คนร้ายขว้างระเบิด-ยิงซ้ำทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย เจ็บ 1 นาย ในระแงะ

มาตาฮารี อิสมาแอ และมารียัม อัฮหมัด
2021.02.25
นราธิวาส และปัตตานี
คนร้ายขว้างระเบิด-ยิงซ้ำทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย เจ็บ 1 นาย ในระแงะ เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำร่างผู้ถูกยิงเสียชีวิตออกจากจุดปะทะ ในพื้นที่บ้านแฮ บ้านย่อยบ้านบองอ ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564
เบนาร์นิวส์

ในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ได้เกิดเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดกองกำลังเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ขณะตั้งแคมป์เพื่อติดตามกลุ่มขบวนการตามแนวเขาตะเว อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย

พ.อ.ชนาธิป ทองเชี่ยว ผบ.ฉก.กรม ทพ.ที่ 45 กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวานนี้ (24 ก.พ. 2564) ทางหน่วยได้ส่งชุดปฏิบัติจากการกองร้อยทหารพรานที่ 4503, 4505, 4506 และ 4513 จำนวน 4 ชุดปฏิบัติการ รวม 16 นาย ออกตามล่ากองกำลังติดอาวุธกลุ่มนายอับดุลเลาะห์ บูละ แกนนำระดับปฏิบัติการ ที่หลบหนีหมายจับ ป. วิอาญา ที่สืบทราบเบาะแสความเคลื่อนไหวเพื่อลอบก่อเหตุร้ายขึ้นในพื้นที่ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ตามคำสั่งของ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส แต่ถูกโจมตีเสียก่อน

“ชุดปฏิบัติการทั้ง 16 นาย ได้เดินเท้าขึ้นไปตั้งแคมป์กางเต็นท์ยังจุดเกิดเหตุ เพื่อเปิดแผนปฏิบัติการในช่วงเช้าตรู่ แต่กลุ่มคนร้ายทราบความเคลื่อนไหว จึงได้ลอบนำกำลังพร้อมอาวุธปืนและระเบิดขว้างครบมือ และได้ใช้ระเบิดขว้างพร้อมอาวุธปืน เอ็ม.16 และลูกซอง ยิงถล่มใส่เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่อาศัยอยู่ภายในเต็นท์แต่ละหลัง จนเกิดการยิงปะทะกันเป็นระลอก ๆ นานกว่า 15 นาที” พ.อ.ชนาธิปกล่าว

พ.อ.ชนาธิปกล่าวว่า เมื่อเสียงปืนสงบลงเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันเคลียร์พื้นที่ พบว่า อส.ทพ. บาฮารี มะรือสะ ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วน อส.ทพ. ศรราม ราชรักษ์ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วน อส.ทพ. ทิวากร บูญสอน มีอาการปลอดภัยแล้ว

“ส่วนคนร้ายคาดว่าน่าจะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบรอยเลือดหยดเป็นทางติดตามกิ่งไม้ซึ่งเป็นเส้นทางหลบหนีของคนร้าย ที่มุ่งหน้าขึ้นสู่เทือกเขา และก่อนที่คนร้ายจะหลบหนี ได้ขโมยอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารพรานไปจำนวน 3 กระบอก เป็นอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก และอาวุธปืนอาก้าอีก 2 กระบอก” พ.อ.ชนาธิป กล่าวเพิ่มเติม

พ.อ.ชนาธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการปฏิบัติติดตามไล่ล่าคนร้าย ยังไม่พบเบาะแสของคนร้าย โดยเจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครในพื้นที่ ให้แจ้งเบาะแส หากพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ด้าน พ.ต.อ.ปิยภัทร ทองพันเลิศกุล ผกก.สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่นำกำลังลงตรวจสอบที่เกิดเหตุ ให้รายละเอียดว่า จากการสอบสวน ทราบว่า คนร้ายใช้ระเบิดประดิษฐ์เองแบบไปป์บอมบ์ในการโจมตีครั้งนี้ด้วย

“เจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ กองร้อยทหารพรานที่ 4513 ถูกโจมตีในพื้นที่บ้านแฮ บ้านย่อยบ้านบองอ หมู่ที่ 4 ตำบลบองอ เมื่อเวลา 06.50 น. ขณะเดินเท้าปฎิบัติภารกิจที่เชิงเขาตะเว กลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ซุ่มโจมตีโดยการขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ แล้วใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย ส่วนคนร้ายสามารถหลบหนีไปได้” พ.ต.อ.ปิยภัทร กล่าว

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ให้เร่งคลี่คลายเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด

“ได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสเร่งตรวจสอบที่เกิดเหตุ และรวบรวมวัตถุพยานต่าง ๆ เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ทุกพื้นที่เพิ่มมาตรการในการคุ้มครองเส้นทาง และบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน” พล.ท. เกรียงไกร กล่าว

“คนร้ายมุ่งที่จะก่อเหตุสร้างสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจในพื้นที่ สำหรับกำลังพลที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว และญาติของผู้เสียชีวิต ได้กำชับให้ส่วนที่เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องสิทธิและสวัสดิการ ตลอดจนจัดการศพอย่างสมเกียรติที่สุด” พล.ท.เกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติม

ด้านเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่รายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล เพราะไม่ได้รับมอบหมายในการให้ข้อมูลแก่สื่อโดยตรง) ชี้ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีในการก่อเหตุ

“ปกติ คนร้ายมักใช้เวลากลางคืนเพื่อก่อเหตุ โดยขว้างระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ หรือโยนใส่บ้านเรือนราษฎรที่เป็นไทยพุทธ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดฉากการก่อเหตุด้วยการขว้างระเบิดลักษณะนี้ เหมือนกลุ่มก่อความไม่สงบมีความพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโต้หรือโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งหาจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่”

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก่อก่อความไม่สงบมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,000 ราย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีเชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม

ส่วนในปีนี้นั้น ข้อมูลสรุปเหตุการณ์ความไม่สงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ถึง 25 ก.พ. 2564 เกิดเหตุยิงหรือระเบิด ทั้งหมด 17 ครั้ง มีชาวบ้าน เสียชีวิต 5 ราย และเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย (ทหาร 2 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 1 ราย และอาสาสมัคร 1 นาย) และ ได้รับบาดเจ็บรวม 21 ราย

บีอาร์เอ็นยังพูดคุย

เมื่อตอนดึกของ วันจันทร์ที่ 15 ก.พ. 2564 นี้ ช่องยูทูบ Diaspora Patani ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยระบุได้ว่าเป็นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ได้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีการเจรจาโดยตรงระหว่างตัวแทนของบีอาร์เอ็น และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ โดยกำลังขอให้ผู้อำนวยความสะดวกเตรียมความพร้อมในการพูดคุยในระดับเทคนิกเป็นครั้งสอง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารผู้ไม่ประสงค์จะออกนามเพื่อความปลอดภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ผู้แถลง คือ Acan Wahid หรือ อาจารย์วาเหะ หรือ นายวาเหะ หะยีอาแซ เป็นหนึ่งในทีมบีอาร์เอ็นที่ร่วมพูดคุยกับฝ่ายไทย ซึ่งนำโดย อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือใช้อีกชื่อหนึ่งว่า นายฮีพนี มะเร๊ะ)

ผู้อ่านแถลงการณ์ที่ฝ่ายไทยระบุชื่อว่า นายวาเหะ หะยีอาแซ กล่าวว่า การเจรจาอย่างเป็นทางการของฝ่ายบีอาร์เอ็นและฝ่ายไทย เริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และมีการเจรจารอบสอง ในวันที่ 2 และ 3 เดือนมีนาคม ปีเดียวกัน แต่การเจรจาแบบตัวต่อตัวต้องยุติลงเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 โดยฝ่ายทีมผู้อำนวยความสะดวกพยายามจัดการพูดคุยกันเป็นครั้งที่สามก็ยังต้องรอให้เป็นรูปธรรมก่อน เพราะการระบาดยังไม่ลดลงและแนวชายแดนส่วนใหญ่ยังคงปิดอยู่

“แม้ว่าจะไม่สามารถจัดให้มีการเจรจาแบบพบปะกันโดยตรงได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการส่งข้อความและจดหมายถึงกัน โดยความช่วยเหลือของสำนักงานเลขานุการผู้อำนวยความสะดวก ในการปรึกษาหารือในเรื่องสารัตถะโดยทั่วไป และการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้แทนของบีอาร์เอ็น” นายวาเหะ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ศกนี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย และนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฯ ระบุว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขระดับเทคนิกได้พูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นได้พูดคุยทางออนไลน์ เพื่อกำหนดแนวทางในการพูดคุยระหว่างที่มีโรคโควิด-19 ระบาด และหัวข้อสำคัญเพื่อการพูดคุยในครั้งต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง