลเข้า และระบายออกให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มวลน้ำที่ระบายจากเขื่อน ไหลผ่านอำเภอบันนังสตา กรงปินัง เมืองยะลา เข้าเขตจังหวัดปัตตานี ผ่านอำเภอแม่ลาน และเมืองปัตตานี จึงไหลออกสู่อ่าวไทย ทำให้เทศบาลเมืองปัตตานีต้องร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ต้องเร่งผลักดันการระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะที่ หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ร่วมกันส่งกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัย เร่งระบายน้ำ ตลอดจนขนย้ายสิ่งของต่างๆ ไปไว้ในที่สูงด้วย

จากการปล่อยน้ำ ของ กฟผ. ในเขื่อนบางลางตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ส่งผลกระทบให้ชาวบ้าน 8 อำเภอ ใน จ.ยะลา ประสบภัยน้ำท่วม และตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 8 มกราคม 2564 น้ำไหลผ่านจังหวัดปัตตานีทำให้ในพื้นที่อำเภอหนองจิก ยะรัง และเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบ บ้านเรือนประชาชน ที่ทำกิน ร้านค้า ได้รับความเสียหาย และถนนหลายสายถูกตัดขาด เช่น บริเวณถนนสาย 418 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก มีน้ำท่วมบนถนนสูง 30-50 ซม. เป็นระยะทาง 400 เมตร รถเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เส้นทาง ขณะที่ที่บริเวณ ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง น้ำทะเลซัดเข้าพื้นที่ชุมชนตะโละกาโปร์ ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลัง โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว จนถึงปัจจุบัน มีรายงานว่า จังหวัดปัตตานี พบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น

สำหรับจังหวัดนราธิวาส มี 13 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ ศรีสาคร บาเจาะ ระแงะ สุไงปาดี รือเสาะ แว้ง สุคิริน เจาะไอร้อง จะแนะ สุไหงโก-ลก เมืองนราธิวาส ยี่งอ และตากใบ รวม 70 ตำบล 448 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,211 ครัวเรือน จังหวัดยะลา มี 5 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ เมืองยะลา รามัน เบตง บันนังสตา และกรงปีนัง รวม 21 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,229 ครัวเรือน จังหวัดสงขลา มี 3 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ สะบ้าย้อย นาทวี และเทพา รวม 19 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,549 ครัวเรือน

นางนาปีเสาะ อูมา อายุ 53 ปี ชาวจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปีนี้น้ำมาเร็วมากกว่าทุกปี และไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้ ทำให้ตนเองเก็บของสำคัญได้ไม่ทัน มีทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

“น้ำท่วม ไม่รู้จะทำยังไง รองเท้านักเรียน และเสื้อผ้านักเรียนรวมทั้งอุปกรณ์การเรียนของลูกถูกน้ำท่วม ไม่รู้เขาจะไปโรงเรียนได้ยังไงจะเอามาล้างได้ไหมก็ต้องรอน้ำลด ถ้ามีใครอยากบริจาคก็ยินดีเพราะเราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานรับจ้างกรีดยางได้วันละ 100 บาท มีลูก 4 คนสามีเสียชีวิตก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนซื้อรองเท้า ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนให้ลูกใหม่” นางนาปีเสาะ ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์

ขณะที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ศอ.บต. กำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเต็มที่แล้ว

“เราจัดแบ่งถุงยังชีพให้หน่วยต่าง ๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม ให้ช่วยกันสอดส่องในจุดที่คิดว่าตกหล่นจะได้เร่งช่วยเหลือ และได้ขอให้เลขาธิการ ศอ.บต. กำชับให้เจ้าหน้าที่บัณฑิตอาสาฯ ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าไปดูแล ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันที ในทุกๆ ด้านโดยไม่ต้องรอการสั่งการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยมายังประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือประชาชน ทั้งการขนย้าย อพยพ เร่งระบายน้ำ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

“นายกฯ ฝากให้กำลังใจประชาชนที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยในขณะนี้ ขอให้ผ่านสถานการณ์ไปได้โดยเร็ว ยืนยันรัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด พร้อมกันนี้ ยังขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง กองทัพ รวมทั้งอาสาสมัคร ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเข้มแข็ง โดยขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและตนเอง” น.ส.ไตรศุลี ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง